สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ว่า ภาวะโลกร้อนซึ่งเกิดจากการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิล ‘มีแนวโน้มมากที่สุด’ ในการเป็นสาเหตุของฝนตกหนักในยูเออีและโอมาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและก่อให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่

ดับเบิลยูดับเบิลยูเอ กล่าวว่า ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจาก ‘ปรากฏการณ์เอลนีโญ’ จะมีปริมาณฝนตกหนักมากขึ้นร้อยละ 10 ถึง 40 และ ‘มีความเป็นไปได้’ ว่าอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างไรก็ดี ยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด

พายุฝนและน้ำท่วมครั้งนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 21 ราย ในโอมาน และ 4 รายในยูเออี ถือเป็นผลกระทบจากฝนตกหนักที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่ที่เคยได้บันทึกไว้ตลอด 75 ปีที่ผ่านมา

“ภาวะโลกร้อนอาจเป็นสาเหตุที่เป็นไปได้มากที่สุด สำหรับปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น” นักวิทยาศาสตร์กล่าว

อย่างไรก็ดี จากการศึกษาบทบาทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว นักวิทยาสตร์ระบุว่า ‘ไม่มีคำอธิบายอื่น ๆ ที่พิสูจน์ได้’ สำหรับสาเหตุของปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ยูเออีและโอมาน ประเทศผลิตน้ำมันรายใหญ่ กำลังเผชิญกับอากาศที่ร้อนจัดอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน โดยเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงอื่น ๆ ที่เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ศาสตราจารย์โซเนีย เซเนวิรัตเน สมาชิกดับเบิลยูดับเบิลยูเอ ระบุว่า “น้ำท่วมในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และโอมาน แสดงให้เห็นว่าแม้แต่พื้นที่แห้งแล้ง ก็อาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์ฝนตก ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากผลกระทบที่รุนแรงขึ้นของภาวะโลกร้อน”

ดับเบิลยูดับเบิลยูเอวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศในอดีต และแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบฝนในพื้นที่ รวมไปถึงในปีที่เกิดเอลนีโญ ซึ่งเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น

ผลการศึกษาพบว่า ฝนตกหนักมีความรุนแรงน้อยลงมากในยุคก่อนอุตสาหกรรม หลายปีก่อนที่อุณหภูมิของโลกจะอุ่นขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส

ดร.มาเรียม ซาคาริยาห์ กล่าวว่า “เหตุการณ์ฝนตกหนักในยูเออีและโอมาน รุนแรงขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10” เธออธิบายเพิ่มเติมว่า “การค้นพบนี้ สอดคล้องกับหลักฟิสิกส์พื้นฐานที่ว่า บรรยากาศอุ่นกว่าจะสามารถกักเก็บความชื้นได้มากกว่า”

พายุฝนลูกดังกล่าวขึ้นฝั่งโอมานครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 21 ราย จากน้ำท่วมฉับพลัน และอุบัติเหตุอื่น ๆ และพายุได้พัดเข้าสู่ยูเออีเมื่อวันที่ 16 เม.ย. ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักเทียบเท่าปริมาณน้ำฝนในระยะเวลา 2 ปี ทำให้น้ำท่วมบ้านเรือน ถนน ห้างสรรพสินค้า และสำนักงาน และผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย

เมืองศูนย์กลางทางการเงินอย่างดูไบ ต้องเผชิญกับภาวะหยุดชะงักอย่างรุนแรงหลายวัน เนื่องจากถนนสายหลักถูกน้ำท่วม ไฟฟ้าดับ และประชาชนไม่สามารถออกจากบ้านได้

มากไปกว่านั้น สนามบินนานาชาติดูไบ ซึ่งเป็นสนามบินมีนักท่องเที่ยวพลุกพล่านมากที่สุดของโลก มีเที่ยวบินถูกยกเลิกกว่า 2,155 เที่ยวบิน เปลี่ยนเส้นทาง 115 เที่ยวบิน และไม่สามารถกลับมาให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ จนกระทั่งวันอังคารที่ผ่านมา

ขณะที่รัฐบาลยูเออี ปฏิเสธข้อกล่าวหาในการใช้เทคโนโลยีเร่งและเพิ่มปริมาณฝน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

รายงานของดับเบิลยูดับเบิลยูเอระบุว่า นักวิจัยไม่ได้ตรวจสอบ ‘สาเหตุที่อาจทำให้เกิดเมฆ’ แต่เมื่อพิจารณาจากพายุซึ่งมีขนาดมหึมา ดังนั้น ฝนที่ตกลงมาอาจไม่เกี่ยวข้องกับการเพาะเมฆ

เมื่อปี 2566 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นเจ้าภาพประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยูเอ็นเอฟซีซีซี) ครั้งที่ 28 ซึ่งนานาประเทศได้บรรลุข้อตกลงสำคัญในการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด

ยูเออีและโอมานต่างลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และให้คำมั่นในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศ ยกเว้นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่นเดียวกับผู้ผลิตน้ำมันรายอื่น ๆ ของโลก อาทิ สหรัฐ ที่กำลังเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับความต้องการที่สูงขึ้น

ดร.ฟริเดอริเก อ็อตโต กล่าวว่า “ในการประชุม ‘คอป28’ ที่ดูไบ โลกตกลงที่จะเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ตลอดเกือบครึ่งปีที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ ยังคงเปิดแหล่งน้ำมันและก๊าซแห่งใหม่”

อย่างไรก็ตาม ยูเออียังคงเผชิญกับน้ำท่วม จนกระทั่งเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา มีคำเตือนถึงโรคที่อาจเกิดขึ้นจากการสัมผัสน้ำ เนื่องจากน้ำอยู่ในอุณหภูมิสูงมานานกว่าครึ่งสัปดาห์

ดร.อีมาน อลาบาร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม ระบุว่า “น้ำที่ท่วมขังถูกปนเปื้อนไปกับของเสียตามท้องถนน และอาจผสมกับสิ่งปฏิกูลที่ก่อให้เกิดมลพิษ” เธอระบุเพิ่มเติมว่า การว่ายน้ำหรือดื่มน้ำ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ นอกจากนี้ น้ำยังเพิ่มจำนวนยุงที่เป็นพาหะนำโรคอีกด้วย.

เครดิตภาพ : AFP