เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 เม.ย. ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลสมุทรสาคร นายแพทย์กิตติ กรรภิรมย์ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 5 พร้อมด้วย นายแพทย์สุรวิทย์ ศักดานุภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร, นายแพทย์ ศุภฤทธิ์ เฮงคราวิทย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร, ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 ราชบุรี ผู้บริหารสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร คณะแพทย์ พยาบาล โรงพยาบาลสมุทรสาคร ได้ประชุมร่วมกัน เพื่อวางมาตรการและแนวทางการรักษาผู้ที่ได้รับสารแคดเมียม จากบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด

โดยเบื้องต้นจากการตรวจปัสสาวะของพนักงานภายในโรงงาน 11 คน จากจำนวนทั้งหมด 19 คน เมื่อวันที่ 4 เม.ย. พบสารแคดเมียมในร่างกายทั้ง 11 คน แต่เป็นผู้ที่มีสารในร่างกายสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานจำนวน 8 คน ส่วนที่เหลืออีก 8 คน อยู่ระหว่างการนำตัวเข้ามาตรวจหาสารแคดเมียมเช่นเดียวกัน พร้อมกันนี้ยังได้มีการวางแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมในการตรวจเชิงรุกให้แก่ประชาชนในชุมชนรอบโรงงานฯ และปฏิบัติการตรวจหาสารแคดเมียมในร่างกายของพนักงานบริษัท ซิน หงส์ เฉิง อินเตอร์ เทค (2008) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานแห่งที่ 2 ที่มีการตรวจพบกากแร่แคดเมียมในพื้นที่ ต.บางน้ำจืด เช่นเดียวกัน โดยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด

นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวว่า สำหรับผลการเก็บตัวอย่างหาสารแคดเมียมในปัสสาวะของพนักงานโรงงานแห่งแรก 11 คน พบมีสารแคดเมียมทุกคน แต่ที่สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานมีจำนวน 8 คน โดยทั้งหมดไม่มีอาการผิดปกติ จึงได้ประสานพนักงานโรงงานทั้งหมดทั้งที่ตรวจแล้วและยังไม่ได้ตรวจรวม 19 คน ให้มาเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดเพื่อยืนยันผล ก่อนนำเข้าสู่การวิเคราะห์และประเมินแนวทางหรือวิธีการรักษาในโรงพยาบาลสมุทรสาครโดยผู้เชี่ยวชาญต่อไป

“กระบวนการดูแลรักษาในเบื้องต้น จะต้องตรวจสุขภาพร่างกาย ตรวจเช็กอวัยวะต่างๆ ของร่างกายก่อน เช่น ปอด ไต ตับ กระเพาะอาหาร ระบบการหายใจ จากนั้นก็จะประเมินร่างกาย พร้อมนำข้อมูลปริมาณสารแคดเมียมที่ตรวจพบว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด มาวิเคราะห์แล้วจึงทำการรักษา ซึ่งหากมีสารแคดเมียมในร่างกายที่ไม่สูงเกินไป ระบบร่างกายจะสามารถขับถ่ายออกมาเองโดยธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ต้องมีการคัดแยกกลุ่มคนเหล่านี้ออกมาจากพื้นที่เดิม ส่วนผู้ที่พบสารแคดเมียมสูงจนอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ หรือ ร่างกายไม่สามารถขับออกมาได้ทันนั้น อาจจะต้องมีการให้ยาขับสาร ซึ่งทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น” นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าว

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวอีกว่า สำหรับสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ยังได้เตรียมความพร้อมของทีมสอบสวนโรค ลงพื้นที่ให้บริการตรวจหาสารแคดเมียมในร่างกายแก่ประชาชนที่อยู่ในชุมชนรอบโรงงาน (แห่งแรก) ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ ซึ่งนอกจากจะเพื่อเป็นการตรวจสุขภาพให้แก่พี่น้องประชาชนแล้ว ยังเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อประเมินความเสี่ยงของประชาชนภายนอกโรงงานที่มีโอกาสอาจจะได้รับสารแคดเมียมอีกด้วย ส่วนโรงงานแห่งที่ 2 ที่มีการตรวจพบการกักเก็บกากแร่แคดเมียม เช่นเดียวกันนั้น ก็จะลงพื้นที่ปฏิบัติการตามแนวทางเดียวกับโรงงานแห่งแรก ขณะที่ภาพรวมทางด้านความเสี่ยงของประชาชนโดยรอบขณะนี้ พบว่า ผู้ที่ได้รับสารแคดเมียมคือผู้ที่อยู่ภายในโรงงานและมีการสัมผัสกับกากแร่แคดเมียมโดยตรง ส่วนประชาชนภายนอกต้องรอผลการตรวจร่างกายที่ทางสาธารณสุขกำลังเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยก่อน จึงจะสรุปผลที่ชัดเจนได้.