VISTEC สถาบันการศึกษาที่ก่อตั้งโดย กลุ่ม ปตท. รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรร่วมอุดมการณ์ เน้นการเรียนการสอนแบบบูรณาการวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ VISTEC ตั้งอยู่บนพื้นที่เพื่อการศึกษาของ Smart City วังจันทร์วัลเลย์ (Wangchan Valley) เมืองนวัตกรรมแห่งอนาคต ของ ปตท. ด้วยความมุ่งหวังในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและความร่วมมือทางด้านงานวิจัยชั้นแนวหน้าในระดับสากล เพื่อพัฒนากำลังคนที่จะเป็นรากฐานสำหรับพัฒนานวัตกรรมของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเต็มศักยภาพ

ในการดำเนินการกว่า 6 ปีของ VISTEC นั้น จากผลงานวิจัยชั้นแนวหน้า (Frontier Science) ที่มุ่งเน้นพัฒนาและสร้างคุณค่าต่อวงการวิชาการให้กับสังคมและประเทศไทย (High Quality and High Impact) แล้ว VISTEC ยังได้รับการจัดอันดับใน Nature Index Ranking ให้เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทยในสาขา All Sciences, Chemical Science และ Life Science โดยหากพิจารณาเฉพาะ Chemical Sciences นั้น นอกจากครองอันดับ 1 ของประเทศติดต่อกันสามปีแล้ว ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN) โดยเป็นรองแค่ National University of Singapore (NUS) และ Nanyang Technological University (NTU) เท่านั้น รวมถึงได้รับการจัดอันดับที่ 12 ของมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งมาไม่เกิน 30 ปี จากทั่วโลกอีกด้วย

ในโลกยุคปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในทุกๆ ด้าน สำหรับประเทศไทยเอง จำเป็นต้องสร้างนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่มีความรอบรู้และมีความเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและสอดรับกับทิศทางในระดับนานาชาติ และ VISTEC ได้เห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้พัฒนาผลงานวิจัยที่มีความเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ซึ่งเน้นไปที่กลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้ 1. อุตสาหกรรมการกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง (VISBAT) 2. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพ (BIOVIS) 3. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (VIS-BOT) 4. อุตสาหกรรมดิจิทัล (COVIDBOT และ CHIVID) และ 5. อุตสาหกรรมการแพทย์และผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ (ชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด: Rapid Genetic Detection Kit for COVID-19) และในวันนี้ จะพามารู้จักกับ 4 นวัตกรรมเด่น ที่พัฒนาจากองค์ความรู้ของคณาจารย์ นิสิตและนักวิจัยของ VISTEC โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ สามารถนำมาใช้ได้จริงในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านวัสดุศาสตร์ ด้านพลังงาน ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ และด้านเทคโนโลยีชีวภาพ

ด้านวิศวกรรมวัสดุ หรือ Advanced Functional Materials Engineering

สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (MSE) ได้พัฒนาและทำการวิจัยเกี่ยว “เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ยุคใหม่และนวัตกรรมไฟส่องสว่างอนาคตเพื่อการปฏิรูปพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน” ซึ่งถือเป็นการพัฒนาวัสดุกึ่งตัวนำอินทรีย์ที่สามารถประยุกต์ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ โดยนำวัสดุกึ่งตัวนำอินทรีย์ที่เป็นสารประกอบของคาร์บอน มาออกแบบในระดับโมเลกุลให้มีคุณสมบัติเป็นสารกึ่งตัวนำที่สามารถเปล่งแสงได้ดี ดูดกลืนแสงได้ดี หรือนำไฟฟ้าได้ดี สามารถนำมาใช้แทนวัสดุกึ่งตัวนำซิลิคอนในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสร้างนวัตกรรมใหม่ อาทิ ไดโอดเปล่งแสงอินทรีย์ (OLED) เซลล์แสงอาทิตย์ยุคใหม่ อิเล็กทรอนิกส์แบบยืดหยุ่นหรือพับงอได้ เช่น โทรศัพท์มือถือแบบพับงอได้ รวมถึง อิเล็กทรอนิกส์แบบพิมพ์ได้

โดยงานวิจัยนี้เป็นการบูรณาการด้านเคมี วัสดุศาสตร์ ฟิสิกส์ และวิศวกรรมศาสตร์ เข้าด้วยกัน โดยสามารถนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อต่อยอดการพัฒนาไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์และใช้งานได้จริงต่อไป

ด้านพลังงาน หรือ Green Energy for the Future

VISTEC ได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน หรือ Centre of Excellence for Energy Storage Technology (CEST) ขึ้นภายใต้การดูแลของสำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (ESE) เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนประสิทธิภาพสูง (High-performance Li-ion batteries) ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน โดยมีคุณสมบัติเด่นในด้านค่าการกักเก็บพลังงานที่สูงขึ้น และผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานระดับสากล UN 38.3 เพื่อให้มั่นใจว่าแบตเตอรี่ที่พัฒนาขึ้นโดยองค์ความรู้ของคนไทยนั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้ในระดับสากล

ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ Robotics and Artificial Intelligence

สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IST) ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยให้มีศักยภาพสู่มาตรฐานชั้นนำระดับโลก โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาการเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีคุณภาพ รวมถึงมุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ทันสมัย

เช่น งานวิจัยด้านการพัฒนาระบบควบคุมโครงข่ายประสาทเทียมสำหรับหุ่นยนต์ ที่ทำให้หุ่นยนต์ 6 ขา สามารถยกขากลางและขาหลังข้ามสิ่งกีดขวางได้โดยอาศัยการนำข้อมูลจากเซนเซอร์ของขาหน้ามาเก็บไว้ในหน่วยความจำระยะสั้น และส่งข้อมูลออกมาใช้งานในช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวได้แรงบันดาลใจจากพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต และนำไปสู่แนวทางใหม่ในการควบคุมหุ่นยนต์อัตโนมัติที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาหุ่นยนต์สำรวจเพื่อทำงานในพื้นที่ขรุขระหรือมีสิ่งกีดขวางได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการเรียนรู้ขั้นสูงของเครื่อง (advanced machine learning technology) ให้มีความสามารถในการปรับตัวในสถานการณ์ใหม่แบบ Real-time ได้และรวดเร็ว ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้หุ่นยนต์มีความเฉลียวฉลาด สามารถสื่อสารและทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้กับหุ่นยนต์บริกรในร้านกาแฟและร้านอาหาร ซึ่งจะทำให้หุ่นยนต์สามารถเรียนรู้ ตรวจจับและจดจำลูกค้าแบบ Real-time เพื่อเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มให้กับลูกค้าได้อย่างอัตโนมัติและแม่นยำ

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และคอมพิวเตอร์วิทัศน์ (Computer Vision) ได้สร้างสรรค์เทคนิคจำลองวัตถุเสมือนจริงด้วยระบบ “AI” ที่สามารถแปลงภาพถ่าย 2D รอบวัตถุ ให้ออกมาในรูปแบบโมเดลสามมิติ (3D) โดยให้ผลลัพธ์เสมือนจริง จนยากที่จะแยกแยะด้วยตาเปล่า เทคนิคนี้สามารถจำลองวัตถุที่มีความซับซ้อนทางด้านแสงเงา เช่น ขวดโหลแก้ว หรือจานเซรามิคที่มีความเงางาม และสามารถแสดงผลแบบ Real-time ครั้งแรกของโลก ซึ่งรวดเร็วกว่างานก่อนหน้า 1,000 เท่า งานวิจัยนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมประเภท E-commerce หรือการทำ E-catalog เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเห็นภาพสินค้าที่เสมือนจริง

ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ หรือ Biotechnology for Better Life

สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (BSE) จัดตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทย และได้ริเริ่มโครงการ “ขยะเพิ่มทรัพย์” หรือ C-ROS (Cash Return from Zero Waste and Segregation of Trash) ขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาช่วยแก้ปัญหาปริมาณขยะในประเทศไทย ทั้งนี้ C-ROS มีการใช้กระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมกระบวนการ (Biotechnology and Process Engineering) เข้ามาช่วยเปลี่ยนขยะอินทรีย์จากครัวเรือน อุตสาหกรรมอาหาร และการเกษตร ให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวภัณฑ์คุณภาพสูง เช่น สารบำรุงพืชชีวภาพ BioVis อาหารพืชชนิดเข้มข้นที่ผ่านกระบวนการย่อยแบบไฮเทค มีธาตุอาหารที่พืชต้องการครบถ้วนสมบูรณ์ โดยมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย ทั้งนี้ C-ROS จัดเป็นนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญเพื่อการสร้างรากฐานสู่การสร้างสังคมไทยให้เป็น “สังคมไร้ขยะ” หรือ Zero Waste ต่อไป

นอกจากนี้ BSE ยังได้พัฒนาชุดตรวจ COVID-19 โดยใช้เทคโนโลยี CRISPR diagnostics ซึ่งมีจุดเด่นที่ความรวดเร็ว สามารถระบุผลได้อย่างแม่นยำ และสะดวกต่อการใช้งานเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยชุดตรวจดังกล่าวได้รับการรับรองทางเทคโนโลยีจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว และยังคงทำการพัฒนาชุดตรวจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความสามารถในการตรวจจำแนกสายพันธุ์เชื้อโควิด ตรวจโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ และโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังเน้นการสร้างรากฐานการผลิตส่วนประกอบของชุดตรวจ และการพัฒนาคิดค้นส่วนประกอบใหม่ๆ ภายในประเทศไทย โดยใช้หลักวิศวกรรมเอนไซม์และชีววิทยาสังเคราะห์เพื่อสร้างความยั่งยืนในการใช้งานเทคโนโลยี CRISPR Diagnostics ในประเทศไทย

ทั้งนี้กลุ่ม ปตท. ในบทบาทผู้พัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ (Wangchan Valley) มุ่งหวังให้พื้นที่แห่งนี้เป็นเมืองนวัตกรรมแห่งอนาคต ที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมสมบูรณ์แบบ รวมทั้งเป็นแหล่งสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ที่มีศักยภาพสูง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมชั้นนำในระดับนานาชาติ สู่การขับเคลื่อนทุกชีวิตเพื่อสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนในอนาคต