จากกรณี 40 สว. เข้าชื่อยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลไม่ซื่อสัตย์สุจริต ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง นั้น
-เปิดคำวินิจฉัยฉบับเต็ม! หลังศาลรธน.รับคำร้อง 40 สว. แต่ไม่สั่ง ‘เศรษฐา’ หยุดปฏิบัติหน้าที่

โดยหากดูตามขั้นตอน ศาลได้สั่งให้นายเศรษฐา ยื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 54 ซึ่งต้องดูว่า ถึงวันนั้น นายกฯ จะส่งเอกสารคำชี้แจงให้ศาลจนครบเลย หรือว่าจะมีการขยายเวลาในการยื่นส่งคำชี้แจงออกไปหรือไม่

หากเป็นการยื่นขอขยายเวลาออกไป ก็จะดูว่า ศาลจะพิจาณาอนุมัติให้ตามที่ร้องขอหรือไม่ หรือจะอนุญาตขยายเวลาได้นานแค่ไหน เช่น ร้องขอขยายเวลา 30 วัน ศาลอาจะพิจารณาให้เพียง 15 วันก็ได้ เป็นต้น ส่วนถ้าหากนายกฯ ยื่นคำชี้แจงให้เลยนั้น ตามกระบวนการศาลฯ ก็จะนำเข้าสู่การพิจาณาอภิปราย ซึ่งอาจจะมีการอภิปรายหลายรอบ หรือสามารถเรียกเอกสารเพิ่มเติมได้ ก่อนจะนัดลงมติ และแถลงผลวินิฉัย

อย่างไรก็ตาม ในขั้นที่นายกฯ ยื่นชี้แจงนั้น ก็ต้องดูด้วยว่า จะมีการขอให้มีการไต่สวนเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งหากมีการขอให้มีการไต่สวน ก็จะมีการเรียกผู้เกี่ยวข้องมาไต่สวนต่อไป ซึ่งหากเป็นไปในกรณีนี้ ก็จะทำให้ใช้ระยะเวลานานกว่า

และจากขั้นตอนกระบวนการในชั้นศาลนี้เอง ทำให้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า จะใช้เวลาในการพิจารณากรณีดังกล่าวเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ แต่ประมาณการอย่างสั้นน่าจะอยู่ที่ราวๆ 2-3 เดือน

ทั้งนี้ หากการวินิจฉัยของศาลออกมาว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 สิ้นสุดลง เฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ก็จะไม่ทำให้ ครม. พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ซึ่งรัฐมนตรีที่เหลือ ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี คนใหม่ และตั้ง ครม.ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่

ซึ่งในกรณีเช่นนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ คนที่ 25 เมื่อปี 2551 จาก “คดีชิมไปบ่นไป” เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และมาตรา 267 ประกอบ 182 วรรคสาม และมาตรา 91 กรณีเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยงหกโมงเช้า” จากนั้น ครม. ที่เหลืออยู่ก็รักษาการต่อไป กระทั่งสภาผู้แทนราษฎรมีมติเลือก นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ คนที่ 26 แล้วมีการจัดตั้ง ครม.ชุดใหม่ต่อไป..