เรียกเสียงฮือฮาจากแฟน ๆ พร้อมเพิ่มความคึกคักให้วงการเพลงไทย เมื่อ “ทรินิตี้  (TRINITY)” เจ้าของฉายา “บอยกรุ๊ปแห่งชาติ” ภายใต้หลังคาบ้าน “โฟร์โนล็อค (4NOLOGUE)” ได้คัมแบ๊คอย่างยิ่งใหญ่ในรอบ 2 ปี ด้วยรูปแบบอัลบั้มเต็มครั้งแรก EP.1 ในชื่อว่า “บรีธ (BREATH)”  ซึ่งทั้ง 3 หนุ่มสมาชิก อย่าง เติร์ด-ลภัส งามเชวง , ปอร์เช่-ศิวกร อดุลสุทธิกุล และ แจ๊คกี้-จักริน กังวานเกียรติชัย ได้สร้างกระแสร้อนแรง ติดท็อปเทรนด์ในทวิตเตอร์ ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหว และแน่นอนว่าการกลับมาครั้งนี้ก็ไม่ธรรมดา เพราะแท็กทีมมากับทีมโปรดักชั่นระดับแถวหน้าของเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น แบลตตินั่ม มิวสิค ทีมแวง (BLATINUM MUSIC TEAM WANG) , รีจอน ฟิล์ม (RIGEND FILM), LESS (LESS PHOTO : เลส โฟโต้) ที่พร้อมมาสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้

โดยมีเพลงไตเติล อย่าง “ไลฟ์ เอนท์ โอเวอร์ (LIFE AIN’T OVER)”  ที่ถ่ายทอดถึงการเติบโตและมุมมองของ “ทรินิตี้” ล่าสุด “บันเทิงเดลินิวส์” ได้มีโอกาสพูดคุยได้มีโอกาสพูดคุยกับ เติร์ด  , ปอร์เช่  และ แจ๊คกี้ รวมถึงหัวเรือใหญ่ อย่าง วุธ อนุวัติ วิเชียรณรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร โฟร์โนล็อค จำกัด ถึงการทำงานในครั้งนี้ รวมถึงเจาะลึกดีเอ็นเอความเป็น “โฟร์โนล็อค” และ “ทรินิตี้” ทั้งแพสชั่นการทำงาน ระบบความคิด วิธีบาลานซ์ระหว่างตัวตนและความพอใจของแฟน ๆ รวมถึงเป้าหมายในการขับเคลื่อนวงเพลงไทยบนเวทีสากลที่คาดหวังไว้  เชื่อว่าจะทำให้ “ทไวไลท์”  (TWILIGHT  : ชื่อแฟนคลับ) และทุกคน ได้เห็นและเข้าใจในความเป็นตัวตนของ  “ทรินิตี้” มากยิ่งขึ้น

เปิดใจ วุธ อนุวัติ เจาะลึกการสร้างสรรค์ผลงาน “TRINITY”

Q : ถามถึงการคัมแบ็กของ “TRINITY”  ครั้งนี้ ในช่วงที่หายไปแฟน ๆ รอคอยมาก พอกลับมาก็ยิ่งใหญ่อลังการ เตรียมตัวในการคัมแบ๊กครั้งนี้ยังไง?

วุธ อนุวัติ : เอาจริง ๆ เลยคือเตรียมไว้นานแล้ว การคัมแบ๊กครั้งนี้มันอยู่ในแพลนตั้งแต่ต้น ถูกวางไว้ตั้งแต่ก่อนโควิด ซึ่งพอสถานการณ์ทุกอย่างทั้งโควิด และสิ่งต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้น หากเห็นภาพในสิ่งที่เราเตรียมไว้วันนี้ แต่ถ้าเราปล่อยไปในวันนั้น ด้วยสิ่งที่เราเตรียมไว้ขนาดนี้ ในสถานการณ์โควิด ณ ช่วงเวลานั้น ที่เจอคนไม่ได้ จัดคอนเสิร์ตไม่ได้ ไปเจอแฟน ๆ ไม่ได้ ศิลปินจะรู้สึกยังไง ทุกคนจะทำยังไงต่อ เลยมีการทำชิ้นงานคั่นมาตลอด มี ‘ไฟฟ์ ฟิฟตี้-ไนน์ (5:59)’ , ‘เยสเท่อร์เดย์ ทูเดย์ ทูมอร์โร่ว (YESTERDAY TODAY TOMORROW)’  จริง ๆ การคัมแบ๊กครั้งนี้มันควรออกตั้งก่อนโควิดมาเลย ช่วงเดือน ก.พ. หรือ มี.ค. ปี 63 วันที่อู่ฮั่นเริ่มประกาศเมื่อเดือน ม.ค.  ปี 63 ตอนนั้นเรายังคิดแค่ว่าคงเหมือนไข้หวัดนกมั้ง คงไม่มาถึงเราหรอก พอถึงเดือน ก.พ. ปุ๊บ เราเลื่อนคอนเสิร์ตของก็อตเซเว่น (GOT7 2020 WORLD TOUR ‘KEEP SPINNING’ IN BANGKOK ) ที่ราชมังคลากีฬาสถานออกไป ตอนนั้นเรารู้แล้วว่ามันเริ่มซีเรียสแล้ว แต่ ณ วันนั้นจนถึงวันนี้ เอาตรง ๆ คือเราไม่รู้อนาคตเลยว่ามันจบลงเมื่อไหร่ เราก็คิดว่าอีก 6 เดือน มันอาจดีขึ้น คือความคิดอีกปีนึงตอนแรกยังไม่มีเลย พอผ่านเวฟสอง เวฟสามแล้ว เรารู้สึกว่าไม่ได้แล้ว ถ้าต้องรอนานขนาดนั้น แฟน ๆคงรอไม่ไหว ถ้าอย่างนั้นเราทำ ‘ไฟฟ์ ฟิฟตี้-ไนน์’ และ ‘เยสเท่อร์เดย์ ทูเดย์ ทูมอร์โร่ว’ ออกมาก่อน แล้วก็รอจังหวะที่คิดว่าเหมาะสมที่สุด ที่จะปล่อยตัวอัลบั้มเต็มนี้ครับ

Q : จากเดิมแพลนที่จะปล่อยช่วงปี 63 แต่เพราะสถานการณ์ทำให้ต้องมาปล่อยในปีนี้ ด้วยเทรนด์ต่าง ๆ ทำให้เราต้องมีการปรับเปลี่ยนคอนเซ็ปต์มากมั้ย?

วุธ อนุวัติ : เอาจริง ๆ เราไม่ได้เปลี่ยนตามเทรนด์ เป็นตัวเราเลย ด้วยความที่ ‘ทรินิตี้’ มีคอนเซ็ปต์ของเขา มันมีรูปแบบดนตรีที่เป็น ‘ทรินิตี้’ มันเป็นวงที่ถูกสร้างมาในยามทไวไลท์ คอนเซ็ปต์มันไม่เคยเปลี่ยน คือในยามทไวไลท์หมายถึงช่วงที่ทุกคนควรมีความสุข ด้วยรูปแบบของเพลง หรืออะไรก็ตาม มันก็จะเป็นในรูปแบบของเขาครับ กล้าพูดได้เลยว่าไตเติลแทร็ก ‘ไลฟ์ เอนท์ โอเวอร์ (LIFE AIN’T OVER)’ มันมีการเปลี่ยน แต่เชื่อมั้ยว่าดนตรีทุกอย่างยังเหมือนเดิมหมดเลย แต่เปลี่ยนเนื้อหาทั้งหมด แต่งเพลงใหม่ทั้งหมด ตอนแรกเนื้อหาเป็นฟีลสนุกสนาน อันนี้เปลี่ยนเป็นให้พลังใจกันครับ

Q : ครั้งนี้  “TRINITY” กลับมาพร้อมกับการร่วมงานกับทีมโปรดักชั่นเบอร์ใหญ่ของเอเชีย ทั้ง BLATINUM MUSIC TEAM WANG (แบลตตินั่ม มิวสิค ทีมแวง) , RIGEND FILM (รีจอน ฟิล์ม), LESS (LESS PHOTO : เลส โฟโต้) รวมถึง แทน ลิปตา เล่าถึงการได้ร่วมงานกันบุคคลเหล่านี้หน่อย?

วุธ อนุวัติ : จริง ๆ แล้วโฟโนล็อคพูดตั้งแต่ต้นเลยว่า คำว่า ‘เวิล์ด สแตนดาร์ด (World Standard)’ และพอพูดก่อนก็มักจะเจ็บก่อน (ยิ้ม) เหมือนเราเซ็ตมาตรฐานของเรา จริง ๆ คำนี้ไม่ได้ซับซ้อน มันเป็นที่มาที่ไปของการเลือกทีมงานด้วย หมายถึงว่า วันนี้ ‘โฟร์โนล็อค’ และ ‘ทรินิตี้’ แม้แต่มีศิลปินเบอร์ใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเหมือนกัน ไดเร็คชั่นเราชัดเจนว่า เราทำมาเพื่อการแข่งขันในตลาดโลก ไม่ได้หมายถึงว่าเราไม่ให้ความสำคัญกับคนไทยนะ เพราะทุกวันนี้คนไทยก็เสพผลงานระดับโลกทั้งนั้น เราแต่มองวันนี้ถ้าจะยกระดับวงการเพลง หรือที่ทุกคนเรียกกันติดปากว่า ‘ซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power)’ และเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ ที่ฝั่งภาครัฐเขาไม่ได้สนใจขนาดนั้น เราก็ต้องพยายามเอาเอง ดังนั้นมันเลยเกิดที่มาว่าเราอยากได้ผลงานที่ไประดับโลกให้ได้ เลยเริ่มต้นที่ทีมงาน ที่เขาทำงานระดับโลกได้ แต่ว่าการมีคอนเนคชั่นที่ดีและมีทีมงานที่ดี มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น ศิลปินเราก็ต้องพร้อม เพราะว่าถ้าเราไม่ดีจริง ๆ หรือเขารู้สึกว่าทำไมเขาต้องทำให้ (หัวเราะ) เพราะต้องบอกว่าและทีมที่ทำ เขาก็ยุ่งและมีสิ่งที่เขาต้องทำเยอะมาก แต่การวางแผนในการทำงานครั้งนี้ มันผ่านการพูดคุยเป็นปีเลยครับ และรอการถ่ายทำ

Q : เราเอาจุดแข็งตรงไหนของ “TRINITY” ไปนำเสนอทีมงานระดับอินเตอร์ ให้เขามาร่วมงานด้วย?

วุธ อนุวัติ : พลังของตัวเด็กเองเลยครับ เพราะตัวเด็กเองก็มีโอกาสได้คุยกับทีม มาตรฐานแรกของเวิลด์ สแตนดาร์ด คือความสามารถ เราไม่ได้บอกว่า ‘ทรินิตี้’ เก่งที่สุด แต่อย่างน้อยถ้าเรื่องการเพอร์ฟอร์ม เรื่องการร้องก็ขอให้มีมาตรฐาน ต้องฮิตโน้ต (Hit note) ได้  ส่วนไฮท์ โน้ต (High note) คุณก็ต้องถึง สิ่งพวกนี้พอไปถึงโปรดิวเซอร์เมืองนอก เขาก็จะรู้ว่าเพลงนี้เขาสามารถทำได้ถึงขั้นไหน มันก็กลับมาที่ความสามารถของเด็ก ถ้าวันนี้คุณบอกเพลงของ ‘ทรินิตี้’ เสียงสูงมาก จนร้องตามไม่ได้เลย คือจริง ๆ มันเป็นเรื่องที่ว่าทางทีมงานต่างชาติมองว่าถ้าศิลปินมีศักยภาพ เขาก็อยากดันให้สุด เลยเป็นที่มาว่าทำไมเพลงของ ‘ทรินิตี้’ ถึงค่อนข้างมีความซับซ้อน (Complicated) มีโน้ตที่ค่อนข้างสูง และมีรายละเอียดดนตรีที่ค่อนข้างเยอะ อีกอันก็เป็นรสนิยมส่วนตัวของพวกเรา ทั้ง ‘โฟร์โนล็อค’ และ ‘ทรินิตี้’ ด้วย เราชอบงานที่มีรายละเอียด มันไม่ใช่แค่เพลง แต่มีทั้งเรื่องการปล่อยรูปนึง หรือชื่ออัลบั้ม อย่าง อีพี 1 ‘บรีท (BREATH)’ พรีเซ็นเทชั่นเกือบสองร้อยหน้า กว่าที่มันจะเคาะออกมาเป็นคำว่า ‘บรีท’ คำเดียว กว่ามันจะกลั่นกรองออกมาได้ เพราะว่าคอนเซ็ปต์นั้นมาจากเรา แต่ทีมโปรดักชั่นเราใช้อินเตอร์ เราต้องเอาแพสชั่นเนส เอาไอเดียที่คิดว่ามันเหมาะกับศิลปินไทยด้วย เราไม่ได้อยากเป็นเคป๊อป (K-POP) สอง เคป๊อปสาม คือเคป๊อปมันดีมากอยู่แล้ว แต่เราอยากเป็นทีป๊อป (T-POP) ที่มีมาตรฐาน เพราะฉะนั้นสารตั้งต้นมันต้องเกิดจากเรา แต่เราอยากยืมมือคนที่เจ๋ง ๆ ช่วยทำให้สารตั้งต้นตรงนี้เป็นภาพที่ชัดเจนขึ้นเท่านั้นเอง ในเชิงเบื้องหลังถ้าทุกคนข้างนอกรู้ คือเราเหนื่อยมาก แต่สนุก (ยิ้ม) ซึ่งที่ออกมาเป็นสองร้อยหน้าแบบนี้ ศิลปินต้องมีส่วนร่วมทั้งหมด เข้ามานั่งพูดคุยกัน รีเสิร์จกัน เปิดพรีเซ้นต์ด้วยกัน ชอบตรงไหน ไม่ชอบตรงไหนก็แชร์ไอเดียกัน จนได้ชิ้นงานอัลบั้มนี้ ที่รู้สึกเป็นตัวเรามากที่สุดแล้วครับ

Q : พูดถึงคอนเซ็ปต์ในการคัมแบ๊กครั้งนี้ กับ EP.1 “BREATH”  หน่อย?

วุธ อนุวัติ : สำหรับคอนเซ็ปต์ อีพี 1 ‘บรีท’ มันมาจากไตเติลแทร็ก ‘ไลฟ์ เอนท์ โอเวอร์’ ที่แปลว่าชีวิตมันยังไม่จบแค่นี้หรอก มันเป็นเรื่องการแพร่ระบาดของโรค (Pandemic) ทั้งโลก คือวันนึงที่มันมีโควิดเกิดขึ้น มีสถานการณ์ที่หนักมาก ๆ เกิดขึ้น เราก็รู้สึกว่าอยากให้ดนตรี มันเป็นตัวนึงที่ทำให้คนรู้สึกไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ชีวิตต้องมูฟออน ต้องไปต่อ ชีวิตมันยังอยู่  และเราจะไปต่อกับมัน ก็คือสอดคล้องกับ ‘ลมหายใจ’ มันคือเรื่องของ ‘บรีท’ แต่ในเชิงลึก มันจะเป็นเชิงวิทยาศาสตร์ คอนเซ็ปต์ของการเล่าเรื่องมันจะเป็นเหมือนทฤษฎี 7 นาที (7 Minutes Theory) เป็นเหตุการณ์ 7 นาทีที่คนกำลังจะตาย แล้วฟื้นขึ้นมา นี่คือคอนเซ็ปต์ของการทำชิ้นงานที่หนึ่ง ฟังแล้วจะมีเสียงของเรื่องลมหายใจ ทุกอย่างครับ แต่ละอันที่เอามาผูกกัน มันไม่ใช่แค่อาร์ตที่สวยงาม ทำไมถึงมีไอน้ำ มันคือคอนเซ็ปต์หมดเลยที่ผูกโยงกัน และแฟนคลับของเราก็ไม่ธรรมดา เราเลยต้องทำอะไรแบบนี้ แฟนคลับของเราเขาเป็นยิ่งกว่าโคนัน (ยิ้ม) เอาตรง ๆ นะเขาเก่งมาก ผมก็อึ้ง! สิ่งที่เขาโพสต์หลายอย่างมาก นั่นคือเนื้อเพลง เป็นไปได้ยังไง คือเรารู้สึกว่าข้อมูลหลุดรึเปล่าเนี่ย (ยิ้ม) ผมอยากบอกว่าบางอย่างเขาตีความจนเหมือนว่านั่นเป็นท่อนนึงของเพลงเลย! แต่ลึก ๆ ทีมและศิลปินทุกคนดีใจ ที่ว่าทำไมเขาเห็นแค่นี้แล้วเขาสามารถจินตนาการไปถึงแม้กระทั่งเวิร์ดดิ้ง ที่เป็นเนื้อเพลงในนั้น เขารู้ได้ยังไง แต่ ‘โฟร์โนล็อค’ และ ‘ทรินิตี้’ นั้นเป็นดีเอ็นเอเดียวกันมาก ๆ จนทุกวันนี้ผมก็กล้าพูดว่า ตัว ‘ทไวไลท์’ (ชื่อแฟนคลับ) ก็เหมือนเป็นดีเอ็นเอเดียวกันแล้ว มันจะมีความรู้สึกว่าชอบในงานอาร์ต ชอบอะไรที่ดูเหมือนต้องค้นหา ต้องติดตาม ชอบทุกอย่างที่ต้องมีที่มาที่ไป มันก็เป็นสิ่งนึงที่ทำให้ทีมงานและศิลปิน จะมีเส้นสแตนดาร์ดที่ขีดไว้ ซึ่งเราจะต่ำกว่านี้ไม่ได้ ถ้ารู้ง่ายเกินไป ถ้ามันเดาง่ายเกินไป เราต้องซวยแน่ ๆ เลย (ยิ้ม) เลยเป็นการท้าทายของทั้งทีมงานและศิลปินด้วย ดังนั้นการทำชิ้นงานทุกชิ้น มันเลยยากจังเลย นานจังเลย กว่าจะกลั่นกรองออกมา ทำไมต้องเข้าห้องอัดหลายรอบขนาดนี้ ฟีลลิ่งมันยังไม่ถึง ยังต้องอีกนิดนึง ๆ ‘ไลฟ์ เอนท์ โอเวอร์’ มันต้องอีกนิดนึง คือที่แก้ไม่ใช่เป็นเพราะน้องร้องไม่ดีด้วยนะ แต่คือเรื่องของฟีลลิ่ง ที่ทั้งทางโปรดิวเซอร์หรือทางโปรดักชั่นเมืองนอกมองว่ามันต้องได้อีกรึเปล่า เราไม่รู้ว่าเข้าไปอัดใหม่มันจะดีกว่ารึเปล่านะ แต่ถ้าไม่เข้าไป ความรู้สึกมันยังติดอยู่ในหัว ก็ต้องทำ

Q : แปลว่าผลงานชิ้นนี้มีความละเอียดมาก ๆ สมการรอคอย?

