สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ว่า เสือโคร่งบาหลี และเสือโคร่งชวา ซึ่งเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของอินโดนีเซีย สูญพันธุ์เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1940 และ 1980 ตามลำดับ โดยปัจจุบันมีเพียงเสือโคร่งสุมาตรา ที่เหลืออยู่ในประเทศ

แต่การศึกษาที่เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสำนักงานวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติอินโดนีเซีย (บีอาร์ไอเอ็น) พร้อมด้วยกลุ่มนักอนุรักษ์ ค้นพบร่องรอยทางพันธุกรรมของเสือโคร่งชวา ในขนเส้นหนึ่งที่พบใกล้กับหมู่บ้านชวาตะวันตก เมื่อปี 2562

“กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้อินโดนีเซีย ขอแสดงความชื่นชมต่องานวิจัยดังกล่าว ซึ่งมีการดำเนินการหลายประการที่เรากำลังทำ และจะทำ เพื่อตอบสนองต่อผลลัพธ์นี้” นายสัตยาวัน พุดยาตโมโค หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้อินโดนีเซีย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางการจะใช้มาตรการต่าง ๆ รวมถึงเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์มาช่วยเหลือ ในการวิจัยและการทดสอบเพิ่มเติม ตลอดจนรวบรวมข้อมูลจากชุมชน

ด้านทีมนักวิจัยกล่าวว่า แม้ขนของเสือโคร่งชวา มีความคล้ายคลึงกับขนของเสือโคร่งสุมาตรา และเสือโคร่งเบงกอล แต่มันแตกต่างจากเสือโคร่งชนิดพันธุ์ย่อยอื่น ๆ

ทั้งนี้ งานศึกษาระบุว่า ชาวบ้านในพื้นที่รายงานการพบเห็นเสือโคร่งชวา เมื่อปี 2562 ที่สวนในป่าใกล้เมืองซูกาบูมิ ในจังหวัดชวาตะวันตก ซึ่งนอกจากขนสัตว์แล้ว ยังมีการพบรอยเท้า และรอยกรงเล็บด้วย

ขณะที่ นายมูฮัมหมัด อาลี อิมรอน หัวหน้าโครงการป่าไม้และสัตว์ป่า ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) ประจำอินโดนีเซีย กล่าวว่า เขาชื่นชมความพยายามของทีมนักวิจัย แต่ตัวอย่างเส้นขนมีจำกัดมาก ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการยืนยันด้วยตัวอย่างเพิ่มเติม และวิธีการตรวจสอบทางพันธุกรรมอื่น ๆ อีกทั้งเขายังแสดงความกังวล ต่อการเปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณะ เนื่องจากมันมีความเสี่ยงที่อาจทำให้กลุ่มนักล่าสัตว์รู้ข้อมูลได้.

เครดิตภาพ : AFP