จากกรณีเมื่อช่วงค่ำวันที่ 20 ม.ค. กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้มีการเผยแพร่เอกสารคำสั่ง กรมสอบสวนคดีพิเศษที่ 93/2566 เรื่อง แต่งตั้งโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่ประจำคณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยที่เห็นเป็นการสมควรปรับปรุงเสียใหม่ เพื่อให้การปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างภาพลักษณ์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ผู้สื่อข่าว “เดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจาก พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา ตนได้มีการประชุมกับคณะเจ้าหน้าที่ในกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งได้มอบนโยบายสำคัญให้ทุกหน่วยงานภายในกรม อาทิ แนวทางการบริหารหน่วยงาน ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือการกลับไปทบทวนโครงสร้างของการทำงานภายในหน่วยงาน กอง ศูนย์ต่าง ๆ ที่มีการจัดตั้งขึ้นมาอย่างไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะชุดเฉพาะกิจ อะไรที่เล็งเห็นว่าไม่มีความจำเป็น ซ้ำซ้อน ส่อไปในทางทุจริตและไม่มีผลงานประจักษ์ชัดเจน ตนจะดำเนินการยุบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนมีรายนามของชุดเฉพาะกิจที่เหลือทั้งหมดแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจสอบต่อไป

ส่วนนโยบายที่ได้มอบหมายให้ผู้บริหารกองคดีต่าง ๆ พ.ต.ต.สุริยา ระบุว่า ตนได้มอบนโยบายสำคัญแก่ผู้อำนวยการกองคดีต่าง ๆ จนถึงระดับผู้อำนวยการส่วน เนื่องจากประสบการณ์ส่วนตัวของตน คนที่ขับเคลื่อนงานจริง ๆ คือหน่วยระดับล่างสุด หรือ ผู้อำนวยการส่วน เพราะจะเป็นหัวหน้า เป็นเบอร์ 1 ของชุดทำงาน ดังนั้น การสื่อสารระดับผู้บริหารเช่น อธิบดี รองอธิบดี ผอ.สำนัก ผอ.กองคดี ตนมองว่าไม่เพียงพอ จึงได้มีการประชุมร่วมกันทั้งหมด เเละได้เเจ้งในที่ประชุมว่าท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ท่านปลัดกระทรวงยุติธรรม ท่านรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้มอบหมายกรมสอบสวนคดีพิเศษขับเคลื่อนต่อไปในทิศทางใด

สำหรับนโยบายการบริหารบุคลากรนั้น พ.ต.ต.สุริยา ระบุว่า ตนจะผลักดันและส่งเสริมคนทำงานให้มีที่ยืน และผลักดันให้พวกเขาได้ขยับขึ้นไปเป็นผู้บริหาร ตั้งแต่ระดับชุดปฏิบัติการ ระดับผู้อำนวยการส่วน ระดับผู้อำนวยการกองคดีและจากนี้ไปจะมีการขยับขยายบางท่าน อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น ตนได้ให้นโยบายขอให้ทุกคนพิจารณาตัวเองว่ามีความเหมาะสมที่จะทำงานอยู่ในแผนกใด เพราะเจ้าหน้าที่บางรายอาจมีความอึดอัดเนื่องด้วยการทำงานที่ไม่ตรงกับสายงาน หรือบางรายอาจจะมีความสามารถไม่เหมาะสมกับตำแหน่งที่อยู่นั้นๆ แต่มีความประสงค์อยากอยู่ต่อหรือยึดเอาตามความชอบส่วนตัว แบบนี้ก็คงไม่ได้ ซึ่งตนค่อนข้างพูดเรื่องนี้ชัดเจนในที่ประชุม จากนั้นเรื่องความเหมาะสมต่าง ๆ ผู้บังคับบัญชาจะมีการพูดคุยกับระดับผู้บริหารต่อไปเพื่อประมวลผลสรุป ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อขับเคลื่อนงานและเพื่อประสิทธิภาพงานภายในกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงต้องเอาความจริงขึ้นมาพูดกัน ทั้งนี้ ภายในสัปดาห์หน้าจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงภายในดีเอสไอเกิดขึ้น โดยจะเริ่มตั้งแต่ระดับข้างบนลงไป

ประเด็นการดำเนินการทางวินัยสำหรับข้าราชการดีเอสไอ และแนวทางดำเนินการ พ.ต.ต.สุริยา ระบุว่า ขณะนี้ มีความชัดเจนระดับหนึ่งแล้ว เพราะมีบุคคลที่มีหลักฐานประจักษ์และมีการแจ้งข้อหา จึงได้มีคำสั่งพักราชการเจ้าหน้าที่ทั้ง 5 ราย ส่วนในกรณีอื่นๆ ตนอยู่ระหว่างมอบหมายให้มีการดำเนินการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือคณะดำเนินการทางวินัยในทุกกรณีว่ามีกรณีใดบ้างที่ปรากฏข้อครหา ปรากฏข้อร้องเรียนต่างๆ นอกจากนี้ หากมองในภาพรวมผ่านการนำเสนอของสื่อ พบว่ามีปรากฏหลายกรณี แต่บางประเด็นอาจจะยังมาไม่ถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษเพราะอาจจะไปอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นบ้าง ซึ่งถ้ายังไม่มีการเรียกเจ้าหน้าที่ของเราไปสอบปากคำ ก็จะไม่ทราบว่าบุคคลใด เจ้าหน้าที่ดีเอสไอรายใดไปเกี่ยวข้องเชื่อมโยงอย่างไรบ้าง