วุธ อนุวัติ : อันนี้ให้ทไวไลท์ แฟนคลับ และพี่ ๆ สื่อมวลชน เป็นคนตัดสิน (ยิ้ม) แต่ทุกอันเราตั้งใจสุด ๆ แต่ทุกวันที่ผ่านไป ทุกวิกฤติที่เกิดขึ้น ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต มันทำให้เราโตขึ้น ทั้งศิลปินและบริษัท และเราก็มั่นใจว่าผลงานทุกชั้นมันต้องดีขึ้น อันนี้ในมุมมองของคนทำงานนะครับ

Q : ฟีดแบ๊กจากแฟน ๆ ก็ตื่นเต้นมาก ครองเทรนด์ทวิตเตอร์อยู่หลายวัน รู้สึกยังไงกับการตอบรับแบบนี้?

วุธ อนุวัติ : ปลื้มใจมากนะครับ บอกตรง ๆ เลยว่านี่มันเป็นกำลังใจที่ดีมาก ไม่ใช่แค่ในส่วนของศิลปิน เดินเจอกันในบริษัทก็แซวกัน เป็นยังไง พูดง่าย ๆ ว่ามันคือความอัดอั้นของเราด้วย ความอัดอั้นของศิลปินและแฟนคลับด้วย และพอปล่อยออกมา ด้วยฟีดแบ๊ก ผมเชื่อว่าเขาดูออกว่าเราตั้งใจที่จะทำทุกอย่างให้มันดี เชื่อว่าศิลปินมีความตั้งใจ ดังนั้นพอฟีดแบ๊กที่กลับมา มันเต็มเติมมาก ๆ และเหมือนเป็นไฟที่จุดให้เรา ว่าเป็นเอาสิ! เดี๋ยวเราจะไปได้อีก เดี๋ยวเราจะทำอีก คือที่ผ่านมามันก็มีฟีดแบ๊กที่หลากหลาย ทั้งติและชม แต่ในเชิงคนทำงาน ส่วนตัววุธรู้สึกเหมือนเป็นเรื่องปกติมาก ๆ สำหรับเราที่ยืนอยู่ตรงจุดนี้ แต่เราแค่ต้องเข้าใจว่าอะไรที่เราควรปรับ อะไรที่เป็นตัวตน ผมพูดกับน้อง ๆ และทีมงานทุกคนว่าเราต้องไม่หลงทางนะ หนึ่งคือเราต้องไม่มีอีโก้ในการทำงาน แต่เราต้องรู้ว่าตัวตนของเราคืออะไร อะไรที่มันปรับแล้วดีกับแฟนคลับ ดีกับศิลปิน และกับตัวเราเอง ทำไมเราจะไม่ทำ เราต้องทำ แล้วอะไรที่เป็น ‘โฟร์โนล็อค’ ก็คือคุณภาพ ถ้าเรายึดคำนี้ไว้คำเดียวเลย คำว่าเวิล์ด สแตนดาร์ดและคุณภาพ ไม่ว่าอะไรก็ตาม สิ่งนี้จะไม่มีวันเปลี่ยน แต่ที่เหลือมันสามารถปรับได้หมด อันนี้คือมุมมองของเราอย่างตรงไปตรงมาเลยว่า ‘โฟร์โนล็อค’ และ ‘ทรินิตี้’  มันขีดเส้นไว้แล้วว่าสแตนดาร์ดเป็นแบบนี้ เราต่ำกว่านี้ไม่ได้ เราคีพอันนี้ไว้ ที่เหลือเราฟังเสียงของทุกคน เขามองว่ายังไง ต้องการอะไรอะไรที่เราปรับได้ เราทำ แต่ถ้าวันนี้จะบอกว่าเพลงแบบนี้ มันเข้าถึงยากเนอะ เรารู้สึกว่าเพลงมันไม่ได้เข้าถึงยากหรือง่ายหรอก มันแค่อยู่ที่เราเปิดใจ และวันนี้เราก็อยากให้เพลงของ ‘ทรินิตี้’  หรือในเชิงของค่าย เราเชื่อว่างานที่ทำเราก็ตั้งใจ เราใส่รายละเอียดกับมัน เชื่อว่าวันนึงที่เราทำไปเรื่อย ๆ ทุกคนจะรับรู้ได้เองว่าเรามีความตั้งใจมากขนาดไหน ในการทำชิ้นงานแต่ละชิ้นครับ

Q : มันยากมั้ยในการบาลานซ์ตัวตน กับความต้องการของแฟน ๆ?

วุธ อนุวัติ : ไม่ยากเลย เพราะเอาจริง ๆ พอเราโตขึ้น หรือเห็นทุกอย่างมากขึ้น เรามีเป้าหมายที่เราต้องไป และเราไปคนเดียวไม่ได้ เรามีศิลปินที่ต้องดูแล มีกลุ่มแฟนคลับที่ต้องสนับสนุน เรามีพี่ ๆ สื่อมวลชน เรามีทุกคน วันนี้เราถึงบอกว่าทำยังไงดีที่จะทำให้เราไม่สับสนในการทำงาน เพราะฉะนั้นนโยบายเราจึงชัดเจนว่า ถ้าตรงนี้แฟนคลับมองว่ามันมีประโยชน์ต่อศิลปิน ต่อค่าย และเรามองว่ามันจริงก็ทำเลย แต่ว่าในมุมนึงคือตัวตนของ  ‘โฟร์โนล็อค’  ก็ง่ายนิดเดียว คือชิ้นงานทุกชิ้นที่ปล่อยไป มันคือคุณภาพที่ต้องรักษาเอาให้ได้ นี่คือความยากที่สุด การปรับตัวไม่ยากเลย แต่รักษาคุณภาพอันนี้ยากกว่า เพราะทุกครั้งที่มันขีดเส้นแล้ว เส้นต่อไปคือต้องขีดขึ้นไปตลอด ไม่ใช่เส้นเดิมด้วย โอเคพอเราประสบความสำเร็จในเส้นที่ขีดนี้ งานหน้าทำอะไรดี (หัวเราะ) ตอนนี้ต้องไปถึงไหนกันแล้ว มันก็เป็นความท้าทายของแก๊งครีเอทีฟ เป็นความท้าทายของศิลปิน ‘ทรินิตี้’ และเป็นความท้าทายของผู้กุมนโยบายด้วย เอาวะ! ขีดเส้นต่อไป แต่มันสนุกมากเลย

Q : เห็นการทำงานครั้งนี้มาพร้อมกับการลงทุนมหาศาล เอ็มวีเพลงนี้ก็เกือบ 20 ล้านบาท?

วุธ อนุวัติ : พูดแล้วเราจะดูน่าหมั่นไส้มั้ย (ยิ้ม) คือเราไม่ได้มองว่าเยอะหรือน้อย แต่เรามองว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็น คือสิ่งที่เราต้องการมันก็ต้องแลกกับอะไรบางอย่าง ศิลปินอยากเก่งก็ต้องซ้อม ค่ายอยากได้งานที่ดีมาก ก็ต้องจ่าย ต้องมีการลงทุน ถ้าจะเคลมว่าเอ็มวี 20 ล้านบาทอาจมากเกินไป แต่มันเป็นชิ้นงานแรก เพราะไม่ได้มีแค่เอ็มวี มันมีอะไรที่เรายังไม่บอกออกไปด้วย เอาเป็นว่าเพลงแรกไตเติ้ลแทร็ก ‘ไลฟ์ เอนท์ โอเวอร์ (LIFE AIN’T OVER)’  ในพาร์ทที่เป็นโปรดักชั่น เกี่ยวกับเพลง เอ็มวีและชิ้นงานโปรโมต ภาพนิ่ง ภาพวิดิโอทั้งหลาย เพลงเดียวก็ 20 ล้านบาท

Q : การลงทุนในเศรษฐกิจแบบนี้ ก็เป็นอีกความท้าทาย?

