ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ทีมนโยบายของ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เผยถึงแนวนโยบายที่จะผลักดันเป้าหมาย “สร้าง กทม. ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ของทุกคน” ว่า เป็นหนึ่งนโยบายที่ไม่ง่าย และต้องอาศัยเวลาด้วยปัจจัยเกี่ยวข้องหลายด้าน โดยเฉพาะการเป็นเมืองใหญ่ และมีประชากรแฝงจำนวนมาก มีความแตกต่างทางชนชั้น เปรียบเหมือนฐานล่างของพีระมิดที่เป็นคนกลุ่มใหญ่และได้รับผลกระทบส่วนยอดพีระมิดสัดส่วนน้อยมีรายได้สูง ดังนั้น การกำหนดนโยบายเริ่มต้นจึงมองว่าควรให้ความสำคัญการแก้ปัญหาชุมชนเมืองและปัญหาเร่งด่วน เช่น ปัญหาปากท้อง การเข้าถึงแหล่งที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และการเข้าถึงระบบการศึกษา เพื่อสร้างคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่จริงในชุมชนหลายแห่งทำให้เห็นภาพและได้ข้อมูลเชิงลึก เบื้องต้นจากที่ลงพื้นที่ชุมชนแออัดกว่า 10 แห่ง พบปัญหาใหญ่สุดคือ การไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงซึ่งเกี่ยวโยงทับซ้อนกับปัญหาเชิงรายได้ โดยมองว่าเมื่อรายได้ไม่มี ก็ไม่มีที่อยู่อาศัย หนี้ครัวเรือนก็สูง ทำให้เกิดหนี้นอกระบบ เด็กไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ ไปจนถึงปัญหายาเสพติด อาชญากรรม ทุกอย่างส่งผลกระทบกันไปหมด การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชนจึงต้องดูทั้งระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อให้นโยบายที่จัดทำขึ้นสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

“โมเดลที่คิดคือจะทำให้บ้านเค้าอยู่ในที่เดิม เพื่อให้ทำงานที่เดิมได้อย่างไร ซึ่งต้องหาที่ที่เอกชนไม่ซื้อ โมเดลก็จะคล้ายๆ กับการเคหะแห่งชาติตั้งเป็นธุรกิจเพื่อสังคมหรือ SE ต้องปรับปรุงและแก้ไขข้อกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเราก็หารือกับหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว” ดร.เกษรากล่าว

พร้อมกันนี้ ยังมองถึงนโยบายการเข้าถึงการศึกษา ที่สามารถนำมาเป็นจุดเริ่มต้นผลักดันให้คนในเจเนอเรชั่นที่ 2 มีชีวิตที่ดีกว่าเจเนอเรชั่นแรก โดยต้องมองในแง่รายได้พ่อแม่ที่สามารถส่งลูกเข้าโรงเรียนได้อย่างสม่ำเสมอ เน้นมองทั้งระบบนิเวศ ดังนั้น จึงมีมองแนวทางจัดตั้งเนอร์สเซอรี่ภายในชุมชน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กในช่วงเวลาที่พ่อแม่ออกไปทำงาน และป้องกันการมั่วสุมในช่วงหลังเลิกเรียน ซึ่งเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การไม่เรียนหนังสือ รวมถึงการฝึกอบรมอาชีพตามความต้องการของคนในชุมชนเพื่อให้มีอาชีพและมีรายได้มั่นคงขึ้น ตลอดจนมีการจัดตั้งสหกรณ์ชุมชนเพื่อเอื้อถึงแหล่งเงินทุน ด้วยการจัดตั้งกลุ่มและให้คนในชุมชนดูแลกันเอง และปล่อยเงินกู้ให้คนในชุมชนนำไปเป็นทุนประกอบอาชีพ ลดการเป็นหนี้นอกระบบซึ่งเป็นปัญหาหลักของหนี้สินทุกวันนี้.