เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายไชยยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือว่า คณะรัฐมนตรีได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และในฐานะที่ตนกำกับดูแลกรมฝนหลวงฯ จึงได้สั่งการขึ้นปฏิบัติการดัดแปลงสภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนทั้งหมด ส่วนช่วงสงกรานต์ ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ เชียงราย เชื่อว่าปัญหาฝุ่นจะลดลง 50% โดยการขึ้นบินเอาความเย็นไปลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศข้างบน ซึ่งจะช่วยลดความหนาแน่นของฝุ่นลดลง 50% แต่ปัญหาคือ ถ้าจะให้มีประสิทธิภาพสูงสุดจะต้องใช้น้ำแข็งแห้ง แต่เนื่องจากน้ำแข็งแห้งผลิตที่จังหวัดระยองที่เดียว การขนส่งอาจจะมีปัญหา ทำให้ลดประสิทธิภาพลง จึงมีการเปลี่ยนไปใช้น้ำเย็น ซึ่งตนจะขึ้นปฏิบัติการด้วยในวันที่ 11 เม.ย. นี้ พร้อมสั่งการให้กรมฝนหลวงฯ ขึ้นปฏิบัติงานทุกวัน เชื่อว่าจะลดปัญหาฝุ่นได้ และทำให้ประชาชนได้เที่ยวสงกรานต์อย่างมีความสุข

“การที่เราต้องขึ้นบิน มีขั้นตอนมีวิธีการในการกำหนดทิศทางลม คำนวณความชื้นในอากาศ ซึ่งเป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง หากไม่มีประสบการณ์จะอธิบายต่อสังคมไม่ได้ ดังนั้นไม่อยากให้ด้อยค่า อีกทั้งการทำฝนหลวง ก็เป็นทฤษฎีศาสตร์พระราชา แต่เราอยากจะยืนยันว่า ปฏิบัติการฝนหลวงสามารถแก้ปัญหาได้จริง” นายไชยา กล่าวและว่า ถามว่าปัญหาฝุ่นจะลดลงหมดหรือไม่ ก็คงไม่ เพราะส่วนหนึ่งก็มาจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน แต่เชื่อว่าจะลดปริมาณฝุ่นได้อย่างน้อย 50% ขอให้คนไทยเที่ยวอย่างมีความสุข หากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมีตั้งแต่ 60% ขึ้นไป เรากล้าพูดได้ว่า ไม่เกิน 1-2 วัน ฝนต้องตกแน่นอน

นายไชยา กล่าวต่อว่า ปฏิบัติการฝนหลวงเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น หน่วยงานเราเป็นเพียงหน่วยงานเสริม แต่การแก้ไขปัญหาระยะยาว จะต้องบูรณาการร่วมกัน และให้ความรู้ประชาชนว่า การไม่เผาจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ สิ่งหนึ่งในฐานะที่ตนกำกับดูแลกรมปศุสัตว์ด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีการปลูกข้าวโพด ก็มีการส่งเสริมให้หันมาใช้ข้าวโพดหมัก ซึ่งจะช่วยในการลดต้นทุนอาหารสัตว์ โดยขณะนี้ ศูนย์วิจัยของกรมปศุสัตว์ได้มีการศึกษาวิจัยแล้วว่า การเอาข้าวโพดทั้งต้น ใบ ฝัก มาสับละเอียด จะให้คุณค่าอาหารสูงเทียบเท่าโปรตีนชั้นดีที่นำมาจากต่างประเทศ ดังนั้นกรมกรมปศุสัตว์ จึงเร่งรัดหน่วยงานทั้ง 34 แห่งทั่วประเทศ ทำเป็นต้นแบบให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต นำผลวิจัยไปต่อยอดเพื่อลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์.