เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.64 นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า นายยุทธพงค์ ดำศรีสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบควบคุมการทุบรื้อถอนพิศตะวันรีสอร์ท ซึ่งมีสิ่งปลูกสร้างบ้านพัก ร้านอาหารขนาดใหญ่ จำนวน 17 รายการ ในพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ มูลค่ากว่า 30 ล้าน ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เขตท้องที่ป่าท่าแพขนานยนต์ หมู่ที่ 6 ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์

หลังจากเจ้าของรีสอร์ทดังกล่าวได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 แจ้งขอรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดด้วยตนเอง ซึ่งขอระยะเวลาดำเนินการ 120 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา โดยมีคนงานเข้าดำเนินการขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่อเนื่องมา และตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2564 โดยเจ้าของได้นำรถแบ๊กโฮขนาดใหญ่ 2 คัน เข้ามารื้อทุบตัวอาคารขนาดใหญ่ 3 อาคาร ที่ติดริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่ปลูกสร้างบุกรุกอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2557 คณะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เข้าตรวจสอบพิศตะวันรีสอร์ท หมู่ที่ 6 ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี พบรุกพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ 20 ไร่ มีสิ่งปลูกสร้างจำนวน17 รายการ ราคากว่า 30 ล้าน จึงได้ดำเนินคดีเจ้าของรีสอร์ท ความผิดฐาน บุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยมิได้รับอนุญาต ที่สถานีตำรวจภูธรด่านแม่แฉลบ จังหวัดกาญจนบุรี

ต่อมาคดีอาญา อัยการจังหวัดกาญจนบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาเพราะขาดเจตนา กรมอุทยานฯ จึงได้ฟ้องแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 954,307 บาท ต่อมาเจ้าของรีสอร์ท เสียชีวิต ได้มีนางพิศมัย (สงวนนามสกุล) เป็นผู้จัดการมรดกแทนโดยพนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรี ได้ยื่นฟ้องนางพิศมัย เป็นคดีความแพ่งคดีหมายเลขดำที่ 96/2561 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2561 ในระหว่างการพิจารณาของศาล นางพิศมัย ได้ขอเจรจาไกล่เกลี่ย ชดใช้ค่าเสียหายในการบุกรุกป่าให้กรมอุทยานฯ เป็นเงิน 600,000 บาท และผ่อนชำระเดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 960/2561 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2561

สำหรับคดีทางปกครองหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ได้ออกคำสั่งที่ 71/2557 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ให้ผู้กระทำผิด ทำลายรื้อสิ่งปลูกสร้าง พืชผลอาสิน หรือสิ่งอื่นใดที่ผิดไปจากสภาพเดิม ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ หรือทำให้สิ่งนั้น กลับสู่สภาพเดิมแล้วแต่กรณี ภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 ตามความมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

และมีหนังสือแจ้งเตือน ให้ผู้กระทำผิดรื้อถอนฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ต่อมาผู้กระทำผิด ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางโดยมีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ ส.14/2558 โดยศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษา ลงวันที่ 23 กันยายน 2564 ในคดีหมายเลขแดงที่ 154/2560 ให้รื้อถอนรีสอร์ทดังกล่าวได้ โดยนางพิศมัย ผู้จัดการมรดก ไม่ได้อุทธรณ์คดีปกครองถึงที่สุด ผู้ครอบครองมีหนังสือขอรื้อถอน สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไปจากเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีฯ ทั้งหมดด้วยตนเอง

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ฝากไปถึง บรรดานายทุนผู้ประกอบการเมื่อคดีถึงที่สุด ผู้กระทำผิดยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเอง ทางกรมอุทยานฯ จะไม่ต้องฟ้องร้อง เรียกค่าดำเนินการในการรื้อถอน ส่วนทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้าง เจ้าของยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันกรมอุทยานฯ จะมีแนวทางผ่อนผันให้ราษฎรอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานฯ 2562 แต่พื้นที่แปลงตรวจยึดดำเนินคดีและเป็นของนายทุน ที่มิใช่ราษฎรในพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทมาก่อน ผู้ครอบครองจะไม่ได้รับสิทธิใดๆ จากแนวทางดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังพบว่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ยังมีแปลงตรวจยึดดำเนินคดีบ้านพักตากอากาศ หรือรีสอร์ท อีกจำนวนหลายแปลง ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการในศาลปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่ศาลมีคำสั่งยกฟ้องให้อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ดำเนินการรื้อถอนรีสอร์ทบ้านพักตากอากาศของนายทุน ที่รุกพื้นที่อุทยานฯ ดังกล่าวได้

ส่วนพื้นที่ริมอ่างฯ ที่ยึดคืนมาจำนวน 20 ไร่ จะเร่งฟื้นฟูสภาพป่า และพัฒนาเป็นแหล่งกางเต็นท์เพื่อให้ประชาชนได้มาพักผ่อนหย่อนใจ ชมทัศนียภาพธรรมชาติที่สวยงามริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ต่อไป