วุธ อนุวัติ : ผมว่า ‘โฟร์โนล็อค’  เติบโตมากับการท้าทายแบบนี้ตลอด เรารู้สึกว่าถ้าทุกอย่างแย่ เราต้องทำให้มันดี ถ้าเศรษฐกิจแย่ เราก็ต้องทำให้มันดี เพราะถ้าเรารอให้เศรษฐกิจดี ก็เมื่อไหร่กัน ในภาวะแบบนี้เราก็รู้ว่าประเทศเราไม่พร้อมในทุกด้านเลย แต่ ‘โฟร์โนล็อค’ ก็มีความรักชาติบ้านเมือง รักคนของเรา รักแฟนคลับของเรา เราอยากทำให้เขามีความสุข เราอยากให้ศิลปินและทีมงานของเรามีความสุข และเราก็อยากมีความสุขเหมือนกัน เราอยากได้ข้อความที่เป็นกำลังใจ เราอยากให้ทุกคนที่เสพงานเรามีความสุข ก็ต้องทำตอนนี้แหละ เราอาจเป็นบริษัทที่ค่อนข้างบ้าบิ่น เราไม่ได้ตามทามมิ่งอะไรเท่าไหร่หรอก (ยิ้ม) แต่เราคิดจริง ๆ ว่าถ้าไปรอให้ทุกอย่างดีขึ้นแล้วทำ เรากลัวไม่ได้ทำ มันจะนานเกินไป เหมือนในวีทีอาร์ตัวแรก ‘บรีท ออร์ เดธ (Breath or Death)’ ไม่ทำตอนนี้แล้วจะทำตอนไหน จะอยู่หรือจะตาย เลือกเลย แต่ ‘โฟร์โนล็อค’ เลือกอยู่ในการหายใจต่อไป

Q : ก่อนหน้านี้ “TRINITY” เดบิวท์มาพร้อมฉายา “บอยกรุ๊ปแห่งชาติ”  แล้วการคัมแบ๊กครั้งนี้ ที่มีการเติบโตมากขึ้นอีกสเต็ป เรามีความคาดหวังยังไง หรืออยากให้ภาพของ “TRINITY” ณ ตอนนี้เป็นแบบไหน?

วุธ อนุวัติ : จริง ๆ เราคาดหวังที่จะทำให้ตลาดเพลง และเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ในเมืองไทย มันเป็นสากลให้ได้สักที แค่นั้นเลย เราคาดหวังกับวงการ แต่เรามี ‘ทรินิตี้’ เป็นตัวขับเคลื่อนในพาร์ทของเรา ซึ่งความคาดหวังต่อ ‘ทรินิตี้’  ก็คือให้เขาไปได้ไกลที่สุด ในรูปแบบที่คนไทยยอมรับ สากลยอมรับ ว่าเขาเป็นศิลปินที่มีคุณภาพ นั่นแหละเป็นสิ่งที่เราต้องการ เพราะเรามองว่าถ้าเราสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา วงการของเราก็จะค่อย ๆ ขยับขึ้นไป เราเข้าใจว่าทุกอย่างมันต้องใช้เวลา มันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ทั้งหมดหรอก แต่เราเชื่อว่ามันดีขึ้นได้ และเราจะไม่ยอมแพ้ที่จะทำตรงนี้

Q : ที่มองไว้คือยากให้การคัมแบ๊กครั้งนี้ของ “ทรินิตี้” ขับเคลื่อนวงการเพลงไทยได้?

วุธ อนุวัติ : ใช่ครับ พูดง่าย ๆ ว่าอย่างน้อยวันนี้เราทำทุกอย่างให้เป็นมาตรฐานที่ดีที่สุดก่อน เป็นมาตรฐานที่สากลยอมรับ แล้วที่เหลือให้ทุกคนตัดสิน เราเป็นเหมือนโรงงานที่จะผลิตชิ้นงานออกมา เราขอทำชิ้นงานของเราให้ดีที่สุดก่อน ที่เหลือเป็นเรื่องของตลาด เรื่องของแฟน ๆ เรื่องของพี่ ๆ สื่อมวลชน และหลายคนเห็นคุณค่ากับสิ่งที่เราทำมามั้ย ถ้าทุกคนเห็นความพยายามของเรา ความตั้งใจของเรา ผมก็เชื่อว่ามันจะเป็นแรงขับเคลื่อนและผลักดัน ทั้ง ‘ทรินิตี้’  และวงการเรา ให้มันขึ้นไปได้อีก

Q : มาในครั้งนี้มีการเติบโตมาก ทั้งบริษัทเปลี่ยนโลโก้ใหม่ , เปลี่ยนโลโก้ “TRINITY”   , ทำช่องให้ “TRINITY”  , ทำโลโก้ให้แฟนคลับ และร่วมงานกับอีกหลายบริษัทใหญ่?

วุธ อนุวัติ : จุดมุ่งหมายเราชัดเจนว่าเราอยากทำเวิล์ด สแตนดาร์ด ทำทุกอย่างภายใต้มาตรฐานโลก มันหมายถึงเราไม่ได้เซ็ทมาตรฐานโลก เราแค่ใช้มาตรฐานที่มันมีอยู่ และเราอยากให้ทุกคนใช้มาตรฐานเดียวกัน ทุกอย่างมันก็จะขับเคลื่อนได้ เราไม่ได้เก่งในทุกเรื่อง เราต้องมีพาร์เนอร์ชิพที่ดี เราต้องมีคอนเนคชั่นที่ดี เราต้องมีสิ่งที่ซัพพอร์ทในแต่ละด้าน ในวันที่ ‘โฟร์โนล็อค’ สร้างทุกอย่างขึ้นมา ในการทำงานทุกอย่าง รวมถึง ‘ทรินิตี้’ เรามั่นใจว่าเรามีศิลปินที่มีแวลู (Value) กับทุกคนที่เราเข้าไปคุยด้วย ดังนั้นการร่วมมือไม่ว่าเป็นยูนิเวอร์แซล มิวสิค ในเชิงของโกลบอล ดิจิตัล ดิสทริบิวเตอร์ (Global Digital Distributor) เราก็คาดหวังว่าเพลงของเรามันจะทำงานในตลาดโลกได้ง่ายขึ้น เราตั้งใจทำ ก็อยากให้มันไปได้ไกลขึ้น เราร่วมมือกับทีมแวง (TEAM WANG) จริง ๆ เราต้องบอกว่าเขาเป็นระดับโลกนะครับ เพราะต้องยอมรับว่าในวงการเพลง ตอนนี้เกาหลีและอเมริกาก็ไม่ได้ต่างกันแล้ว ฝั่งเอเชียของเราตอนนี้ในเชิงเอ็นเตอร์เทนเม้นต์มันโตมาก ๆ เราก็มองว่าเราได้ทำงานด้วยกันอยู่แล้ว ตั้งแต่ก็อตเซเว่น ก็คุยกับเขาตรง ๆ ว่าช่วยทำอันนี้หน่อยได้มั้ย อยากร่วมงานด้วย ตัวน้องเองก็เอาด้วย เกิดเป็นเพลง ‘ไลฟ์ เอนท์ โอเวอร์ (LIFE AIN’T OVER)’ ขึ้นมา ก็เป็นความสนุก ส่วน ‘เลส โฟโต้ (LESS : LESS PHOTO )’ เขาเป็นท็อปของเกาหลีเลย ศิลปินตัวท็อปทุกคนน่าจะผ่านเลนส์ ผ่านมือเขามาหมดแล้ว เราไปถ่ายทำผลงานกันที่เกาหลีใต้ วันที่ผู้กำกับเดินมาบอก เราภูมิใจมาก ตอนแรกเขาบอกว่าเขาไม่คิดว่าคนไทยหรือศิลปินไทย จะทำได้ขนาดนี้ เขาก็ตั้งใจทำงานให้เรา และพอถ่ายจบผู้กำกับภาพนิ่งก็เดินมาบอกว่าน้อง ๆ เก่งมาก ชื่นชม หวังว่าจะได้ร่วมงานกันอีก เราก็โอ้โห! รู้สึกดีใจมาก เพราะเราก็อยากร่วมกับเขา ตอนแรกก็คิดว่าเขาอยากร่วมงานกับเราอีกมั้ย ฝีมือเราจะถึงมั้ย น้องเราโพสต์จะดีรึเปล่า ฟีลลิ่งจะได้มั้ย มันมีเรื่องอีโมชั่นนอลเยอะมากในการทำงานชิ้นนี้ ไม่ใช่แค่การถ่ายแบบ ก็ได้กำลังใจกลับมา ผู้กำกับเอ็มวีตัวนี้ใช้ 3 คน เขายกมาทั้งบริษัท เราก็คิดว่าตายแล้ว! ต้องเต้นให้ดีนะ (หัวเราะ) เอาจริง ๆ ลึกก็คิดว่าเราต้องไม่ทำให้คนไทยเสียชื่อนะ เราต้องไม่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาเสียเวลา ไม่ใช่ว่าเขาถ่ายดีมากแต่เราทำไม่ได้ แต่วันนั้นไม่มีเหตุการณ์นั้นขึ้นเลย เป็นการถ่ายเอ็มวี 3 วันที่เหนื่อย แต่จะพูดว่าเหนื่อยก็ไม่ได้ มันเป็นหน้าที่แต่มันสนุก อยู่แบบนั้น 3 วันไม่ต้องหลับต้องนอน (ยิ้ม) ถ่าย 2 วัน เว้น 1 วัน และถ่ายอีกวันนึง เป็นการถ่ายเอ็มวีที่ใช้เวลาไป 40-50 ชั่วโมง ตัดมาเหลือ 3 นาที 10 วินาที (หัวเราะ) เขาละเอียดมาก ๆ ครับ

Q : อีกหนึ่งสิ่งที่แฟน ๆ กรี๊ดมากคือการร่วมงานกับ ABYSS ดูแลกิจกรรมของ “แบมแบม GOT7” ในไทย เล่าถึงตรงนี้ให้ฟังหน่อย?

