เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ พร้อมด้วยนายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมแถลงข่าวเปิดศูนย์ปฏิบัติงานคณะกรรมการต่อต้านข่าวเท็จ หรือศูนย์ Fake News โดยนายฐิติเชฏฐ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ศูนย์ดังกล่าวเปิดขึ้นมาตั้งแต่ที่มีการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งสามารถตรวจจับข่าวปลอม ซึ่งมีมาก โดยในช่วงการเลือกตั้งมีประมาณ 100 ข่าว พอหลังเลือกตั้ง มีประมาณวันละ 10 ข่าว อย่างไรก็ตาม เรามีการตรวจสอบพร้อมดำเนินคดีกับผู้ที่ปล่อยข่าวปลอมเหล่านั้น ทำให้ในการเลือกตั้งปี 2566 ปัญหาข่าวปลอมข่าวเท็จมีปริมาณลดลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้กำลังจะมีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จึงคาดว่าจะมีผู้ที่ไม่ประสงค์ดีให้ข้อมูลอันเป็นเท็จอย่างแน่นอน จึงมีการเปิดศูนย์ Fake News ขึ้นมาเป็นครั้งที่ 2 เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อมูลข่าวเท็จจากผู้ไม่หวังดีโดยมีการใช้โปรแกรมจับข่าวเท็จ ซึ่งเป็นโปรแกรมพิเศษที่สามารถตรวจจับข่าวที่มีการนำเสนอผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นข่าวใต้ดิน หรือจากอวตาร ซึ่งเราก็อยากให้ความสนใจเพราะคนเหล่านี้ไม่เปิดเผยข้อมูลตัวตน แต่เราจะร่วมกับตำรวจไซเบอร์ ในการตรวจจับและขุดคุ้ยมาดำเนินคดี จัดการให้หมดสิ้น เบื้องต้น มีคณะกรรมการ 9 คนและเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ 5 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่เราฝึกให้มีการใช้โปรแกรมดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ขอยืนยันว่าข่าวที่ออกมาจะต้องมีการตรวจสอบและตอบโต้ทันทีไม่ให้ข้ามวัน หากเกิดขึ้นนอกเวลาราชการก็จะเรียกประชุมกรรมการและแก้ไขข่าวทันที

ด้าน นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการคัดเลือก สว.ในปีนี้ ไม่สามารถประเมินได้ว่าจะมีจำนวนผู้สมัครในระดับอำเภอ มากน้อยแค่ไหนจากจำนวนทั้งหมด 928 อำเภอ แต่สิ่งที่เราจะพบแน่ๆ จะมีคนสมัครอยู่ 2 ประเภท 1.สมัครเพื่อที่จะเข้ามาเป็น สว.จริงๆ กับ 2. สมัครเพื่อที่จะใช้สิทธิในการเลือก สว. ซึ่งประเภทที่ 2 เราจะต้องจับตามองอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม จะเห็นภาพชัด เมื่อเข้าสู่การคัดเลือกในระดับจังหวัด ซึ่งจะเหลืออยู่ประมาณ 50,000 คน ก่อนจะขึ้นมาในระดับประเทศ เหลือประมาณ 3,000 คน ซึ่งจะมีการเลือกให้เหลือ 200 คนและสำรองอีก 100 คน นี่คือสิ่งที่เราจะต้องบริหารจัดการให้ได้โดยเฉพาะในเรื่องของคุณสมบัติ และการใช้สิทธิ ซึ่งในวันที่ 2 เม.ย.นี้ จะมีการพิจารณาเรื่องบัตรเลือก สว. ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะการเลือกไขว้ตั้งแต่ระดับอำเภอจนถึงจังหวัด ยังไม่รู้ว่าในจำนวน 5 กลุ่มที่จะถูกแบ่งเป็น 1 สายนั้นจะประกอบไปด้วยกลุ่มใดบ้าง โดยกลุ่มแรกจะเลือกตัวเองและคนในกลุ่มไม่ได้ เพราะฉะนั้นเท่ากับว่าเราจะต้องทำบัตรเลือกตั้งสำหรับคน 4 กลุ่ม ซึ่ง บัตรเลือก สว. ทุกอำเภอจะต้องทำให้มีความสอดคล้องกัน

นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครจะต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะลักษณะต้องห้าม 26 ข้อ ยกตัวอย่างการถือหุ้นในกิจการสื่อ แม้เพียง 1 หุ้น ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานว่า ผิด ดังนั้น ถ้าจะให้ดี กรณีที่ยังมีข้อสงสัยอยู่ ผู้สมัครก็ไปทำตัวเองให้สิ้นสงสัย เพราะหากมีปัญหา จะต้องมีการส่งศาลฎีกา ส่วนศาลฎีกาจะมีการวินิจฉัยออกมาอย่างไร เราไม่อาจก้าวล่วง แต่กกต.ยินดีที่จะปฏิบัติตามคำสั่งศาล เมื่อถามว่าทางศูนย์จะมีการตรวจสอบหรือ Monitor เน้นในกลุ่มนักการเมืองหรือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มใดเป็นพิเศษหรือไม่

นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่ได้มีการจับตากลุ่มใดเป็นพิเศษแต่จะดูข้อมูลข่าวสารที่มีการนำเสนอในภาพรวม หากเป็นข้อมูลเท็จก็จะมีการตรวจสอบและออกมาแก้ไขอย่างทันท่วงที แต่หากข้อมูลการสื่อสารของกลุ่มต่างๆ ไม่ใช่ข้อมูลเท็จ เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต แต่อาจจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดเล็กน้อย เราก็จะไม่เข้าไปแตะต้อง ถ้าถามว่าตอนนี้มีการปล่อยข่าวเท็จออกมาแล้วหรือไม่ เรื่องนี้เรายังไม่สามารถประเมินได้ เมื่อถามถึงมาตราการรับมือกับการล็อกโหวต 

นายปกรณ์ กล่าวว่า เราได้วางกำลังอย่างเข้มข้น โดยส่งพนักงานทั่วประเทศเพื่อตรวจสอบไม่ให้เกิดการฮั้ว

ขณะที่ นายฐิติเชฏฐ์ กล่าวว่า ไม่อยากให้เกิดภาพการรับจ้างเลือกคนใดคนหนึ่ง หากมีการตรวจสอบพบ กระบวนการสมัครเข้ามาเพื่อเลือกคนฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายและกกต.จะดำเนินคดี ส่วนผู้ที่จะลงสมัคร สว.ก็ต้องเคลียร์ตัวเองให้ชัดเจนในเรื่องของคุณสมบัติ อย่างการถือหุ้นสื่อแม้เพียง 1 หุ้นก็ถือว่ามีความผิด ก็ไปจัดการโอนหรือขายออกให้หมด.