สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองมากูเรเล ประเทศโรมาเนีย เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ว่า เลเซอร์ในศูนย์วิจัยดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับกรุงบูคาเรสต์ อยู่ในความดูแลและการดำเนินการของบริษัท ทาเลส ของฝรั่งเศส โดยใช้สิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลโนเบล

ทั้งนี้ นายเฌราร์ มูรู จากฝรั่งเศส และนายดอนนา สตริกแลนด์ จากแคนาดา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2561 จากการใช้พลังของเลเซอร์ในเครื่องมือที่มีความแม่นยำขั้นสูง เพื่อดำเนินการผ่าตัดดวงตา รวมถึงการใช้งานในอุตสาหกรรม

มูรู กล่าวว่า เขารู้สึก “ประทับใจมาก” กับการผจญภัยอันเหลือเชื่อของเขา หลังจากใช้เวลา 30 ปีในสหรัฐ และทำให้โครงการนี้สำเร็จผลในยุโรป ซึ่งโครงการเลเซอร์ข้างต้น ถือกำเนิดในช่วงทศวรรษที่ 2000 จากโครงการโครงสร้างพื้นฐาน “อีแอลไอ” (ELI) ของสหภาพยุโรป (อียู)

อนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ผลักดันการสร้างเลเซอร์ที่ทรงพลังมากขึ้นมาโดยตลอด ทว่าพวกเขาเจอทางตันในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 เนื่องจากไม่สามารถเพิ่มกำลังเลเซอร์ โดยไม่ทำลายสิ่งที่ขยายลำแสงได้

นอกเหนือจากการนำไปใช้ในการผ่าตัดแก้ไขดวงตา เลเซอร์ยังเปิดทางให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ สามารถผลักดันขอบเขตของพลังงานเลเซอร์ต่อไปได้

“เราใช้คลื่นเลเซอร์ความเข้มข้นสูงเหล่านี้ ในการผลิตเครื่องเร่งอนุภาคที่มีขนาดกะทัดรัด และมีราคาถูกกว่า ตลอดจนนำไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ เช่น การจัดการกากนิวเคลียร์ โดยลดระยะเวลาของกัมมันตภาพรังสี หรือการกำจัดขยะอวกาศ” มูรู กล่าวเพิ่มเติม

ขณะที่นายฟรังค์ เลเบรช กรรมการผู้จัดการฝ่ายโซลูชันเลเซอร์ของทาเลส กล่าวว่า บริษัทใช้อุปกรณ์จำนวนมาก ที่ได้รับการติดตั้งอย่างระมัดระวัง เพื่อให้ได้มาซึ่งเลเซอร์ที่มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม.

เครดิตภาพ : AFP