สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) มีภารกิจสำคัญในการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งพัฒนาการศึกษาและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศโดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับการพัฒนาประเทศในทุกมิติและนำพาประเทศไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะทุกช่วงวัย ดังนั้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว กระทรวง อว.จึงดำเนิน “โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง” หรือ “มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง” ในการทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ไปทำงานร่วมกับโรงเรียน ชุมชน และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อนำองค์ความรู้ไปช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในท้องถิ่น ให้เกิดความเข้มแข็งและมีการพัฒนาท้องถิ่นได้ตรงตามบริบทของชุมชน รวมทั้งช่วยพัฒนาโรงเรียนให้สามารถผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพ เข้าสู่ภาคอุดมศึกษาและเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจฐานความรู้


ปัจจุบันมีเครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค 9 เครือข่ายทำหน้าที่ “มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง” ประกอบด้วย 1.เครือข่ายพัฒนาอุดมศึกษาภาคเหนือตอนบน (ม.เชียงใหม่) 2.เครือข่ายฯ ภาคเหนือตอนล่าง (ม.นเรศวร) 3.เครือข่ายฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ม.ขอนแก่น) 4.เครือข่ายฯภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (ม.อุบลราชธานี) 5.เครือข่ายฯ ภาคกลางตอนบน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) 6.เครือข่ายฯ ภาคกลางตอนล่าง (ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) 7.เครือข่ายฯภาคตะวันออก (ม.บูรพา) 8.เครือข่ายฯ ภาคใต้ตอนบน (ม.วลัยลักษณ์) และ 9. เครือข่ายฯ ภาคใต้ตอนล่าง (ม.สงขลานครินทร์) สำหรับการดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง ประจำปี 2567 สป.อว.ได้ประชุมโครงการการแสดงผลการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง โดยมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี เป็นประธาน มี น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวง อว. น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.กระทรวง อว. นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผอ.กองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวง อว.และผู้บริหารเข้าร่วมเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2567


โดยพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การศึกษาขั้นพื้นฐานกับความมั่นคงของชาติ” ว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ติดตาม ให้กำลังใจและให้ความช่วยเหลือสถานศึกษา โดยมุ่งเน้น “การสร้างคนดีให้บ้านเมือง” ตนพบว่า นักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลประสบปัญหาทางด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เช่น อาคารเรียน อาคารฝึกปฏิบัติการต่าง ๆ รวมทั้งหอพักนอนสำหรับนักศึกษาที่พักอาศัยอยู่ห่างไกล นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาที่มีจำนวนจำกัด ในฐานะที่ทุกท่านในที่นี้เป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการศึกษา จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อทำให้การศึกษาของไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน และเกิดคุณภาพทัดเทียมกับนานาประเทศ อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงของชาติต่อไป


ขณะที่ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวว อว.กล่าวว่า โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงหรือโครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง คือการนำอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจาก 9 เครือข่ายทั่วประเทศไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับครูในโรงเรียนต่างๆ ในชุมชนต่างจังหวัด เพื่อช่วยจัดการเรียนการสอน และผลิตสื่อในการเรียนรู้ เพื่อให้ครูในโรงเรียนมีองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำไปสอนนักเรียนให้มีคุณภาพมากขึ้น ทำให้ครูมีนวัตกรรมที่จะนำไปสอนเด็กให้มีความทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคนี้


“สิ่งที่โครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงจะเน้นคือการเข้าไปช่วยพัฒนาโรงเรียนในชุมชนที่มีขนาดไม่ใหญ่ เป็นโรงเรียนที่ยังต้องการความช่วยเหลือและไม่ได้มีแค่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเข้าไป แต่ยังมีภาคเอกชนเข้าไปช่วยสอนช่วยพัฒนาด้วย ซึ่งต่างได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจนเกิดผลสัมฤทธิ์มากมาย สำหรับในปี 2567 มีแผนที่จะขยายจำนวนโรงเรียนเครือข่าย ขยายความร่วมมือกับภาคเอกชนให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของโรงเรียนทั่วประเทศให้ได้มากที่สุด เป็นการช่วยพัฒนาโรงเรียนให้ส่งต่อนักเรียนที่มีคุณภาพเข้าสู่ภาคอุดมศึกษา เด็กสามารถสอบเข้าในคณะที่ตนเองต้องการได้ ผลงานที่ผ่านมา ดิฉันพึงพอใจในระดับหนึ่ง แต่ต้องมีการพัฒนาขึ้นไปอีก โดยเฉพาะการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีนวัตกรรมมากกว่านี้ เจาะลงไปในโรงเรียนขนาดเล็กได้มากขึ้น และสามารถเพิ่มองค์ความรู้ให้กับนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่6 ที่กำลังจะเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะทำให้อัตราการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีมากขึ้นด้วย”​รมว.อว.กล่าว


นี่คืออีกก้าวของความก้าวหน้าของโครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง.