วันที่ 1 เม.ย. นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารโลก ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปีนี้ ลงมาอยู่ที่ 2.8% จากเดิมที่ระดับ 3.2% จากปัจจัยส่งออกที่อ่อนแอและการอนุมัติงบประมาณปี 67 ล่าช้า และยังปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 68 มาอยู่ที่ 3% จากระดับ 3.1% ที่เคยคาดการณ์เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว โดยการปรับลดจีดีพีจากการค้าโลกที่ชะลอตัวลง รวมถึงการจัดสรรงบประมาณที่ล่าช้าซึ่งกระทบต่อการใช้จ่ายของรัฐบาล

นอกจากนี้ แนวโน้มการส่งออกและการลงทุนของภาครัฐที่ลดลง มีผลต่อการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในครั้งนี้ ขณะที่การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ จะเพิ่มขึ้น 90% ของระดับก่อนเกิดโควิด-19 โดยรัฐบาลตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 40 ล้านคนในปีนี้ เมื่อเทียบกับปี 66 ที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือน 28 ล้านคน

นางมานูเอลา วี เฟอโร รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าภูมิภาคอื่นของโลก แต่ยังคงต่ำกว่าอัตราการเติบโตของช่วงก่อนโควิดระบาด แม้ว่าการค้าโลกที่ฟื้นตัวและสภาวะการเงินที่ผ่อนคลาย จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่การกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นและความไม่แน่นอนของนโยบายทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคชะลอตัวลง

ทั้งนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกําลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยกเว้นจีน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.6% ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 4.4% ในปี 66  อีกทั้งยังคาดการณ์ว่า จีนจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับปานกลางที่ 4.5% ซึ่งลดลงจาก 5.2% ในปี 66 เนื่องจากการที่มีหนี้สูง, ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแอ และความขัดแย้งทางการค้า ซึ่งล้วนแต่ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจจีน  ในกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเหลือ 3.6% ในปี 67 จากเดิม  5.6% ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติหลังการฟื้นตัวจากโรคระบาด ดังจะเห็นได้จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิจิที่ 3.5% ในปี 67 ซึ่งลดลงจากอัตราการเติบโตที่สูงถึง 8% ในปีที่แล้ว

“ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีส่วนส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกเป็นอันมาก แม้ว่าต้องเจอกับปัญหาและความไม่แน่นอนด้านสิ่งแวดล้อมของโลกที่เพิ่มขึ้น, ประชากรสูงอายุ และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้สามารถคงอัตราการเติบโตได้ด้วยการเร่งเปิดโอกาสให้มีการลงทุนในภาคเอกชน, การแก้ปัญหาในภาคการเงิน และการส่งเสริมผลิตภาพให้เพิ่มสูงขึ้น”

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวขึ้นอยู่กับความเสี่ยงขาลง เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มากกว่าที่คาดการณ์ไว้, การที่เขตเศรษฐกิจหลักยังคงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ในระดับสูง, ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้น