 วุธ อนุวัติ : อันนี้เป็นข่าวดังมากที่เกาหลี เพราะเขาไม่ค่อยมีอะไรแบบนี้เหมือนกัน คือภาพโฟร์โนล็อคก็จะเริ่มรีแบรนดิ้ง เริ่มมีการปรับโลโก้ใหม่ ที่สื่อถึงความคล่องตัว ความคอนเน็ค อันนี้เป็นคอนเซ็ปต์เลย มีความเป็นมินิมอลขึ้น แต่ว่ามีความเป็นอินเตอร์ โกลบอล แบรนด์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโฟร์โนล็อคจะมีคำว่าเวิล์ด สแตนดาร์ด และการที่ต้องทำให้ศิลปินไทยไปสู่ระดับโลกให้ได้ แน่นอนแบมแบมคือหนึ่งในนั้น ที่ร่วมงานตั้งแต่ก่อนก็อตเซเว่นเดบิวท์ จนเดบิวท์ จนทุกคนเติบโตแยกย้ายไปเป็น 7 ค่าย วันนึงเรารู้สึกว่าเรายังอยากทำงานกับเขาอยู่ และตัวเขาเองก็อยากทำงานกับเรา มันมีการพูดคุยมาสักระยะแล้ว แต่ว่ามันไม่สามารถลงตัวได้ง่าย ๆ ปกติที่มีดีลแบบนี้ก็จะเป็นลักษณะบริษัทร่วมทุน หรือมาเปิดสาขาที่ไทย แต่นี่ไม่ใช่ อันนี้คือเหมือนในไทยเราเป็นค่ายของเขา เราจัดการทุกอย่างที่เกี่ยวกับตัวแบมแบมและเรารู้สึกดีใจแต่มันก็เป็นภาระที่เราต้องรับผิดชอบ และต้องทำทุกอย่างให้มันดีที่สุดเหมือนกัน เพราะตัวแบมเองเขาอยู่ในจุดที่ดีอยู่แล้ว แต่เราต้องทำให้เขาดีขึ้น อยู่ในเมืองไทยเขาทำงานได้มากขึ้น รวมถึงในประเทศรอบ ๆ ด้วยที่เราดูแลเขา ก็น่าจะเป็นความท้าทายอีกอย่างนึง ที่จะมีอะไรสนุก ๆ เกิดขึ้นในเร็ววันนี้

Q : จะมีโอกาสที่ “แบมแบม” ได้ร่วมงานกับ “TRINITY”  บ้างมั้ย?

วุธ อนุวัติ : วันนี้ทุกคนเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของเรา ผมอยากพูดว่านี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ภายในไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า ทุกอย่างจะชัดเจนมากขึ้น โปรเจ็กต์ที่ทุกคนรอคอยว่าโฟร์โนล็อคจะทำอะไรหลังจากนี้ กับศิลปินเกาหลีหรือต่างประเทศจะมีอะไร เราจะมีสิ่งเหล่านั้นกลับมาบอกทุกคนแน่นอนครับ

Q : พูดถึงการทำงาน “วุธ” ถือว่าเป็นอีกคนที่คลุกคลีกับการทำงานของเกาหลีมานานมากตั้งแต่เป็นโปรโมเตอร์ และได้นำเอากระบวนการ วิธีคิด และระบบฝึกซ้อมของเกาหลีมาพัฒนา ดูแลศิลปินไทย คิดว่า ณ วันนี้ระบบนี้ยังเวิร์ค (ได้ผล) กับวงการเพลงไทยรึเปล่า?

วุธ อนุวัติ : เวิร์คร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามันจะไม่เวิร์ค นั่นเป็นเพราะศิลปินและคนที่นำไปใช้อย่างเรา ระบบของเกาหลีที่เขาสามารถสร้างเคป็อปให้เป็นระดับโลกได้ ถ้าไม่เวิร์คมันไปไม่ได้ขนาดนั้นหรอก แต่พอกลับมาในภาพบ้านเรา มันขึ้นอยู่กับศิลปินและค่ายด้วย ผมว่าทุกอย่างมันคือเรื่องเดียวกัน ต้องเข้าใจว่าเอ็นเตอร์เทนเม้นต์บ้านเรา ตั้งแต่เด็กจนโต มันโตเหมือนจีดีพีครับ มันไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ตลอดระยะเวลา วันแรกที่ผมบินไปเกาหลีเมื่อ 18 ปีที่แล้ว กับ 18 ปีผ่านไปที่เรามานั่งคุยกันวันนี้ ผมแทบไม่เห็นอะไรในเมืองไทยที่ต่างกัน ขนาดที่เกาหลีแตกต่างไปได้ขนาดนั้น เรา โตอาจ 2-3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่เขาโตแบบ 300 เปอร์เซ็นต์แล้วมั้ง ดังนั้นกระบวนการความคิดหรือแอดติจูดถึงสำคัญมาก ต่อให้คุณมีกระบวนการฝึกซ้อมที่ดีแค่ไหน กระบวนการคิดดีแค่ไหน แต่ผมต้องยอมรับว่าระบบเทรนนี (เด็กฝึก) ระบบอาร์ททิสต์ของเขากับของเรา ที่ต่างกันมากคือระบบความคิดของคนที่อยากเป็นศิลปิน ระบบความคิดของคนที่อยากสร้างศิลปิน ถ้าวันนี้เราต้องสร้างศิลปินภายใต้ข้อจำกัดของมาร์เก็ต  แคป (Market Cap) ที่เรามี เราจะพูดถึงเอ็มวีตัวละ 20 ล้านบาทไม่ได้เลย เพราะทำไปก็คือเจ๊งแน่นอน ดังนั้นผู้ประกอบการก็มีข้อจำกัด ผมเชื่อว่าหลายคนก็อยากไปเวิล์ด สแตนดาร์ดกันหมดแหละ แต่พอลงทุนปุ๊บแล้วยังไงต่อ มันก็จะวนกลับมาอยู่แบบนี้ ดังนั้นหลายที่จึงไม่กล้า ซึ่งเขาก็ไม่ผิด มาตรฐานก็จะแกว่ง ๆ ไม่ก้าวข้ามกันสักที ส่วนในมุมของเด็ก ๆ เขาจะเอาแอดติจูดมาจากไหน เขาเติบโตมาจากการเริ่มต้นที่หน้าตาดี เดินสยามแล้วมีสิทธิ์เป็นดาราได้ วงการเรามันเริ่มต้นแบบนั้น แต่ที่เกาหลีถ้าคุณอยากเป็นศิลปิน ภาพมันชัดมากว่าซ้อมหรือยัง เตรียมพร้อมออดิชั่นหรือยัง ไม่ต้องรอให้ค่ายเรียกไปฝึก วิธีคิดมันต่างกัน เกาหลีมันอยู่กับวิธีคิดแบบนั้นมา 20 กว่าปี ของเรามันยังไม่ได้ไปตรงนั้น ดังนั้นต่อให้ระบบดีแค่ไหน กระบวนการคิดไม่สอดคล้อง มาร์เก็ต  แคปบางอย่างไม่ได้ การลงทุนเกิดขึ้นได้ยาก สายป่านของแต่ละค่ายไม่ยาวพอ มันก็จะเป็นงูกินหางที่วนอยู่แบบนี้ สำหรับผมมองว่าเป้าหมายของแต่ละที่ต่างกัน ของเราคือเราอยากทำงานแบบนี้ ดังนั้นเลยเอาเรื่องเงินไว้ทีหลัง เพราะถ้าเราเอาเงินมาก่อน คงไม่ได้มานั่งคุยกันตรงนี้ ก็คงแค่ปล่อยเอ็มวี ‘ทรินิตี้’ คัมแบ๊ก ทำกันเอง มันก็ไม่แตกต่าง และไม่มีพ้อยท์อะไรที่จะไปข้างหน้าได้ และวงการมันก็จะโตตามจีดีพี เราเลยต้องยอมเสียสละ วันนี้ไม่ว่าอะไรก็ตาม เรายึดสิ่งนี้ เราจะต้องเป็นลีดเดอร์ชิพด้วยตัวเราเอง เรารอภาครัฐมาซัพพอร์ทไม่ได้ รอใครมาซัพพอร์ทไม่ได้ทั้งนั้น เราก็ต้องทำกันเอง ใช้คอนเนคชั่นกับต่างชาติที่เรามี เราก็ยึดที่ให้ทั้งเขาและเราได้ประโยชน์สูงสุด แล้วก็ไปข้างหน้าด้วยกัน”

Q : เป็นค่ายที่ไม่ได้มองกำไรเป็นหลัก เอาความฝันของเด็กเป็นหลัก?

วุธ อนุวัติ : ถูกต้อง ถ้ามองเงินเป็นหลักคงไม่ทำตั้งแต่แรก เพราะเรามีธุรกิจที่ทำเงินได้ง่ายกว่านี้เยอะ แต่มันไม่ท้าทายเรา นี่คือความบ้าบิ่นของเรา ซึ่งวันพิสูจน์ด้วยสิ่งที่เราเคยทำมาตลอดอยู่แล้ว คือฝั่งครีเอเตอร์คือการสร้างสรรค์งานศิลปิน เราเรียกว่าเป็นงานศิลปะ เราก็ใส่ไม่ยั้งเลย ส่วนฝั่งเซอร์วิสตรงนั้นก็ทำเงินไป ฝั่งครีเอเตอร์ก็ต้องสร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่าง มีมาตรฐาน มันเป็นสิ่งที่เรายึดแล้ว ถ้าเอาเรื่องเงินมาก่อน ฝั่งครีเอเตอร์ก็จะไม่เกิดอะไรใหม่ ๆ มันเหมือนเราจุดพลุแล้วอยากให้คนอื่นจุดตาม ดังนั้นเราจุดก่อนก็ได้ครับ

Q : อันนี้เป็นแนวคิดในการสร้างบอยแบนด์ “TRINITY”  ด้วยมั้ย เพราะ ณ ตอนนั้นเมื่อย้อนกลับไปตอนที่หนุ่ม ๆ เดบิวท์ บอยแบนด์เมืองไทยที่โดดเด่นเหมือนยังไม่ค่อยมี?

 วุธ อนุวัติ : คือเรื่องบอยแบนด์ต้องย้อนไปสมัยยุคกามิกาเซ่ อาร์เอส ที่บอยแบนด์ดัง ๆ ซึ่งต้องถอยกลับไปเป็นหลักสิบปีเลยนะ เอาตรง ๆ ตั้งแต่เปิดบริษัทมา 12 ปีตอนนั้นก็ไม่มีบอยแบนด์แล้ว  สิ่งที่มันเกิดขึ้นคืออยู่ ๆ เรารู้สึกว่าที่เราจัดคอนเสิร์ตทุกวันนี้ ที่เป็นเกาหลีทั้งหมดในอิมแพ็ค อารีน่า อยู่ ๆ มันก็มีความคิด พูดกันในทีมว่าศิลปินไทยหายไปไหนหมด ตัวเราที่อยู่กับเพลงยังลืมเลย ทำไมตารางในอิมแพ็ค อารีน่าถึงมีแต่ศิลปินเกาหลี ถ้าเป็นศิลปินไทยก็เป็นระดับตำนานเท่านั้น แต่ถ้าเป็นป็อป ไอดอล ขึ้นเวทีอิมแพ็คไม่ได้ มันเลยเกิดเป็น ‘ไนน์ บาย นาย (9×9)’ ณ ตอนนั้น รู้สึกว่ามันไม่ได้ ไม่อย่างนั้นศิลปินไทยตายหมด เขาขึ้นได้แล้วทำไมเราจะขึ้นไม่ได้ ก็เกิดจากจุดตรงนั้น และก็เกิดเป็น ‘ทรินิตี้’ ตรงที่ว่า เราต้องสร้างซิมโบลิค (Symbolic) เราต้องทำให้รู้สึกว่าเพลงไทยมันได้ สำคัญที่สุดเราอยากสร้างศิลปินไทยที่มีแวลู เวลาเราขายบัตรคอนเสิร์ตของต่างชาติ ถูกสุดก็ราคาพันกว่าบาท แพงสุดก็ห้า หก เจ็ด แปด พันบาทขึ้นไป นั่นคือแวลูที่คนดูรู้สึกว่าเขายอม เพราะรู้สึกว่ามันคุ้ม เพราฉะนั้นโจทย์ของโฟร์โนล็อคคือเราต้องทำศิลปินมีแวลู และต้องมีมูลค่าทางการตลาด เราคิดถึงธุรกิจนะ แต่ไม่ได้คิดถึงวันนี้ เราคิดถึงวันนี้เราทำไม่ได้ แต่เราคิดว่าเราทำให้มีแวลู จนวันนึงที่จีดีพีฝั่งเอ็นเตอร์เทนเม้นต์มันโตขึ้น นี่คือสาเหตุที่แม้เป็นศิลปินไทยแต่เราจะไม่ขายราคาบัตรคอนเสิร์ตที่ต่ำ เพราะเราไม่ดูถูกแฟนคลับของเรา ไม่ดูถูกผลงานที่เราทำ และไม่ดูถูกศิลปินของเรา เรารู้อยู่ว่าเขาทำอะไร และเรารู้ว่าแฟนคลับของเราก็รู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีคุณค่า เราต้องทำภาพนั้นให้เกิด เราต้องแวลูให้กับทุกคน และให้คนที่เขามาชอบศิลปินของเรารู้สึกภูมิใจ เขาพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเขาตาม ‘ทรินิตี้’ ‘ฉันรักและซัพพอร์ทเขา’ สามารถใส่เสื้อที่มีโลโก้วง และถือแท่งไฟด้วยความภูมิใจว่า ‘นี่คือวงที่ฉันชอบ เขามีคุณค่ากับชีวิตของฉัน’ มันคิดแบบนี้

Q : ด้วยความที่ค่ายเองก็ทำงานด้วยความมีมาตรฐาน และเป็นอีกค่ายแถวหน้าในเมืองไทย ซึ่งย่อมมีความคาดหวังจากแฟนคลับ ตรงนี้ทำให้เรากดดันในการทำงานบ้างมั้ย ดราม่าต่าง ๆ ส่งผลต่อเราบ้างรึเปล่า?

วุธ อนุวัติ : ไม่ครับ ไม่ใช่ว่าเราไม่แคร์นะ แต่เพราะเราเข้าใจ เขารักศิลปินของเขา เราก็ทำงานของเรา เราไม่สามารถไปอธิบายสองร้อยหน้านั้นได้ทุกอย่าง แต่เราก็เอามาปรับใช้ เราไม่เคยเอาเรื่องพวกนี้มาทำให้เราไม่มีกำลังใจในการทำงาน หรือเศร้า คือเราต้องแยกแยะ อันนี้จริง อันนี้ไม่ใช่แล้วล่ะ อันนี้โอเค ปรับอันนี้หน่อย อะไรที่ดี ๆ เราก็ปรับใช้ อะไรเป็นดราม่าที่ไร้สาระมาก ๆ เราก็ต้องปล่อยผ่านบ้าง คือถ้าย้อนกลับไปสมัยที่เราทำแรก ๆ ตั้งแต่โซเชียลยังไม่บูมขนาดนี้ ตั้งแต่ทำคอนเสิร์ตดงบังชินกิเอย เราก็โดน ทำทุกวงเกาหลี ก็โดนหมดทุกวง (หัวเราะ) แต่พอเวลาผ่านไป ผมกล้าพูดว่าแฟนคลับดงบังชินกิ เขารักเรานะ เพราะเวลาผ่านไปเขาก็รู้ว่าเราตั้งใจดีมาก ๆ ที่จะให้ศิลปินที่เขารัก ตอนก็อตเซเว่น ตอนแรกก็มากมาย แต่วันนึงเขาจะรู้ว่าเราขับเคลื่อนก็อตเซเว่นให้เขาโตขึ้น เราเป็นบริษัทแรกที่เอาศิลปินเกาหลีไปทัวร์ 4 ภาค และที่ต่างจังหวัดก็ลงทุนสูงมาก เพราะต้องขนทุกอย่างไป ซึ่งความบ้าบิ่นพวกนั้นเราก็ต้องการขยายฐาน แต่บางอย่างเราทำมันใหม่ พอมันไม่เคยมี คนที่เขาติดตามและรักศิลปิน เขาจะรู้สึกว่าจะดีเหรอ มันไม่เคยมีเขาก็ไม่รู้จะเปรียบเทียบกับอะไร เลยทำให้เขาไม่สบายใจในบางเรื่อง แต่วิธีคิดของผู้นำมันต้องยอมเจ็บก่อน ถ้าเรามั่นใจว่าสิ่งนั้นจะดีกับเขาในอนาคต แม้วันนี้คนยังไม่เข้าใจแต่เราเชื่อว่าถ้าเราไม่ทำ ก็เหมือนเราย่ำอยู่กับที่ สิ่งใหม่ก็ไม่เกิด ถ้าเราไม่ตัดสินใจทำทัวร์ในวันนั้น ไม่ตัดสินใจทำ ‘ไนน์ บาย นาย’ ในวันนั้น มันก็จะไม่เกิดสิ่งแบบนี้ขึ้น เราก็ไม่อยากโดนด่าหรอก (ยิ้ม) แต่ว่าก็ต้องยอม เพราะบางอย่างที่ทำมันเป็นสิ่งที่ใหม่ พอมันใหม่มาก ๆ เราเข้าใจนะ บางคนก็คิดว่าอะไร เหมือนตอน ‘ไนน์ บาย นาย’  ตอนแรกก็โดนเละเทะ บ้ารึเปล่า เอาดารามาร้องเพลง แต่ทุกวันนี้ความเชื่อมันก็เกิด การฝึกฝนทำให้คนเปลี่ยนได้ ซึ่งถ้ามาตรฐานมันได้ มันก็พิสูจน์แต่ทำตอนแรกมันก็เหนื่อย ศิลปินต้องซ้อมนะ มันต้องให้แอดติจูดเขาด้วย และต้องสื่อสารกับผู้ชมด้วย แต่มันก็เป็นวงจรชีวิตที่ท้าทายและสนุก เราชอบทำอะไรแบบนี้

Q : คิดว่าจุดแข็งและจุดที่อยากพัฒนาขึ้นอีกของ “โฟร์โนล็อค” และ “ทรินิตี้”  คืออะไร?

