เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 67 นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายวัฒนา มังธิสาร รอง เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (รองเลขาฯ ส.ป.ก.) ร่วมกันแถลงผลการดำเนินงานตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ภายหลังได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จัดทำขึ้น ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

โดยทั้ง 2 กระทรวงตกลงกันเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณา เรื่องแนวเขตที่ดินที่คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ และมีข้อตกลงการปฏิบัติงานร่วมกัน คือ 1.ประเด็นแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทั้งสองกระทรวงตกลงกันให้นำเข้าสู่การพิจารณาเรื่องแนวเขตที่ดินที่คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ที่ผ่านความเห็นจากคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติแล้ว หรือคณะอนุกรรมการที่มีการแต่งตั้งเพื่อแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินในเรื่องแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มอบหมายเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตัดสินใจเข้าร่วมในคณะอนุกรรมการดังกล่าว และเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติพิจารณาเพื่อหาข้อยุติต่อไป

  1. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดส่งข้อมูลแผนที่ในรูป Shape File แสดงพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการทับซ้อน พื้นที่ที่ควรแก้ปัญหาการอยู่อาศัยและทำกิน หรือควรสงวนไว้ตามหลักวิชาการทางทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า (Corridors) พื้นที่เตรียมการประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายและพื้นที่แนวป่ากันชน รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การจัดที่ดินให้ราษฎร ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหา การอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) เฉพาะพื้นที่ส่วนที่คาดว่าเป็นปัญหาทับซ้อนกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้แก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหา การอยู่อาศัยและทำกิน หรืออนุรักษ์ไว้โดยไม่จัดสรรให้ประชาชน ภายใน 30 วัน
  2. ให้ความร่วมมือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในการแต่งตั้งคณะทำงาน พิจารณาแนวเขตการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร กรณีเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยจัดให้แก่บุคคลใดตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในแต่ละจังหวัด โดยมีผู้แทนของหน่วยงานที่กำกับดูแลที่ดินที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกัน รวมทั้งผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้แทนกรมป่าไม้
  3. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้แต่ละหน่วยงานแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งสนับสนุนการจัดที่ดินให้ประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มีการดำเนินการแล้ว ดังนี้
ข้อ 1.ประเด็นแนวเขตป่าเขาใหญ่ ได้มีการตกลงกันให้นำเข้าสู่การพิจารณาเรื่องแนวเขตที่ดิน ที่คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) โดยใช้หลักเกณฑ์ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ได้เสนอให้ ครม.เห็นชอบแล้วเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาให้ได้ข้อยุติต่อไป

ข้อ 2.ดำเนินการส่ง Shape File ซึ่งแยกตามข้อมูล โดยสรุปข้อมูลพื้นที่ที่คาดว่าจะทับซ้อน ดังนี้
2.1 พื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ประกาศตามราชกิจจานุเบกษาแล้ว 291 แห่ง จำนวนพื้นที่ทับซ้อน 190 แห่ง เนื้อที่พื้นที่ทับซ้อนประมาณ 520,000 ไร่ ในส่วนที่ต้องมีการตรวจสอบ หากเป็นพื้นที่ที่ออกโดยมิชอบตามหลักเกณฑ์ของ ส.ป.ก.ต้องมีการเพิกถอน แต่หากเป็นพื้นที่โดยชอบ ก็ให้ปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน โดยไม่กระทบต่อราษฎรแต่อย่างใด
2.2 สำหรับพื้นที่เตรียมการป่าอนุรักษ์ 59 แห่ง ไม่มีพื้นที่ซับซ้อน กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะมีการสำรวจเพื่อมิให้ทับซ้อนกับที่ดินของราษฎรแต่อย่างใด
2.3 พื้นที่แนวเชื่อมต่อป่าอนุรักษ์ (Corridor) 168 แห่ง จำนวนพื้นที่ทับซ้อน 91 แห่ง เนื้อที่พื้นที่ทับซ้อน 90,000 ไร่ และแนวกันชนป่าอนุรักษ์ (Buffer Zone) ระยะ 3 กิโลเมตร จากพื้นที่อนุรักษ์ จำนวนพื้นที่ทับซ้อน 355 แห่ง เนื้อที่พื้นที่ทับซ้อน 9.6 ล้านไร่ จะได้ร่วมกับ ส.ป.ก.เพื่อให้มีการส่งเสริมราษฎรให้ทำกินสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมต่อไป

ข้อ 3.กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีการส่งรายชื่อเพื่อแต่งตั้งคณะทำงาน พิจารณาแนวเขตการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร กรณีเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยจัดให้แก่บุคคลใดตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในแต่ละจังหวัด เรียบร้อยแล้ว

ข้อ 4. ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งสนับสนุนการจัดที่ดินให้ประชาชนอย่างยั่งยืน เรียบร้อยแล้ว และให้มีการมาร่วมกันแถลงข่าวในวันนี้

โดยทั้งหมดนี้เพื่อให้การบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์และการจัดการที่ดินให้ประชาชนเป็นไปด้วยความยั่งยืนและไม่เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต