สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ว่าบริษัทไฟเซอร์เผยแพร่รายงาน เกี่ยวกับผลเบื้องต้นของการทดสอบประสิทธิภาพยาค็อกเทลชื่อ “แพกซ์โลวิด” (Paxlovid) ยารักษาโควิด-19 แบบรับประทาน ร่วมกับยา “ริโทนาเวียร์” จากกลุ่มตัวอย่าง 1,219 คน ซึ่งมีอาการป่วยแบบเบาบางไปจนถึงปานกลาง และผู้ติดเชื้อแต่ละคนมีปัจจัยเสี่ยงให้อาการทวีความรุนแรงหรือถึงขั้นเสียชีวิต อย่างน้อยคนละ 1 แบบ เช่น การเป็นโรคอ้วนหรือมีอายุมาก


ทั้งนี้ หลังรับประทานยาแพกซ์โลวิดวันละสองครั้ง ครั้งละ 3 เม็ด ต่อเนื่องภายในสามวันแรกของอาการป่วย โดยยังไม่มีการเปิดเผยอย่างชัดเจนว่าเป็นยาริโทนาเวียร์กี่เม็ด และยาของไฟเซอร์กี่เม็ด แต่ปรากฏว่า มีเพียง 0.8% ของอาสาสมัครต้องเข้าโรงพยาบาลในช่วงเวลาดังกล่าว และไม่มีผู้เสียชีวิตหลังผ่านพ้น 28 วัน ในขณะที่อาสาสมัครซึ่งได้รับยาหลอกมีอัตราการเข้าโรงพยาบาล 7% และเสียชีวิต 7 ราย


อัตราดังกล่าวใกล้เคียงกับการให้ยาภายใน 5 วันแรกของอาการ ปรากฏว่า อัตราการเข้าโรงพยาบาลอยู่ที่ 1% ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีอัตราการเข้าโรงพยาบาลอยู่ที่ 6.7% และเสียชีวิต 10 ราย บ่งชี้ว่า เพื่อให้ยามีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ป่วยควรได้รับยาทันที โดยไม่ควรต้องรอให้แสดงอาการ


แม้ไฟเซอร์ยังไม่ได้ให้ข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งเกิดจากการได้รับยาแพกซ์โลวิด แต่กล่าวว่า มีสัดส่วน “ใกล้เคียงกัน” ทั้งในกลุ่มได้รับยาจริงและยาหลอก คือ “ประมาณ 20%” และเตรียมยื่นเรื่องให้คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (เอฟดีเอ) พิจารณารับรองเป็นกรณีฉุกเฉินแล้ว


เกี่ยวกับเป้าหมายของการผลิตยาแพกซ์โลวิด ไฟเซอร์คาดการณ์ศักยภาพการผลิตไว้ที่ “มากกว่า 180,000 ชุด” ภายในสิ้นปีนี้ และเพิ่มเป็นอย่างน้อย 50 ล้านชุด ภายในสิ้นปี 2565 จากจำนวนดังกล่าวจะเป็นการผลิตภายในช่วงครึ่งปีแรก 21 ล้านชุด

ด้านบริษัทเมอร์ค ผู้ผลิตยา “โมลนูพิราเวียร์” ที่ลดอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้ประมาณ 50% ยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการ แต่หุ้นของเมอร์คดิ่งลง 6% ทันทีที่ไฟเซอร์เผยข้อมูลของยาแพกซ์โลวิด ส่วนราคาหุ้นของไฟเซอร์พุ่ง 13%.

เครดิตภาพ : AP