วุธ อนุวัติ : จุดแข็งของเราคือความเชื่อและคุณภาพในการทำงาน ถ้าพูดถึงโฟร์โนล็อคและทรินิตี้ เรามีความเชื่อเดียวกัน ตอนนี้เราอยากสร้างความเชื่อนั้นให้กับคนไทยและแฟนเพลง ว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ดีสำหรับทุกคน นี่คือสิ่งที่เราจะสร้างต่อไป มันเป็นการตอบคำถามที่สองว่า นั่นคือเราอยากปรับ เราอยากสร้างความเชื่อนี้ ด้วยคุณภาพแบบนี้ให้มันเป็นแมสให้ได้

Q : แบบนี้มีมุมมองต่อการแข่งขันในวงการเพลงยังไง?

วุธ อนุวัติ : การแข่งขันสนุกจะตาย (หัวเราะ) เราออกมาไม่มีคู่แข่งสิตลก ไม่รู้จะไปแข่งกับใคร แต่สุดท้ายเอาจริง ๆ ไม่ได้พูดให้ดูดีด้วยนะ แต่แข่งกับตัวเองก็เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว ศิลปินจะต้องซ้อมให้ได้แบบนี้ แค่วิ่งกับตัวเองก็เหนื่อยแล้วครับ ทุกวันนี้ไม่ได้มองข้างนอกเลย เอาตัวเองให้รอดก่อน เส้นที่เราขีดไว้ ทำให้มันประสบความสำเร็จให้ได้ก่อน เราจะทำงานแบบวิ่งกับตัวเอง เรารู้ตัวว่าเส้นที่ขีดไว้คืออะไร การเต้น การร้อง โปรดักชั่น มันมีเส้นของเรา เอาตรงนี้ให้ดีก่อน ตลาดข้างนอก ผมว่าแต่ละคนมีคาแรกเตอร์ของตัวเอง เราไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ วงเหมือนกันก็ไม่ได้ทำออกมาเหมือนกัน เพลงก็ไม่เหมือนกัน เราก็มีส่วนของเราที่ต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ เลยมองว่าทุกวันนี้ ‘โฟร์โนล็อค’ และ ‘ทรินิตี้’ แข่งกับตัวเองก็เหนื่อยแล้ว ปล่อยเราไปเถอะ (หัวเราะ) เราวิ่งของเราเองก็สนุกแล้วครับ

Q : ในแง่ของถ้วยรางวัลหรือการเป็นอันดับหนึ่งบนชาร์ตเพลงล่ะ คาดหวังสิ่งที่เป็นรูปธรรมแบบนี้ยังไง?

วุธ อนุวัติ : อยากได้หมดแหละ แต่มันอยากได้ไปพร้อมกับคาแรกเตอร์ของวงและบริษัท เราถึงอยากสร้างความเชื่อว่าเพลงในแบบ ‘ทรินิตี้’ วันนึงมันจะแมสให้ได้ ด้วยคาแรกเตอร์แบบเรา เราอยากผลิตผลงานออกไปแล้วทุกคนจำได้ว่านี่คือ ‘ทรินตี้’ นี่คือเติร์ด ปอร์เช่ แจ๊คกี้ เขาจำชื่อศิลปินเราได้ อะไรที่จะทำให้จำได้ มันคือเรื่องผลงาน แนวเพลง ดนตรี วิธีการร้อง วิธีการแร๊ป มันต้องออกมาในตรงนั้นผลงานเลยต้องเป็นวัน ออฟ ไคด์ (One of a kind) ซึ่งมันก็จะมีความใหม่ อาจมีความแปลกไปบ้าง ความรู้สึกไม่คุ้นหูกับเพลงแบบนี้บ้าง แต่สิ่งนั้นมันจะมาเพราะเขาจำศิลปินเราได้ ทางเราก็มีหน้าที่ทำยังไงให้ชิ้นงานเหล่านี้มันแมสขึ้นเรื่อย ๆ เรามองว่าทุกอย่างมันเป็นสเต็ป เราค่อย ๆ ขึ้นบันไดได้ เราไม่ต้องเป็นที่ 1 ก็ได้ครับ

Q : เรียกว่าจะไม่ไปทางลัด เอาใจตลาด ด้วยการทิ้งตัวตนของเรา?

วุธ อนุวัติ : ผมว่าถ้ามันเป็นแบบนั้นมันจะไม่ดีต่อศิลปิน ผมอยากให้คนจำ ‘ทรินิตี้’ ในแบบที่เป็น ‘ทรินิตี้’ ลึกไปกว่านั้น อยากให้คนจำว่า นี่คือ เติร์ด ปอร์เช่ และแจ๊คกี้ ไม่ใช่ว่าคนนี้มันแจ๊คกี้หรือปอร์เช่ เรารู้สึกว่าตัวตนของศิลปินสำคัญมากในการทำงานเพลงครับ เพราะถ้าเขาไม่มีตัวตนหรือเป็นใครก็ได้ เราคงไม่ต้องทำขนาดนี้ คงไม่ต้องพิถีพิถันขนาดนี้ การทำเพลงง่าย ๆ เราไม่ต้องบินไปหาทีมแวงก็ได้ครับ ต้องจำให้ได้ว่า ‘ทรินิตี้’ เท่ากับสามคนนี้ ‘ทรินิตี้’เท่ากับคุณภาพระดับนี้ครับ มันก็ยากแต่ทุกวันนี้คือไม่ชอบทำอะไรง่าย ๆ มันเลยมีดีเอ็นเอนั้นที่ฝังมาทั้งใน ‘ทรินิตี้’ และ ‘โฟร์โนล็อค’ ทั้งตัวผม และตัวน้อง ๆ อะไรง่าย ๆ มาทุกคนปัดตกหมด เป็นเหมือนกันหมดเลย (ยิ้ม) เราค่อย ๆ โตขึ้นได้ครับ ไม่เป็นไร

Q : ท้ายสุดฝากถึงแฟน ๆ คนที่คอยซัพพอร์ท จนเหมือนมีดีเอ็นเอและกลายเป็นตัวตนเดียวกับ “ทรินิตี้” ไปแล้ว อยากบอกอะไรพวกเขา?

วุธ อนุวัติ : “ขอฝากทรินิตี้ด้วยครับ อยากให้เปิดใจ ไม่ใช่แค่เรื่องความพยายามที่พวกเขาทำอย่างเดียว ผมเชื่อว่าความพยายามที่เขาทำ มันเป็นหน้าที่ที่เขาต้องทำ ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องมาเห็นใจในสิ่งที่เขาต้องทำ เพราะเขาต้องทำและเต็มใจที่จะทำ ส่วนโฟร์โนล็อคก็เต็มใจที่จะทำทุกอย่างให้มันดีที่สุด ในชิ้นงานที่เราจะปล่อย เราอยากได้กำลังใจและอยากให้ทุกคนเปิดใจยอมรับว่าในการฟังเพลงใหม่ ๆ ของเรา ‘ทรินิตี้’ ทำสิ่งนี้ขึ้นมา อยากให้ติดตามพวกเขา และอยากขอบคุณทุกคนที่เห็นคุณค่าในงานที่เราทำ อยากขอบคุณที่ไม่ได้ทิ้งน้อง ๆ ไปไหน ขอบคุณทุกฟีดแบ๊กที่เข้ามาถึงบริษัททั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี เราพร้อมที่จะอามาปรับใช้ เพราะสิ่งที่เราอยากได้คือเราจะทำงานที่มีคุณภาพ ที่เหลือเราสามารถปรับได้หมด เราเป็นบริษัทเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ เราก็อยากให้ความสุขกับทุกคน ทั้งศิลปิน แฟนคลับ ครีเอทีฟและคนทำงานทุกคนก็ต้องมีความสุขกับชิ้นงานที่เราทำด้วยครับ

พูดคุยใกล้ชิด “TRINITY”

Q :  ถามถึงการคัมแบ็กของ “TRINITY”  ครั้งนี้ ในช่วงที่หายไปแฟน ๆ ก็ต่างรอคอยมาก พอกลับมาก็ยิ่งใหญ่อลังการมาก รู้สึกบ้าง?

ปอร์เช่ : รอไม่ไหวแล้วครับ เราจะไม่รอสถานการณ์ใด ๆ ทั้งสิ้นแล้ว ถึงแม้จะเสี่ยงก็ตาม มันเป็นความรู้สึกที่อัดอั้น ที่เราอยากปล่อยออกมา

Q :  ฟีดแบ๊กจากแฟน ๆ คือตื่นเต้นมาก ครองเทรนด์ทวิตเตอร์ทุกครั้งที่เคลื่อนไหว ได้เห็นหรือเข้าไปอ่านฟีกแบ๊กจากแฟน ๆ กันบ้างมั้ย?

