ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) กว่า 190 ประเทศ บรรลุการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับทรัพยากรพันธุกรรม (WIPO Treaty on Intellectual Property, Genetic Resources and Associated Traditional Knowledge) ในการประชุมทางการทูต (Diplomatic Conference) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 24 พฤษภาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่ WIPO นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่หลังความพยายามที่ยาวนานกว่า 20 ปี

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “สนธิสัญญาฉบับนี้เริ่มเจรจามาตั้งแต่ปี 2544 เป็นสนธิสัญญาฉบับแรกของ WIPO ที่เชื่อมโยงระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กับการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรมนั้น และยังเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกที่มีบทบัญญัติเฉพาะสำหรับการมีส่วนร่วมของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น เช่น ข้อกำหนดให้ผู้ยื่นจดสิทธิบัตรต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม บทลงโทษหากไม่เปิดเผยแหล่งที่มา และการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงที่มาของทรัพยากรพันธุกรรม เป็นต้น

ดังนั้น สนธิสัญญาฉบับนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม ทำให้การนำทรัพยากรธรรมชาติมาพัฒนานวัตกรรมเพื่อใช้ในการเกษตร การแพทย์ และอุตสาหกรรม การปกป้องสิทธิของชุมชนเจ้าของภูมิปัญญา และการป้องกันการแสวงหาประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมจากพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ประจำถิ่นทำควบคู่กันไปได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ไทยอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรให้สอดคล้องกับหลักการของสนธิสัญญาดังกล่าวเพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีระหว่างประเทศ”

นายวุฒิไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเสนอสนธิสัญญาดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการที่ประเทศไทยจะลงนามเพื่อแสดงเจตจำนงในการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาฉบับนี้ต่อไป”