นายสมิทธิ หาเรือนพืชน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานพิเศษ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดึงบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เข้ามาสนับสนุนการดูแลป่าชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมไว้สำหรับการการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตในอนาคต โดยโครงการระยะแรก ปี 63-64 มีเอกชนขนาดใหญ่เข้าร่วมแล้ว 7 ราย สนับสนุนเงินรวม 43 ล้านบาทให้กับชุมชนต่าง ๆ เพื่อดูแลพื้นที่ 16 ป่าชุมชน ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และพะเยา คิดเป็นพื้นที่ป่ารวม 19,611 ไร่ ช่วยเหลือชาวบ้าน 9,166 คน

สำหรับการดึงเอกชนเข้ามาร่วมครั้งนี้ เอกชนจะเข้ามาให้เงินสนับสนุนในอัตรา 2,500 บาทต่อไร่ ในช่วงระยะเวลา 6 ปีของการทำโครงการ ซึ่งเงินก้อนนี้แบ่งเป็นส่วนแรก ส่งไปให้ชุมชนโดยตรง 1,800 บาทต่อไร่ เพื่อให้ชุมชนจัดตั้งเป็นกองทุนดูแลป่าชุมชน และกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชน และสนับสนุนปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้จากป่าชุมชนในช่วง 3 ปีแรก เป็นเงินให้ชุมชนในปีที่ 4-6 ของโครงการ ส่วนเงินจำนวนที่เหลือจะใช้ในการดำเนินงานโครงการ เช่น การจัดหลักสูตรอบรมเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพให้ผู้แทนชุมชน ค่าบริการทางดาวเทียม ค่าวางแปลงขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ค่าสำรวจพื้นที่ และค่าผู้ทวนสอบแปลง T-VER

นายสมิทธิ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ทำโครงการมาแล้ว 15 เดือนร่วมกับชุมชนที่รักษาป่า 16 แห่ง และได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ เป็นอย่างดีเนื่องจากลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเกิดผลดีต่อชุมชน ภาคเอกชน และประเทศไทย โดยมุ่งส่งเสริมชุมชนที่ดูแลป่าชุมชนภายใต้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน 2562 ให้มีอาชีพทางเลือกใหม่ และมีความเป็นอยู่ที่มั่นคงจากการรักษาป่าให้สมบูรณ์ และคาดว่าจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชน 16 แห่ง รวม 392,220 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตลอดเวลา 20 ปี

ส่วนระยะต่อไปยังหารือกับ ก.ล.ต. ดึงเอกชนเข้ามาเพิ่ม โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กำลังเดินสายคุยกับเอกชนเป็นรายบริษัท เบื้องต้นมีสนใจเข้ามาร่วมโครงการเพิ่มเติมอีก 2 แห่งในปีนี้ ซึ่งเป็นระยะที่ 2 ของโครงการ โดยขยายโครงการต้นแบบสู่การดำเนินงานอย่างจริงจัง เข้าร่วมกับป่าชุมชนอีก 33 แห่ง ประมาณ 32,500 ไร่ในเชียงใหม่ กำแพงเพชร อุทัยธานี และกระบี่ ในปี 64-65 และคาดว่าจะครอบคลุมพื้นที่ป่าชุมชน 150,000 ไร่ในปี 66 โดยประเมินว่าป่าชุมชนจะสามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกและคิดเป็นคาร์บอนเครดิตมากถึงประมาณ 2.8 ล้านตัน และสร้างรายได้ให้ชุมชนรวม 840 ล้านบาท ในระยะเวลา 20 ปี และยังช่วยสร้างอาชีพให้กับคนตกงานจากโควิดเป็นนักขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตด้วย