เติร์ด : มีอ่านครับ (ยิ้ม) ดีใจที่ทุกคนยังรอเรา ก็มีหลายคนที่ติดตามเรามาตั้งแรก แล้ว 2 ปีที่เราหายไป เขาก็ยังรอเราอยู่ และมีคนใหม่ ๆ เข้ามาเห็น ก็อยากขอบคุณครับ รอบนี้เราก็ตั้งใจมาก ๆ และดีใจที่ทุกคนชอบครับ

Q :  เล่าการเตรียมตัวในการคัมแบ๊กให้ฟังหน่อย?

เติร์ด : เราคุยเรื่องนี้มาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว มีการประชุมกันหลายรอบมาก ก่อนที่จะบินไปถ่ายเอ็มวีที่เกาหลี ก็เรียกได้ว่ายาวนานครับ (ยิ้ม)

Q :  เล่าถึงคอนเซ็ปต์อัลบัมนี้ TRINITY EP 01 BREATH  และแรงบันดาลใจของอัลบั้ม รวมถึงสารที่อยากส่งผ่านการทำงานครั้งนี้หน่อย?

ปอร์เช่ : อัลบั้ม อีพี 1 ‘บรีธ’ มันเป็นคอนเซ็ปต์ของการเอาชีวิตรอด ก่อนที่คนเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเอาชีวิตรอด ต้องมีอะไรเกิดขึ้นกับร่างกาย ซึ่งอีพี 1 จะเป็นอีพีที่บอกว่าเรายังมีลมหายใจอยู่ แต่ละเพลง ก็จะมีคอนเซ็ปต์นี้ครับ

Q :  การกลับมาครั้งนี้  TRINITY กลับมาพร้อมกับการร่วมงานกับทีมงานคุณภาพ เป็นเบอร์ใหญ่ฝั่งเอเชียทั้งหมด  ที่ทั้ง TEAM WANG , JAM FACT  , แทน ลิปตา เล่าประสบการณ์การได้ร่วมงานกันบุคคลเหล่านี้หน่อย?

เติร์ดพอเรารู้ว่าต้องร่วมงานกับมีระดับนี้ ก็รู้สึกว่าต้องเตรียมตัวเองมากขึ้น เพื่อให้พร้อมที่สุดในการไปเจอเขา ตอนเราไปสิ่งที่เรารู้สึกได้ คือมีความเป็นมืออาชีพมาก เป็นเกียรติของเราที่ได้ร่วมงานกับเขาครับ

แจ๊คกี้ : ประทับใจมากตรงที่เขาทำการบ้านมาดีมาก ๆ เขาหาองค์ประกอบหรือซิมโบลิค  (Symbolic) หรืออาร์ตต่าง ๆ มานำเสนอเรา เราก็รู้สึกว่ามันเป็นในแนวทางเดียวกับที่เราอยากให้เป็นครับ

Q :  แต่ละคนได้มีส่วนร่วมในการทำ ครั้งนี้ยังไงบ้าง?

ปอร์เช่ : ผมว่าทุกคนมีไอเดียในการนำเสนอ ทางทีมจะเสนอไอเดีย ว่าคอนเซ็ปต์เป็นอย่างนี้ แล้วจะถามเราว่าชอบตรงไหนบ้าง ซึ่งส่วนมากเราไม่ได้ติดอะไร เพราะทีมเสนอมาดีอยู่แล้ว ที่คุยจะเป็นด้านเพลงมากกว่า เหมือนเนื้อเพลงและดนตรีจะเป็นยังไง

Q :  การกลับมาในครั้งนี้  “TRINITY”  มีการเติบโตมาก ทั้งเปลี่ยนโลโก้ “TRINITY” , ทำช่อง  “TRINITY  และทำโลโก้ให้แฟนคลับ เล่าให้ฟังหน่อย?

ปอร์เช่ : มันเหมือนชีวิตเราต้องเดินทางต่อไป การเปิดโลโก้ใหม่ก็เหมือนกับว่า โลโก้ไม่ได้แปลว่าต้องเหมือนเดิมตลอดเวลา อัลบั้มหน้าเราอาจเปลี่ยนไปอีกก็ได้ แต่ ณ ตอนนี้ เราเปิดทั้งโลโก้ ‘ทรินิตี้’ และ ‘ทไวไลท์’ เลยครับ

เติร์ด : ซึ่งหากใครได้ดูโลโก้ทั้งของ ‘ทรินิตี้’ และ ‘ทไวไลท์’ จะเป็นสิ่งที่เชื่อมกัน คือโลโก้ ‘ทรินิตี้’  ตอนนี้เป็นสามเหลี่ยม ที่มี 3 อัน ถ้าใครสังเกตดี ๆ ตรงกลางจะเป็นรูปกังหัน  ซึ่งหมายถึงว่าเราจะเดินไปข้าหน้าตลอดเวลา อันที่เป็นที่สเต็ปใหม่ของทรินิตี้ด้วย และเราก็ถูกล้อมรอบด้วยทไวไลท์

ปอร์เช่ : ใช่ครับ เป็นสามเหลี่ยมสามอัน ที่เป็นเหมือนเกราะกำบังให้พวกเรา

Q :  คาดหวังในการคัมแบ๊กครั้งนี้ไว้ยังไง?

ปอร์เช่ : มันคาดหวังอยู่แล้ว เพราะเราและทีมงานเต็มที่กับมันมาก ๆ ผมว่ามันเป็นสิ่งที่อธิบายเป็นคำไม่ได้ แต่ผมอยากให้ทุกคนได้รับข้อความที่เราสื่อไป  ทุกคนจะแอพพริชิเอท (Appreciate) ในสิ่งที่พวกเราทำไปครับ

Q :  อยากให้คนที่ฟังดนตรีเราได้อะไรกลับไปมากที่สุด?

แจ๊คกี้ : ผมอยากให้ลองเปิดใจฟังกัน เพราะคิดว่าเพลงที่เราทำมา บางทีมันอาจฟังยาก แต่ว่าเราเต็มที่กับมันมากครับ

Q :  คิดว่ารางวัลของการเป็นศิลปินคืออะไร?

แจ๊คกี้ : รางวัลคือผู้ฟังครับ ผมว่าการที่ผู้ฟังได้รับสารที่เราส่งไป ก็ถือว่าเป็นรางวัลของเราแล้ว

ปอร์เช่ : อย่างแรกเลยคือเราต้องแอพพริชิเอทผลงานตัวเอง และเขาก็แอพพริชิเอทผลงานของเรา มันก็ส่งพลังให้กันกลับมา จริง ๆ แค่คนสัมผัสผลงานเราก็รู้สึกดีแล้วนะ ที่เขาฟังผลงานของเรา จะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ แต่อย่างน้อยเขาก็ได้ฟังและได้เห็นมุมมองของเราว่าเป็นยังไงครับ

เติร์ด : รางวัลของเราก็คือผู้คน ไม่จำเป็นว่าคุณเห็นแล้วต้องรู้สึกยังไงกับมัน แต่แค่คุณเห็นก็รู้สึกดีใจแล้วครับ

Q :  ทั้ง 3 คนประทับใจอะไรในตัวกันและกันมากที่สุด?

แจ๊คกี้ : ผมว่าทุกคนมีอย่างนึงที่เหมือนกันก็คือสู้ไม่ถอย ตรงนี้แหละเป็นสิ่งที่ทำให้เราเดินต่อไปได้ครับ

Q :  ท้ายสุดเวลาคนพูดถึง TRINITY อยากให้นึกถึงอะไรมากที่สุด?

ปอร์เช่  : ‘ทรินิตี้’ ก็คือ ‘ทรินิตี้’ ถ้าให้นึกถึงความมุ่งมั่นพยายามมันก็พูดได้ ถ้าเราพูดว่าเราพยายาม แต่จริง ๆ แล้วเราไม่พยายาม มันก็ไม่ได้รึเปล่า เราทำให้ได้ดูผ่านผลงานดีกว่าว่ามันเป็นยังไงครับ

เติร์ด : อยากให้พูดถึง ‘ทรินิตี้’ แล้วหน้าของพวกผม 3 คนลอยมา (ยิ้ม) ส่วนความพยายามของเรามันเป็นบรรทัดฐานที่เราอยู่กับมันมานานอยู่แล้วครับ

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ไม่เพียงแต่ “โฟร์โนล็อค” จะพยายามปลุกปั้น “ทรินิตี้” ให้ขับเคลื่อนวงการเพลงไทยด้วยตัวตนที่ชัดเจนเท่านั้น แต่ยังเป็นค่ายที่เต็มไปด้วยความรักและใส่ใจต่อศิลปิน และยังเป็นอีกหนึ่งการพิสูจน์ ที่ทำให้เห็นว่าการผลิตศิลปินและผลงานที่มีคุณภาพในระดับมาตรฐานโลก สามารถทำควบคู่กับการมอบความสุขให้แฟนคลับได้ นอกจากนี้ ยังได้ยกระดับบอยแบนด์ไทยให้เป็นที่ยอมรับ และมีส่วนในการปลุกลมหายใจวงการทีป๊อปให้กลับมาคึกคักด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะกลายเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญ ที่ผลักดันให้ศิลปินไทย มีที่ยืนบนเวทีโลกได้อย่างสวยงามไม่แพ้ใคร

ติดตามคลิปการสัมภาษณ์จัดเต็มของ เติร์ด ปอร์เช่ และแจ๊คกี้ ได้ทางยูทูป DailynewsLiveTH