สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ว่า ที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( ยูเอ็นเอฟซีซีซี ) ครั้งที่ 26 หรือ “คอป 26” สามารถบรรลุข้อตกลงสำคัญฉบับแรก ตั้งแต่วันแรกของการประชุม คือเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา


ทั้งนี้ มากกว่า 100 ประเทศ ร่วมกันให้สัตยาบัน ยุติการตัดไม้ทำลายป่า และการเพิ่มมาตรการปกป้องทรัพยากรดิน ภายในสิ้นทศวรรษนี้ หรือภายในปี 2573 โดยประเทศที่ร่วมลงนามรวมถึง อินโดนีเซีย บราซิล และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ( ดีอาร์คองโก ) ขณะที่อย่างน้อย 28 ประเทศซึ่งเห็นชอบกับข้อตกลงนี้ ให้คำมั่นนำการแผ้วถางป่าออกจากกระบวนการผลิตพืชทางการเกษตรหลายชนิด รวมถึง ปาล์ม โกโก้ และถั่วเหลือง


ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการยกระดับปฏิญญานิวยอร์ก ที่ลงนามโดยประมาณ 40 ประเทศ เมื่อปี 2557 โดยนับจากนี้จนถึงปี 2568 สหราชอาณาจักร และอีก 11 ประเทศ จัดสรรงบประมาณรวมกัน 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 399,216 ล้านบาท ) เพื่อสนับสนุนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ในการจัดการกับวิกฤติไฟป่า และเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรดิน ขณะที่บริษัทเอกขนขนาดใหญ่อีกมากกว่า 30 แห่ง ร่วมสนับสนุนเงินทุนอีกจำนวนหนึ่งด้วย


นอกจากนี้ รัฐบาลของ 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ร่วมด้วยหน่วยงานเอกชนอีก 17 แห่ง ให้คำมั่นลงทุนร่วมกันเป็นมูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 56,555.60 ล้านบาท ) เพื่อสนับสนุนโครงการอนุรักษ์ธรรมชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วโลก ที่รวมถึงการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในป่าเขตร้อน และการรักษาสิทธิในการครองครองที่ดิน.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES