ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ อบต.ท่าคา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม สำนักงานเกษตร จ.สมุทรสงคราม จัดงานวันรณรงค์ “จับมือเดินเข้าสวนชวนกำจัดหนอนหัวดํามะพร้าวให้ยั่งยืน” มีนายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดงาน นายประสิทธิ์ สิงห์ชา เกษตร จ.สมุทรสงคราม กล่าวรายงานสรุปว่า เพื่อรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรและทุกภาคส่วนร่วมป้องกัน กำจัดศัตรูพืชมะพร้าวด้วย “ชีววิธี” หรือการควบคุมศัตรูพืชโดยใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ และรณรงค์ให้เกษตรกรเจ้าของสวนมะพร้าวและพืชตระกูลปาล์มอื่นๆ นำมาตรการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวไปใช้อย่างผสมผสาน เฝ้าระวังติดตามการระบาดของศัตรูมะพร้าวอย่างต่อเนื่องได้ด้วยตนเอง มีนายรนัสถ์ชัย พุ่มเจริญ รอง ผวจ.สมุทรสงคราม นางกชนัท พัฒนะวิชัย นายอำเภออัมพวา พระเมธีวัชรประชาทร (รศ.ดร.หลวงพ่อแดง นันทิโย) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 15 เจ้าอาวาสวัดอินทาราม และชาวสวนมะพร้าวร่วมงานกว่า 200 คน

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า จ.สมุทรสงคราม มีครัวเรือนเกษตรกว่า 10,000 ครัวเรือน เป็นพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 170,000 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกส้มโอ 12,160 ไร่ ลิ้นจี่ 5,117 ไร่ ข้าว 1,718 ไร่ และนาเกลือ 5,716 ไร่ ส่วนมะพร้าวมีพื้นที่รวมกว่า 67,000 ไร่ เป็นมะพร้าวผลแก่ 45,089 ไร่ มะพร้าวตาล 11,556 ไร่ และมะพร้าวอ่อน 11,610 ไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่การระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว 501 ไร่ กระจายในพื้นที่ 3 อำเภอ มากที่สุดคือ ต.ท่าคา ต.นางตะเคียน และ ต.ลาดใหญ่

โดยมีแนวโน้มการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและสถานการณ์ภัยแล้ง อีกทั้งเจ้าของสวนที่มีการระบาดบางรายไม่ได้อยู่ในพื้นที่ขาดการดูแลสวนทําให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ นอกจากนี้ต้นมะพร้าวสูงทำให้ยากต่อการป้องกันกำจัด อีกทั้งการกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวด้วยชีววิธีโดยใช้แตนเบียนบราคอนขาดความต่อเนื่องไม่ครอบคลุมพื้นที่ เนื่องจากขาดผู้มีความรู้เป็นกำลังการผลิต ดังนั้นเพื่อไม่ให้ปัญหาการระบาดของศัตรูมะพร้าวเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้น จึงต้องให้ความรู้เรื่องการป้องกันหนอนหัวดำศัตรูมะพร้าวด้วยวิธีผสมผสานให้เกษตรกร เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

นายรพีทัศน์ กล่าวว่า นโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตรคือการลดใช้สารเคมีกำจัดหนอนหัวดำหรือศัตรูพืชของมะพร้าวที่อาจมีสารตกค้างในพืชและผลผลิตที่จะส่งผลกระทบต่อพืชและผู้บริโภค มีหลักสำคัญคือสำนักงานเกษตรต้องให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องศัตรูพืชและการป้องกันด้วยชีววิธี เพื่อให้ชาวสวนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

จากนั้นได้มีการแบ่งกลุ่มชาวสวนมะพร้าวได้รับความรู้จากการบรรยายเรื่องศัตรูมะพร้าวและฐานเรียนรู้ 4 ฐาน คือฐานที่ 1 เรื่องศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำมะพร้าว) ฐานที่ 2 การป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวโดยชีววิธี ฐานที่ 3 การป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวโดยใช้สารเคมี และฐานที่ 4 การผลิตขยายแตนเบียนบราคอน