เมื่อถามถึงความคืบหน้า กรณีของ นายเสกสิทธิ์ สวรรยาธิปัติ หรือ “ผอ.ท็อป” ผอ.กองพัฒนาและสนับสนุนคดีพิเศษ ซึ่งพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่าเป็นมือขวาและเป็นหน้าห้องของ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ และได้มีการสอบปากคำ “ผอ.ท็อป” แล้วแต่ ยังไม่ได้ให้การชัดเจน นั้น พ.ต.ต.สุริยา ระบุว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องวินัยอาญาร้ายแรงว่าจะมีมูลข้อเท็จจริงอย่างไร และยังไม่ได้มีการสั่งพักราชการไว้ก่อนเหมือนเจ้าหน้าที่ 5 ราย เนื่องจากในกรณีของเจ้าหน้าที่ 5 รายมีความชัดเจนระดับหนึ่งแล้ว และที่สำคัญได้ถูกแจ้งข้อหาแล้ว แต่ นายเสกสิทธิ์ ตำรวจยังไม่ได้แจ้งข้อหา ดังนั้น เราจึงประมวลเรื่องโทษทางวินัยคู่ขนานไปกับคดีอาญา โดยที่ไม่ต้องรอทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งหากคณะกรรมการพบความผิด ก็ดำเนินการทางวินัยไปก่อน

“หากพบว่า นายเสกสิทธิ์ ได้มีลักษณะเข้าข่ายตามนั้นจริง ก็คงต้องดำเนินการเป็นไปในมาตรฐานเดียวกันกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 5 ราย โดยจะให้พักราชการไว้ก่อน และถ้าพบว่าทั้งหมดมีการกระทำความผิดจริง ก็จะได้รับโทษสูงสุดคือให้ออกจากราชการ ซึ่งก็เรียกได้ว่าถูกดำเนินคดีทางอาญาร่วมกับถูกดำเนินการทางวินัย” พ.ต.ต.สุริยา ระบุ

เมื่อถามถึงเรื่องการปรับภาพลักษณ์ภายในกรมสอบสวนคดีพิเศษ เช่น ปรับเปลี่ยนตำแหน่งโฆษกกรมและรองโฆษกกรม พ.ต.ต.สุริยา อธิบายว่า ภายในที่ประชุมช่วงเช้าวันที่ 20 ม.ค. ตนได้มีการทำความเข้าใจกับทุกคนด้วยการมอบนโยบาย และทุกคนรับทราบดีว่า ตนมาเพื่อวัตถุประสงค์ใด ไม่ได้มาเพื่อการส่วนตัว แต่มาตรงนี้เพื่อส่วนรวม ซึ่งแปลว่าการตัดสินใจทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทุกคนเข้าใจว่าตนไม่ได้ตัดสินไปโดยพลการ เเต่เพื่อความเหมาะสม ส่วนทางด้านของอดีตโฆษก พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ตนเล็งเห็นว่าเขาอยู่ในตำแหน่งโฆษกมาอย่างยาวนาน แต่ศักยภาพที่เขามีนั้น ตนจึงมอบหมายงานสำคัญให้ดูแลแทน เร็ว ๆ นี้ได้เห็นแน่นอน

ส่วนทางด้านของโฆษกหน้าใหม่ ตนก็ได้มีการผลักดันเจ้าหน้าที่ภายในกรมซึ่งมีความสามารถได้เข้ามามีบทบาทและใช้ความเป็นคนรุ่นใหม่สื่อสารประชาสัมพันธ์งานขององค์กรร่วมกับสื่อมวลชน และต่อจากนี้ทีมโฆษกจะเป็นผู้รายงานความคืบหน้าทางคดีสำคัญต่างๆแทนการให้ข่าวรายวันของเจ้าหน้าที่ภายในกรม เพื่อความเป็นทางการและสังคมจะได้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ไม่เป็นการสร้างข้อมูลหลากหลายออกไป

“ในหลาย ๆ คดี สำคัญที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ ตนจะดำเนินการทั้งหมดอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้น ในหลาย ๆ คดี จะไม่ให้เจ้าหน้าที่มีการให้ข่าวรายวันแก่สื่อมวลชน เช่น วันนี้เจ้าหน้าที่ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง หรือมีการสอบปากคำอะไรไปแล้วบ้าง หรือพรุ่งนี้จะมีการออกหมายจับใคร ตนมองว่ามันไม่ดีสำหรับการทำงาน แต่ความคืบหน้าบางส่วนทางคดีนั้น ตนจะให้ทีมโฆษกดีเอสไอ ดำเนินการประชาสัมพันธ์แทน ส่วนรายละเอียดเชิงลึกทางคดีตนขอหลีกเลี่ยงให้เจ้าหน้าที่หรือ พนักงานสอบสวน หรือหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ถ้าวันใดมีการปฏิบัติการที่สำคัญ เราจะมีการเชิญสื่อมวลชนให้ไปร่วมดำเนินการด้วยกัน ทั้งนี้ แม้ว่าอะไรหลายๆอย่างจะยังไม่เข้าที่เข้าทาง แต่ตนก็ยินดีทำต่อไปและพร้อมขับเคลื่อนร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ทุกคนในกรม เพื่อให้ดีเอสไอมีประสิทธิภาพมากขึ้นและตอบโจทย์ประชาชนมากที่สุด” พ.ต.ต.สุริยา ระบุปิดท้าย