สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 12 เม.ย. ว่า กลุ่มการเมืองหลักของอีพี เอาชนะการต่อต้านจากพรรคฝ่ายซ้ายจัดและฝ่ายขวาจัด และผ่านข้อตกลงการย้ายถิ่นฐานและการลี้ภัยฉบับใหม่ จากความพยายามยกเครื่องนโยบายที่ดำเนินมานานเกือบ 10 ปี ซึ่งนางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ยกย่องการลงมติครั้งนี้ โดยกล่าวว่า มันจะรักษาพรมแดนของยุโรป และรับประกันการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้อพยพ

“เราต้องเป็นผู้ที่ตัดสินใจว่า ใครจะเข้ามาในอียู และอยู่ภายใต้สถานการณ์ใด ซึ่งพวกเขาต้องไม่ใช่ผู้ลักลอบขนคนเข้าเมือง และผู้ค้ามนุษย์” ฟอน แดร์ เลเยน กล่าวเพิ่มเติม

FRANCE 24 English

แม้ประเทศสมาชิกของอียูส่วนใหญ่ แสดงความยินดีกับการรับรองการปฏิรูป แต่องค์กรการกุศลเพื่อผู้อพยพหลายแห่ง ประณามข้อตกลงดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่แตกต่างอย่างมาก ซึ่งรวมถึงการสร้างศูนย์ชายแดนรองรับผู้ขอลี้ภัย และการส่งผู้อพยพบางส่วนไปยัง “ประเทศปลอดภัย” นอกอียู

อีกด้านหนึ่ง องค์การนิรโทษกรรมสากล “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” ระบุว่า อียูสนับสนุนข้อตกลง “อย่างน่าละอาย” เพราะพวกเขารู้ว่า มันจะทำให้มนุษย์ทุกข์ทรมานยิ่งขึ้น

ขณะที่สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (ไอเอฟอาร์ซี) เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกของอียู รับประกันสภาพแวดล้อมที่มีมนุษยธรรม สำหรับผู้ขอลี้ภัยและผู้อพยพที่ได้รับผลกระทบ

อนึ่ง มาตรการต่าง ๆ ในข้อตกลง จะมีผลบังคับใช้ในปี 2569 หลังจากอีซี กำหนดแนวทางปฏิบัติเป็นอันดับแรก โดยศูนย์ชายแดนแห่งใหม่ จะรองรับผู้อพยพยแบบไม่ปกติ หลังคำขอลี้ภัยของพวกเขาได้รับการตรวจสอบแล้ว และจะไม่มีการเร่งกระบวนการเนรเทศผู้ที่ไม่มีสิทธิข้ามพรมแดนแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ข้อตกลงยังกำหนดให้ประเทศสมาชิกอียู รับผู้ขอลี้ภัยหลายพันคนจาก “ประเทศแนวหน้า” เช่น อิตาลี และกรีซ ซึ่งหากปฏิเสธ พวกเขาต้องจัดหาเงิน หรือทรัพยากรอื่น ๆ ให้กับประเทศที่อยู่ภายใต้แรงกดดันแทน.

เครดิตภาพ : AFP