ดังนั้น มาตรฐานต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมโลกจึงได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยองค์กรชื่อ ISO หรือ The International Organization for Standardization ที่มีอายุเก่าแก่ถึง 78 ปี มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุง Geneva ประเทศ Switzerland โดยสำนักงาน ISO เป็นศูนย์รวมนักวิชาการกับผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก ที่มาร่วมกันคิดวิธีและกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ ที่ทำให้การทำงานดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด ตลอดจนเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของโลก ช่วยทำให้อุตสาหกรรมและชุมชนเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 ปัจจุบันสำนักงาน ISO มี 25,351 มาตรฐานระดับนานาชาติ ที่ครอบคลุมเกือบทุกมิติ ทั้งเรื่องเทคโนโลยี การจัดการ และการผลิต มีสำนักงานมาตรฐานอยู่ใน 171 ประเทศ และมีคณะกรรมการระดับนานาชาติอยู่ 834 ชุด ที่คอยพัฒนามาตรฐานใหม่ ๆ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ

ในราวปี ค.ศ. 2005 ที่ทั่วโลกมีวิกฤติความขัดแย้งระหว่างการเติบโตของอุตสาหกรรมกับชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ คล้ายที่เป็นข่าวในบ้านเราช่วงนี้ เช่น โรงงานปล่อยนํ้าเสียลงแหล่งนํ้าสาธารณะ ซึ่งแต่ละวันโรงงานได้ปล่อยฝุ่นควันและคาร์บอนจำนวนมหาศาลหลาย ๆ โรงงานมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรืออาจจะเกิดอัคคีภัย หรือภัยพิบัติทางอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงปัญหาที่เกี่ยวกับมาตรฐานการใช้แรงงาน การผลิต การจัดจำหน่าย จนถึงปลายทางผู้บริโภค ในช่วงนั้นมีการพูดคุยกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ

โดยมีผู้เชี่ยวชาญสรุปผลและร่างเป็นมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของอุตสาหกรรม เรียกว่า ISO 26000 โดยมีการทำความเข้าใจและกำหนดออกมาเป็น มาตรฐาน 7 หมวด ได้แก่ ธรรมาภิบาล การเคารพสิทธิมนุษยชน การใส่ใจลูกจ้างแรงงาน การดูแลสิ่งแวดล้อม การดำเนินกิจการที่เป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และการร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมรอบที่ตั้งกิจการ และปี ค.ศ. 2010 ผู้ร่วมพัฒนา ISO 26000 เห็นพ้องต้องกัน จึงได้ประกาศว่ามาตรฐานอุตสาหกรรมนี้จะเป็น ISO แรกที่ไม่ต้องตรวจสอบรับประกัน จะเป็นแค่แนวทางปฏิบัติที่อุตสาหกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมใช้เป็นบรรทัดฐาน แล้วนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อเชื่อมโยงกับแนวทางความยั่งยืนอื่น ๆ เช่น UN Global Compact, OECD Guideline for Multi-National Companies รวมถึงมาตรฐานอื่น ๆ ในภูมิภาคและในประเทศนั้น ๆ

ในช่วงที่ ISO 26000 ค่อย ๆ พัฒนา และเริ่มจะเปิดตัว กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมของไทยเห็นว่าถ้า ISO 26000 เป็นแค่แนวทาง ไม่ต้องตรวจรับรอง โรงงานอุตสาหกรรมไทยคงไม่เห็นความสำคัญเร่งด่วน และจะบังคับใช้ให้ได้มาตรฐานยาก กรมโรงงานจึงคิดโครงการมาตรฐานที่อ้างอิงแนวทางมาจาก ISO 26000 โดยเรียกว่า มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของกรมโรงงาน หรือ CSR-DIW โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 มีโรงงานที่ได้เข้าอบรมและได้มาตรฐานแล้วหลายพันแห่ง

มาตรฐาน ISO 26000 หรือ “CSR-DIW” จะช่วยเรื่องลดความเสี่ยงอย่างไรนั้น? มีดังนี้

1.การกำกับดูแลองค์กร รากฐานที่สำคัญที่สุดขององค์กรที่จะสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยง คือ เรื่องธรรมาภิบาล ธรรมนูญต่าง ๆ ที่เขียนไว้อย่างชัดเจนและเปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียสามารถแจ้งเหตุต่าง ๆ ได้อย่างโปร่งใสตลอดเวลา ทำให้เมื่อมีสิ่งใดขัดต่อกฎระเบียบ การดำเนินกิจการ มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตราย ก็จะสามารถแก้ไขปรับปรุงได้ทันเวลา

2.สิทธิมนุษยชน แนวทางการเคารพสิทธิมนุษยชน ทั้งในองค์กรทั้งต่อชุมชนรอบข้าง และต่อสาธารณชนจะลดความเสี่ยงเรื่องของความขัดแย้ง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะลดความสูญเสียได้มาก

3.การปฏิบัติเรื่องแรงงาน แรงงานคือความเสี่ยงใหญ่ ตั้งแต่การคัดเลือกบุคลากรที่มีคุณภาพ การดูแลให้ได้มาตรฐานตามกฎหมาย ไม่กดขี่เอาเปรียบ รวมถึงการเลื่อนตำแหน่ง โยกย้าย หรือให้ออกในกรณีต่าง ๆ ที่จะต้องทำให้ถูกต้องและเป็นธรรมตามหลักกฎหมาย

4.สิ่งแวดล้อม การดูแลสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมเป็นเรื่องสำคัญมาก อุตสาหกรรมต้องไม่ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐาน ทั้งฝุ่น ควัน คาร์บอน เสียง นํ้าเสีย ขยะ ของเสียอันตราย และนอกจากไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ สถานประกอบการแล้ว ยังต้องคอยดูแลระบบนิเวศที่สำคัญในชุมชนอีกด้วย

5.การดำเนินงานอย่างเป็นธรรม ความเป็นธรรมเป็นเรื่องสำคัญและลดความเสี่ยงในการขัดแย้งระหว่างผู้มีส่วนได้เสียได้มาก การทำกิจการที่ไม่เอาเปรียบและไม่เบียดเบียนใคร สร้างคุณค่าร่วมกับคู่ค้าและผู้มีส่วนได้เสียจะสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนให้องค์กร

6.ประเด็นด้านผู้บริโภค การส่งมอบสินค้าและบริการที่ดี มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ในโฆษณา จะลดข้อร้องเรียนต่าง ๆ จากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และลดความเสียหายของ Brand ได้

7.การมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน เรื่องนี้กรมโรงงานให้ความสำคัญอย่างมากมาตั้งแต่เริ่มต้น เพราะเป็นการลดความขัดแย้ง ลดการร้องเรียน และข้อพิพาทต่าง ๆ สร้างความสัมพันธ์ที่ดี สร้างความเชื่อใจ จะเป็นประโยชน์ในยามวิกฤติ ซึ่งช่วงนี้เกิดขึ้นบ่อยในวงการอุตสาหกรรม

ช่วยกันลด “ความเสี่ยง” ด้วย มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของกรมโรงงาน หรือ CSR DIW ตอนนี้มีหลายพันโรงงานได้มาตรฐานแล้ว แต่ยังถือว่าเป็นส่วนน้อย ต้องขยายให้มากกว่านี้ เตรียมตัวอุตสาหกรรมของท่านให้พร้อมก่อนที่กฎเกณฑ์ทางสังคม และกฎหมายใหม่ ๆ จะถูกบังคับใช้…เดี๋ยวจะตั้งตัวไม่ทัน.