กรณีผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาประกอบการขายของชำอยู่ต่างจังหวัดค่ะ และได้เข้าร่วมโครงการของรัฐทุกอย่าง ปกติจะมียอดขายประมาณเดือนละ 100,000 บาท แต่ต้นปีมีโครงการคนละครึ่ง เราชนะ 6 เดือนแรก ยอด 2,400,000 บาท แต่หมดโครงการแล้ว หลังจากนั้น ยอดก็เหลือไม่ถึงแสนต่อเดือน แต่สรรพากรให้จด VAT ซึ่ง “หนู” ก็ทำตาม โดย “จด” จึงกลุ้มใจปีหน้าไม่มีโครงการรัฐ และขอคำแนะนำ เพราะกลุ้มจริง ๆ จะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือนนั้น มีทางเลือกดังนี้

ทางเลือกที่ 1 ตกกระไดพลอยโจนไปเลย ก็เมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสีย VAT ก็ให้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างมีความสุข อย่าไปทุกข์กับมัน มันเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้อง “สู้” เพราะ

ประการแรก…ได้โอกาสที่จะทำความถูกต้องให้เกิดขึ้นจริง ๆ แล้ว โดยใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในการวางแผนชีวิต ประการที่สอง…ทำความเข้าใจระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมี “ภาษีขาย” ก็ต้องมี “ภาษีซื้อ” จากหลักฐานการซื้อ จากผู้ค้าส่ง ให้เรียกรับ “ใบกำกับภาษีซื้อ” มาเพื่อใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขาย ที่ต้องเสียในแต่ละเดือน ดูว่าจะใช้ภาษีซื้อที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการได้อย่างไร เครื่องไม้ เครื่องมือ ที่ซื้อมาใช้ในกิจการ ใช้ภาษีซื้อได้หมด

ประการที่สาม…หากแต่งงานแล้ว และมีทะเบียนสมรส ใช้คู่สมรสให้เป็นประโยชน์ สามารถแบ่งรายได้คนละครึ่งเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มต้องเสียรวมกัน ประการที่สี่… หาทางขยายกิจการให้ใหญ่โตขึ้นตามศักยภาพที่มี มันอยู่ที่ “ศรัทธา” ต่อชีวิตที่มีอยู่ ในอันที่จะทดแทนแก่ทุกคนที่ทำดีกับเรา รวมทั้งประเทศชาติที่เราอาศัยอยู่นี้ด้วยเช่นกัน ปรับปรุงร้านค้าให้สะดวกซื้อ มีมาตรฐานสากลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ (มันต้องมี “ช่อง” ให้รอดไปได้สิน่านะ!!) ประการที่ห้า… ใช้การวางแผนภาษีอากร “โดยเสียภาษีให้ถูกต้อง แต่ต้องเป็นจำนวนน้อยที่สุด” ด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด และในทุกโอกาส ไม่คิดจะหลีกเลี่ยงภาษี

ทางเลือกที่ 2 ถอยดีกว่า ไม่เอาดีกว่า ประการแรก…รอให้มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านต่อปี ติดต่อต่อเนื่องไปจนครบ 3 ปี คือ 2565 2566 และ 2567 พอขึ้นปี 2568 ก็ขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 85/10 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ยังคงสามารถประกอบกิจการได้ต่อไป ประการที่สอง จดเลิกกิจการภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ทงไม่ทำมันแล้ว “ยุ่ง” “วุ่นวาย” “ไม่มีความสุข” เช่นนี้ “หนู” ก็ต้องไม่ประกอบกิจการนี้อีก.