เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ Sasin school of Management คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานหลักสูตร Mission We ร่วมเสวนา The Next Chapter “เจาะลึกบทใหม่  ในโลกใบเดิม” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ และคณะกรรมการนโยบายการเงิน ร่วมพูดคุยค้นหา “ทางออก” ของภาคธุรกิจในการรับมือดิสรัปชันที่เกิดขึ้น และกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้รับความสนใจจากคณะนักธุรกิจทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ร่วมรับฟังจำนวนมาก

คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่างๆ เช่น ภูมิรัฐศาสตร์ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก โดยเฉพาะภาวะโลกเดือดนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องรับมือความเปลี่ยนแปลง เช่น ปัญหาสังคมผู้สูงวัยที่กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ กำลังแรงงานที่จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศ เพราะปัจจุบัน ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีประชากรผู้สูงวัยอายุเกิน 60 ปี มากกว่า 13 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรไทย เป็นอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ และมีการคาดการณ์ว่าในทศวรรษนี้จะเพิ่มไปถึงร้อยละ 28 หรือประมาณ 20 ล้านคนภายใน 10 ปี ขณะที่สัดส่วนการเกิดน้อยลงเหลือ  500,000 คนต่อปี หลายปีต่อเนื่อง นับเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในรอบ 71 ปี หากไม่มีการเตรียมการรับมือ ในปี 2585 ประชากรไทยอาจเหลือเพียง 30 ล้านคนเท่านั้น อีกทั้งเด็กเกิดใหม่จนถึงอายุ 15 ปี ถึงร้อยละ 57 เกิดในครอบครัวที่ยากจน ซึ่งกระทบต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ทั้งร่างกายและสมอง

ดังนั้นถึงเวลาที่ประเทศต้องแก้ปัญหาที่โครงสร้าง โดยเฉพาะผู้สูงวัย ที่เผชิญกับความยากจนและปัญหาด้านสุขภาพ ทำให้ประเทศขาดกำลังซื้อ ขาดแรงงาน ขาดการศึกษาที่ดี ซึ่งมีผลต่อจีดีพีของประเทศ จะเห็นได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยรั้งท้ายอาเซียน หากผู้มีอำนาจไม่แก้ไขปัญหา และเตรียมพร้อมรับมือ การลงทุนใหม่ก็จะไม่เกิดขึ้น เราจึงเสนอบำนาญประชาชน 3,000 บาท ซึ่งไม่ใช่นโยบายแจกเงิน แต่เป็นนโยบายที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงวัย ทำให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพดี และกลับไปทำงานได้ เป็นกำลังสำคัญช่วยกันพัฒนาประเทศ เป็นกำลังแรงงานและกำลังซื้อที่สำคัญต่อไป

ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลก โดยเฉพาะสถานการณ์การสู้รบในภูมิภาคต่างๆ ทั้งรัสเซีย ยูเครน อิสราเอล ฮามาส อิหร่านที่มีการตอบโต้กันไปมา หรือการสู้รบในเมียนมาระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมากับชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่ก่อตัวจนเกิดความเข้มแข็งมากขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม มีผลต่อประเทศไทยในมิติต่างๆ ไม่มากก็น้อย

จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทย ต้องเข้าใจสถานการณ์และวางบทบาทของประเทศอย่างถูกต้อง โดยยกตัวอย่างว่าการต่อสู้ในเมียนมาว่า ในอดีตอาจต้องพูดคุยกับผู้นำรัฐบาลทหาร แต่ปัจจุบันจะต้องคุยกับใคร จึงจะได้ข้อยุติและบทสรุปในเรื่องต่างๆ ซึ่งท่ามกลางความขัดแย้ง ประเทศไทย ต้องมีจุดยืนที่ถูกต้อง ยืนบนหลักการที่ถูกต้อง พูดในสิ่งที่ถูกต้อง โดยเราไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งของใคร

ด้าน ดร.สันติธาร มองว่าสถานะปัจจุบันของโลก มี 4 มิติที่ดุดันขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมิติของการเปลี่ยนแปลงด้าน AI ซึ่งนำมาสู่การขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะปัญหาสังคมผู้สูงวัยที่ส่งผลโดยตรง นอกจากนี้ยังประสบกับปัญหางานที่ขาดคนเพราะคนขาดทักษะและความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะกระทบต่อความสัมพันธ์ในภูมิภาค เศรษฐกิจโดยภาพรวม รวมถึงการท่องเที่ยว รวมถึงปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสงครามการค้าที่ดุดันยิ่งขึ้น ล้วนเป็นปัญหาสำคัญที่ผู้มีอำนาจต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างจริงจัง