เมื่อวันที่ 25 ม.ค. นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนข้อความลงบนเฟซบุ๊กแสดงความเห็นเรื่องแนวคิดของนายกรัฐมนตรีที่ระบุว่า วินัยจราจรอยู่ที่คน ไม่ใช่อยู่ที่กฎหมายไม่มีแนวปฏิบัติ โดย ระบุว่า

ที่นายกรัฐมนตรีบอกว่า “วินัยจราจรอยู่ที่คน ไม่ใช่อยู่ที่กฎหมายไม่มีแนวปฏิบัติ” เป็นการพูดถูกในเรื่องวินัยจราจรว่าอยู่ที่คน แต่พูดถูกแค่ส่วนเดียว และเป็นส่วนน้อยคือถูกแค่หนึ่งในสามเท่านั้น หรือพูดได้อีกอย่างว่า พูดผิดสองในสาม ครับ

เพราะแม้ว่า พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 22 (4) จะบัญญัติว่า “ผู้ขับขี่ … ต้องให้สิทธิแก่คนเดินเท้าในทางข้าม .. ก่อน” คือ รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ต้องหยุดให้คนข้ามทางม้าลาย แต่ปัญหาคือ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ และ ไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย วินัยจราจรในเรื่องหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายจึงไม่เกิด เพราะผู้ใช้บังคับกฎหมาย ไม่บังคับใช้กฎหมายข้อนี้ นี่คือ พูดผิดเรื่องที่หนึ่ง ของท่านนายกฯ ครับ

ส่วน พูดผิดเรื่องที่สอง คือ คนที่ขับมอเตอร์ไซค์ชนคุณหมอบนทางม้าลายจนคุณหมอเสียชีวิต ไม่ใช่คนทั่วไปแต่คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ท่านนายกฯ จึงจะพูดว่าปัญหาเกิดจาก “คน” ไม่มีวินัยจราจรแบบลอยๆ แบบนี้ไม่ได้

ภาพของการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำผิดกฎจราจร ดังเช่นตัวอย่างที่ผมนำมาลง มีทั้งจอดทับทางม้าลาย ไม่ใส่หมวกกันน็อก ขี่รถไม่มีทะเบียน และขี่ย้อนศร เป็นภาพที่ประชาชนเห็นบ่อยๆ หากผู้บังคับใช้กฎหมายละเมิดกฎหมายเสียเอง แล้วจะไปบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างไร

แล้วใครควรต้องรับผิดชอบ กับการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่บังคับใช้กฎหมาย และเป็นผู้ละเมิดกฎหมายเสียเองครับ? ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ มาตรา 6 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานราชการที่อยู่ ภายใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ท่านนายกฯ ไม่ทราบหรือครับว่าท่านเป็นผู้บังคับบัญชาตำรวจ! ท่านนายกฯ จึงกล่าวโทษคนว่าไม่มีวินัยโดยตัวเองไม่ผิด ตัวเองไม่เกี่ยวแบบนี้ไม่ได้ครับ

ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวคุณหมอ และขอให้การถูกรถชนบนทางม้าลายในครั้งนี้เป็น ครั้งสุดท้าย ครับ