นายวิศน สุนทราจารย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR พร้อมด้วย ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และ นางสาวชลาทิพ จันทร์ชมภู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน

ร่วมเปิดโครงการ “บอกรักษ์เจ้าพระยา บอกลาขยะแม่น้ำ” ภายใต้การลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ

โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย GC, OR, เจ้าหน้าที่ และจิตอาสา จะร่วมมือกันจัดการขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยทั้ง 2 บริษัทได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจกรรมบริหารจัดการขยะทะเลในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีปริมาณขยะลอยน้ำมากที่สุดตามการศึกษาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และได้คัดเลือกพื้นที่บริเวณวัดบางน้ำผึ้งนอก ชุมชนบางน้ำผึ้ง จ.สมุทรปราการ เป็นพื้นที่ต้นแบบในการรณรงค์ให้คนในชุมชนช่วยกันจัดเก็บขยะที่อยู่ในน้ำเพื่อนำไปจัดการอย่างถูกวิธี

อีกทั้งกิจกรรมดังกล่าวยังเป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์ทะเล และเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมโลกที่จะมาถึงในวันที่ 5 มิถุนายน และวันทะเลโลกที่จะมาถึงในวันที่ 8 มิถุนายนนี้อีกด้วย

นายวิศน ระบุว่า OR ดำเนินธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีก โดยตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งยังให้ความสำคัญกับการจัดการขยะ โดยได้กำหนดเป้าหมายในการลดปริมาณขยะจากการดำเนินธุรกิจลง 1 ใน 3 เท่า ภายในปี 2030 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 โดยมุ่งส่งเสริมให้ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะผ่าน ‘โครงการ แยก แลก ยิ้ม’

สำหรับการจัดการกับปัญหาขยะทะเลนั้น OR ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณขยะและจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการให้ความรู้แก่ชุมชนริมน้ำในการจัดการอย่างถูกวิธี ควบคู่ไปกับการจัดเก็บขยะจากลำน้ำ โดยพื้นที่วัดบางน้ำผึ้งนอก ชุมชนบางน้ำผึ้ง นับเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่อยู่ในขอบข่ายการดำเนินงานด้าน CSR ของคลังปิโตรเลียมบางจากของ OR ซึ่งจะสามารถต่อยอดการจัดการขยะอย่างยั่งยืนต่อไปได้อีกด้วย

โครงการ ‘บอกรักษ์เจ้าพระยา บอกลาขยะแม่น้ำ’ ประกอบด้วยกิจกรรมลงเรือเก็บขยะในแม่น้ำ กิจกรรมเก็บขยะบริเวณริมตลิ่ง กิจกรรมคัดแยกและชั่งน้ำหนักปริมาณขยะ รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านการคัดแยกขยะ โดยขยะที่ผ่านการคัดแยกแล้ว ส่วนที่สามารถรีไซเคิลได้จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน และนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ Upcycling ต่าง ๆ

ถือเป็นการส่งเสริมเศรฐกิจหมุนเวียน สอดคล้องกับกลยุทธ์การจัดการของเสีย ‘3R Waste Strategy’ ได้แก่ Reborn Waste to Value ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บรวบรวมของเสีย และขยายผลนำของเสียเหล่านั้นกลับมาสร้างคุณค่าใหม่อีกครั้ง

ด้านดร.ชญาน์ ระบุเพิ่มเติมว่า GC ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์อย่างยั่งยืนด้วยหลัก ESG มีเป้าหมายมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050 โดยได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้สนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ริเริ่มและสร้างแนวทางปฏิบัติร่วมกับภาคสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาขยะในประเทศไทย ผ่าน ‘GC YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม’

โดยความร่วมมือกับ OR ในโครงการ ‘บอกรักษ์เจ้าพระยา บอกลาขยะแม่น้ำ’ ครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือจัดการขยะในแม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ขยะพลาสติก’ เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะเหล่านี้ไหลลงสู่ทะเล โดยพลาสติกใช้แล้วที่ได้รับการคัดแยกจากกิจกรรม จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและอัพไซเคิลผ่าน GC YOUเทิร์น เพื่อสร้างคุณค่าและประโยชน์ต่อไป

ทั้งนี้ OR และ GC ยังมีแผนที่จะขยายพื้นที่ดำเนินโครงการไปยังชุมชนใกล้เคียง หรือพื้นที่วิกฤตบริเวณอื่น ๆ ของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการขยะร่วมกับชุมชน รวมถึงพัฒนาอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการจัดเก็บขยะจากลำน้ำ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการขยะในทะเลบริเวณปากแม่น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป