นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานพิธีบวงสรวงคันไถ ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2567 ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้จัดเก็บ ดูแล รักษา ซ่อมแซม ปรับปรุง และจัดเตรียมคันไถ สำหรับเข้าร่วมวันซ้อมย่อย วันซ้อมใหญ่ และวันงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประจำปี 2567 ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ปฏิบัติหน้าที่นี้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยในช่วงเดือนเมษายน ก่อนพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของทุกปี กรมส่งเสริมการเกษตรจะดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุงคันไถให้มีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน และปี 2567 นี้ ได้กำหนดจัดพิธีบวงสรวงคันไถ เพื่อความเป็นสิริมงคลและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ในอดีต คันไถเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมดินก่อนปลูกข้าว ใช้แรงงานสัตว์ เช่น โค กระบือ ในการขับเคลื่อน ซึ่งถูกนำมาใช้ประกอบพิธีไถหว่านในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญทุกปี โดยพระราชพิธีฯ มีมาแต่โบราณตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีจนกระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพิธีสงฆ์ เรียกว่า “พระราชพิธีพืชมงคล” ร่วมด้วย จึงทำให้พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีพระราชพิธีพืชมงคลรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งพระราชพิธีฯ นี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ราษฎรในการทำนา เป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญแก่เกษตรกร กำหนดจัดขึ้นในเดือนหก ทางจันทรคติ หรือเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระยะเวลาเหมาะสมในการเริ่มต้นการทำนาของทุกปี โดยในปี 2567 สำนักพระราชวังกำหนดให้มีพระราชพิธีพืชมงคลในวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2567 ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

สำหรับคันไถ ที่ใช้ประกอบพระราชพิธีฯ ในปัจจุบัน ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2539 โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งมีชุดองค์ประกอบ ดังนี้ 1. คันไถ ขนาดความสูงวัดจากพื้นถึงเศียรนาค 2.26 เมตร และยาวจากเศียรนาคถึงปลายไถ 6.59 เมตร ทาสีแดงชาดตลอดคันไถ หัวคันไถทำเป็นเศียรพญานาคลงรักปิดทอง ลวดลายประดับคันไถ เป็นลายกระจังตาอ้อย ลงรักปิดทองตลอดคัน ปลายไถหุ้มผ้าขาวขลิบทองสำหรับมือจับ

2. แอกเทียมพระโค ยาว 1.55 เมตร ตรงกลางแอกประดับด้วยรูปครุฑยุดนาคหล่อด้วยทองเหลืองลงรักปิดทองอยู่บนฐานบัว ปลายแอกทั้งสองด้านแกะสลักเป็นรูปเศียรพญานาคลงรักปิดทอง ลวดลายประดับเป็นลาย กระจังตาอ้อยลงรักปิดทองตลอดคัน ปลายแอกแต่ละด้านมีลูกแอกทั้งสองด้านสำหรับเทียมพระโคพร้อมเชือกกระทาม 3. ฐานรอง เป็นที่สำหรับรองรับคันไถพร้อมแอก ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ทาด้วยสีแดงชาด มีลวดลายประดับเป็นลายกระจังตาอ้อย ลงรักปิดทองทั้งด้านหัวไถและปลายไถ

4. ธงสามชาย เป็นธงประดับคันไถติดตั้งอยู่บนเศียรนาค ทำด้วยกระดาษและผ้าสักหลาด เขียนลวดลายลงรักปิดทองประดับด้วยกระจกแวว มีพู่สีขาวประดับเป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่ง เพื่อประดับพระเกียรติ ธงสามชายมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ฐานยาว 41 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร และเสาธงยาว 72 เซนติเมตร