กรณีที่กรรมาธิการ(กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาแถลงข้อเท็จจริงตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า มีบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก ได้ขายกากแร่สังกะสีและกากแร่แคดเมียมที่ฝังกลบในจังหวัดตากให้กับบริษัทหนึ่งตั้งอยู่ใน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร กว่าหมื่นตัน ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เนื่องจากกากแร่ดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งการขนย้ายจากบ่อฝั่งกลบที่จังหวัดตากออกมาที่จังหวัดสมุทรสาคร จึงต้องการให้ ผวจ.สมุทรสาคร ประกาศเขตภัยพิบัติฯ ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ไขสงสัย? ‘แคดเมียม’คืออะไร หลังพบหมื่นตันที่สมุทรสาครจนต้องประกาศเขตภัยพิบัติ

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 6 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเจ้าหน้าที่หน่วยสาธารณสุข ภายใต้คำสั่งการของ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค มอบหมายให้ นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค,นพ.วิเชียร ตันสุวรรณนนท์ ผอ.ศูนย์อนามัยที่ 5ราชบุรี, นายแพทย์พราน ไพรสุวรรณ์ ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5,นพ.สุรวิทย์ ศักดานุภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร, แพทย์หญิงวิทิตา แจ้งเอี่ยม รอง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร,นพ.พิสิษฐ์ เลิศเชาวพัฒน์ นายแพทย์ชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรม โรงพยาบาลสมุทรสาคร,นายมานะ เปาทุย สาธารณสุขอำเภอเมืองสมุทรสาคร,นางณิชกานต์ งามพรนพคุณ ผอ.รพ.สต.บ้านไร่,นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแล รพ.สต. และ นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส.เขต 1 สมุทรสาคร ลงพื้นที่ประชุมชี้แจงร่วมกับ ตัวแทนชาวบ้าน ผู้นำชุมชน อสม. เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ที่อยู่โดยรอบบริษัทฯ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบางน้ำจืด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร

นพ.สุรวิทย์ เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายในการให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของแคดเมียม การเข้าสู่ร่างกาย ลักษณะอาการ และการรักษาหากได้รับพิษ ซึ่งในลักษณะแคดเมียมที่พบในซอยกองพนันพล พบว่า เป็นแคดเมียมที่ถูกทำลายพิษแล้ว แต่เพื่อความมั่นใจของประชาชน ทางหน่วยงานสาธารณสุขจะตรวจสอบอย่างละเอียด ทั้งด้านการปนเปื้อนในสภาพแวดล้อม และในร่างกายประชาชน และจากที่มีการตรวจสุขภาพพนักงานไปส่วนหนึ่ง ไม่พบแคดเมียมในร่างกาย และพื้นที่ด้านนอกก็ไม่มีแคดเมียม มีเพียงการตกค้างภายในเท่านั้น ส่วนประชาชนทั่วไป ที่อยู่ด้านนอก ยังมีความเสี่ยงต่ำ เพราะคนที่เสี่ยงสูงคือ ผู้ที่สัมผัสโดยตรง นั่นคือ พนักงานด้านใน ซึ่งถ้าพนักงานยังไม่พบสารอันตรายในร่างกาย ประชาชนด้านนอกก็ถือว่ายังอยู่ในระดับความปลอดภัยที่ค่อนข้างสูง แต่ทั้งนี้เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย จึงจะได้จัดให้มีการตรวจสุขภาพของประชาชนในชุมชนพร้อมกับพนักงานด้านในที่เหลือ ในวันที่ 9 เมษายนนี้ เพื่อพิสูจน์ว่าได้รับผลกระทบหรือไม่ รวมทั้งจะมีการเก็บฝุ่นในบ้านเรือนประชาชน เพื่อตรวจสอบว่ามีสารพิษเจือปนในสภาพแวดล้อมหรือไม่

สำหรับกรณีที่หากตรวจพบสารพิษในร่างกาย ก็จะส่งเข้ารักษา โดยสารพิษนั้นหากพบไม่มากสามารถขับออกจากร่างกายได้ทางปัสสาวะ โดยการตรวจจะตรวจ 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน ด้านการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ ขณะนี้โรงพยาบาลสมุทรสาครได้เปิดบริการพิเศษเฉพาะโรคที่เกิดจากแร่แคดเมียมโดยเฉพาะแล้ว ซึ่งได้เตรียมอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ ยา และคณะแพทย์เฉพาะทางไว้ หากประชาชนรายใดที่สงสัยว่าตนเองจะได้รับอันตรายจากแคดเมียม สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนของนพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รอง อธิบดีกรมควบคุมโรค ก็ได้ให้ความรู้ด้วยว่า สารแคดเมียม มีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการแบบเฉียบพลัน ได้แก่ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ระคายเคืองหลอดลม จมูก และคอ นอกจากนี้ หลังจากการรับสัมผัสเป็นระยะเวลานานจะก่อให้เกิดพังผืดที่ปอด พิษต่อไต โรคกระดูก หรือที่รู้จักกันในโรคอิไต อิไต และก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้

ขณะที่เบื้องต้น “กากแคดเมียม” ได้มีการจัดเก็บในสถานที่มิดชิด ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้ตรวจสอบแล้วพบว่า กากแคดเมียมและกากสังกะสี มีการผสมด้วยปอร์ตแลนด์ซีเมนต์ 30% เพื่อทำลายฤทธิ์และอยู่ในสถานะแข็งตัว หากเก็บไว้ในสถานที่มิดชิดและหากไม่มีการชำระล้างจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ควรปฏิบัติตัวดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเข้าไปในเขตพื้นที่โรงงาน 2.หากมีการสูดดมเข้าไป ให้รีบไปอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศบริสุทธิ์ 3.หากเข้าตา รีบล้างด้วยน้ำสะอาดและพบจักษุแพทย์ 4.หากเผลอกลืนกิน รีบดื่มน้ำตามทันที อย่างน้อย 2 แก้ว และ 5. หากมีอาการผิดปกติ รีบปรึกษาแพทย์ทันที.