เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โซนรอบนอกของตัวเมืองพิษณุโลก ที่ หมู่ 3 ต.งิ้วงาม อ.เมือง จ.พิษณุโลก มีคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน ออกมาเอาแรงกัน ร่วมแรงร่วมใจกันในงานบวช หรืองานบุญเช่นนี้ ปัจจุบันยังมีให้เห็นกันได้ตามหมู่บ้านหรือชุมชน โซนนอกตัวเมือง ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปในงานบุญต่างๆ

โดยวันนี้เป็นงานบวชพระ นาคภีม หรือนายปวีร์ ปานสมบูรณ์ ทางเจ้าภาพได้ให้บรรดาญาติที่เป็นคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน มาเอาแรงกัน บ้างก็ช่วยกันจัดสถานที่ บ้างก็เตรียมของที่ใช้ในพิธีงานบวช อย่างภาพที่เห็นคือคุณยายสา อายุกว่า 90 ปี ผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ได้มาช่วยกันเชี่ยนหมากเป็นคำๆ เพื่อใช้ถวายพระ และใช้ในพิธีงานบวชพระนั่นเอง ถือเป็นบรรยากาศที่คนเฒ่าคนแก่ได้ออกมาพบปะ พูดคุยกัน หัวเราะกันอย่างสนุกสนาน

โดยทางเจ้าภาพได้เลือกว่าอยากจะได้ขนมเปียกปูนถวายพระภิกษุสงฆ์และเลี้ยงแขกที่มาร่วมงานบุญด้วย จึงได้ภาพความสามัคคีของคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน ได้มาช่วยงานบุญกันตั้งแต่รุ่งสาง ได้มาช่วยกันคนละไม้คนละมือ บ้างก็ปอกมะพร้าว ขูดมะพร้าว บ้างก็เตรียมส่วนผสมของการทำขนมเปียกปูน ร้องรำ ทำเพลงกันไปสนุกสนาน เหมือนเป็นงานบุญที่คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านจะได้ออกมาพบปะพูดคุยกัน ลงแรง ช่วยงานบุญ

โดยในงานบวชนาคภีมในวันนี้ ได้หัวเรี่ยวหัวแรงหลัก คือป้าประสิทธิ์ น้อยก่อ อายุ 60 ปี ชาวบ้าน หมู่ 3 ต.งิ้วงาม อ.เมือง จ.พิษณุโลก ที่ปกติยึดอาชีพทำขนมไทยขายในหมู่บ้านมานานกว่า 10 ปี ขนมที่ทำจะเป็นขนมไทยโบราณทั่วไป เช่น ขนมเปียกปูน ขนมใส่ไส้ ขนมหม้อแกง ขนมชั้น ขายในหมู่บ้าน วันนี้เลยมาช่วยงานบุญพร้อมด้วยผู้อายุในชุมชน ที่มาช่วยกันกวนขนมเปียกปูนสูตรโบราณ ส่วนผสมก็ไม่มีอะไรมาก ใช้แป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ น้ำปูนใส กาบมะพร้าวเผา และหัวกะทิ ผสมให้เข้ากันก็จะเป็นน้ำใสๆ สีดำๆ และผ่านกระบวนการกรองอีกรอบ เพื่อเอาเศษแป้งออก เพื่อให้ขนมเปียกปูนเนื้อเนียน ละเอียด

จากนั้นก็ตั้งเตาฟืน นี่คือทีเด็ด ที่ต้องเป็นเตาฟืนเพราะจะมีกลิ่นหอมของขนมเวลากวน จากนั้นก็ตั้งกระทะใบบัว ในวันนี้กวนร่วมงานบุญกัน 2 กระทะใบบัวใหญ่ โดยต้องมีคนคุมไฟด้วย เอาแค่ไฟกลางๆ อย่าแรงเกิน อย่าเบาเกิน และที่สำคัญไฟห้ามดับจนกว่าจะเสร็จ จากนั้นก็ใช้พาย หรือตะหลิวใหญ่ กวนไปเรื่อยๆ แรกเริ่มก็จะเหลวๆ และกวนให้ถึงก้นกระทะไม่เช่นนั้นขนมจะไหม้ซะก่อน ถ้ามีกลิ่นไหม้ก็ไม่โอเคแล้ว โดยระยะเวลาการกวนส่วนใหญ่ไม่เท่ากันแล้วแต่ความแรงของไฟ และความเหลวของส่วนผสม แต่อย่างต่ำก็ประมาณ 3 ชั่วโมงขึ้นไป

ป้าประสิทธิ์ บอกต่อว่า การจะดูว่าเปียกปูนเราใช้ได้หรือยัง ก็ให้ลองตักใส่จานสังกะสี แล้วเอาไปลอยในน้ำให้เย็นก่อน และลองใช้มือเขี่ยดูถ้าหากตัวขนมยังติดนิ้ว ติดจาน แสดงว่ายังใช้ไม่ได้ต้องกวนต่อ แต่หากขนมล่อนจากจาน ไม่ติดจาน ไม่ติดนิ้วแล้วละก็เป็นอันใช้ได้ จากนั้นก็นำมาเทใส่ถามสี่เหลี่ยม หรือถาดขนม จากนั้นก็เขย่าให้กระเพื่อม เพื่อให้หน้าขนมเรียบ แล้วก็พักไว้ให้เย็นจนขนมเซตตัว ก็โรยด้วยมะพร้าวขูด ก็เป็นอันเรียบร้อย หอมอร่อย ทานได้