เมื่อวันที่ 25 มี.ค. เวลา 07.00 น. นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกองทัพบก สภากาชาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองกำลังนเรศวร ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 3 ปลัดจังหวัดตาก และนายอำเภอแม่สอด ร่วมลงพื้นที่ด่านศุลกากรแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย-ตองยิน แห่งที่ 2 เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา โดยมีผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management : AHA Centre) และผู้แทนจากชุมชนท้องถิ่น ร่วมสังเกตการณ์และเป็นสักขีพยาน

ทั้งนี้ นางลัดดาวัลย์ เพชรเศษ นายกกิ่งกาชาดอำเภอแม่สอด ในฐานะผู้แทนสภากาชาดไทย ได้ส่งมอบถุงยังชีพช่วยเหลือจำนวน 4,000 ถุง ให้แก่นายโอง ไว ประธานสภากาชาดเมียนมา สาขาจังหวัดเมียวดี ในฐานะผู้แทนสภากาชาดเมียนมา เพื่อนำไปมอบให้ชาวเมียนมาประมาณ 20,000 คน โดยสิ่งของภายในถุงดังกล่าว ประกอบด้วยข้าวสาร อาหารแห้ง และของอุปโภคบริโภคอื่นๆ จากนั้นได้มีการปล่อยขบวนรถ 10 คัน ออกจากด่านศุลกากรแม่สอด ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 เพื่อขนส่งสิ่งของช่วยเหลือเข้าไปยังบ้านนาบู บ้านตามันยา และบ้านไปร่โจง ซึ่งทั้งหมดอยู่ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงฝั่งเมียนมา

สำหรับโครงการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมครั้งนี้เป็นข้อริเริ่มระหว่างไทยกับเมียนมา เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ชาวเมียนมา ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบ และถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดให้การสนับสนุนในการดำเนินการ ขณะที่การส่งมอบความช่วยเหลือดังกล่าวจะเป็นโครงการนำร่อง โดยฝ่ายไทยหวังว่าจะช่วยนำพาความเปลี่ยนแปลงและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวชาวเมียนมา ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในประเทศ อีกทั้งกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการยกระดับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อไป

ด้านนายสีหศักดิ์ กล่าวภายหลังพิธีส่งมอบความช่วยเหลือฯ ว่า ขอขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งของไทยและเมียนมา ที่ทำให้ความช่วยเหลือครั้งนี้เกิดขึ้นได้ อาทิ กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และกองทัพบก ที่ได้ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจริงๆ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือความขัดแย้งในเมียนมา โดยยึดเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และถ้าการส่งความช่วยเหลือครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และตรงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ เราจะพิจารณาการส่งมอบความช่วยเหลือไปยังจุดอื่นๆ ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความต้องการ 

นายสีหศักดิ์ กล่าวอีกว่า ความช่วยเหลือในครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงความหวังดีของไทยต่อเมียนมา เพราะเราปรารถนาจะเห็นสันติภาพในเมียนมา แต่สำหรับปัญหาภายในของเมียนมาเป็นเรื่องที่กลุ่มต่างๆ ในเมียนมา จะต้องแก้ไขกันเอง ซึ่งไทยพร้อมที่จะสนับสนุนอยู่แล้ว จึงขอให้ทุกฝ่ายพยายามก้าวข้ามความขัดแย้ง หาทางลดความรุนแรง และหารือปรองดอง เพื่อประโยชน์สุขของชาวเมียนมาต่อไป

เมื่อถามว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่ไทยจะเป็นสื่อกลางในการบรรเทาความขัดแย้ง เพราะทุกประเทศในอาเซียนให้การสนับสนุนโครงการนี้อย่างดี นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เป็นส่วนหนึ่งของฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ดังนั้นไทยในฐานะเพื่อนบ้าน จึงมีความพร้อมอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของกลุ่มต่างๆ ในเมียนมาด้วย ซึ่งเราไม่สามารถบังคับให้เขาเจรจาได้ ทั้งนี้อยากให้ละทิ้งเรื่องการเมืองไว้ก่อนแล้วหันมาพูดคุยกันโดยนำความเดือดร้อนของประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งตนเชื่อว่าจะทำให้บรรยากาศต่างๆ ดีขึ้น ก้าวข้ามความขัดแย้ง และสร้างอนาคตใหม่ให้เมียนมาได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าการให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ได้ประสานงานกับกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาติพันธุ์ นอกเหนือจากรัฐบาลเมียนมาหรือไม่ นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า ได้ประสานงานกับทุกฝ่ายในพื้นที่แล้ว เพราะเจตนาของเราคือต้องการให้ความช่วยเหลือถึงมือประชาชนทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติ และโปร่งใสที่สุด จึงได้พูดคุยกันในรายละเอียดแล้ว ฉะนั้นเมื่อสิ่งของส่งมอบถึงมือ คงมีการถ่ายภาพส่งกลับมา เพื่อให้การแจกจ่ายสิ่งของมีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส ตนจึงมั่นใจว่าจะเป็นไปตามที่ได้พูดคุยกันไว้ว่า นี่เป็นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ใช่เรื่องของการเมืองและความขัดแย้งในเมียนมา