เมื่อวันที่ 8 มี.ค. พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผช.ผบ.ตร. ในฐานะประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมด้วย พล.ต.ต.วันไชย เอกพรพิชญ์ รอง ผบช.ภ.8, พ.ต.อ.ชณชล วันขวัญ รอง ผบก.รน. และ พ.ต.อ.วัชชิรานนท์ นนท์นา ผกก.6 บก.รน. เข้าตรวจสอบที่อู่เรือปราโมทย์ ถนนตลาดล่าง เขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี เพื่อหาหลักฐานเรือ ว.สุรพันธ์นาวี 2 ภายหลังพบว่า มีผู้ใช้ใบอนุญาตโควตาโครงการน้ำมันเขียวของเรือลำดังกล่าวไปซื้อน้ำมันดีเซลจากเรือสถานีบริการกลางทะเล ซึ่งโครงการน้ำมันเขียว เป็นโครงการที่รัฐบาลจัดน้ำมันดีเซลเติมสารสีเขียวเพื่อให้แยกออกจากน้ำมันปกติ ได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิตให้มีราคาถูกกว่าดีเซลทั่วไปลิตรละ 6 บาท เพื่อลดภาระต้นทุนให้ชาวประมง ตามมติคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้ จากการเข้าตรวจสอบพบว่า เรือลำดังกล่าวถูกขึ้นคานซ่อมในอู่เรือมานานกว่า 8 เดือนแล้ว แต่ที่ผ่านมา กลับปรากฏมีหลักฐานใช้ใบอนุญาตโควตาของเรือลำนี้ไปใช้เบิกซื้อน้ำมันราคาถูกในโครงการอยู่ เมื่อ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ สอบถามเจ้าของเรือทราบว่า ได้ขายเรือลำดังกล่าวให้กับนักธุรกิจคนหนึ่งในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ไปแล้ว พร้อมทั้งนำหลักฐานการซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์มามอบกับเจ้าหน้าที่

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า ได้ตรวจพบว่ามีการฉ้อโกงน้ำมันเขียวในพื้นที่ทะเลฝั่งอันดามัน หลังคณะทำงานแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) จึงสืบสวนขยายผลพบว่า มีการฉ้อโกงน้ำมันเขียวในรูปแบบเดียวกันในฝั่งทะเลอ่าวไทยด้วย ซึ่งเมื่อคืนที่ผ่านมา บก.รน. ร่วมกับ ศรชล. สนธิกำลังเข้าตรวจค้นทั้งอ่าวไทยและอันดามัน โดยฝั่งอ่าวไทย เข้าตรวจค้นเป้าหมายในพื้นที่ 8 จังหวัด ทั้งทางบกและทางน้ำ มี จ.สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, เพชรบุรี, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, สงขลา และปัตตานี โดยเฉพาะบริษัทน้ำมันที่เป็นเจ้าของเรือสถานีบริการน้ำมันเขียวกลางทะเล และเจ้าของบ้านเรือประมงที่ไปเติมน้ำมันเขียว รวมทั้งเรือสถานีบริการน้ำมันในเขตต่อเนื่อง มีการเข้าตรวจค้นทั้งหมด 19 จุด เป็นเรือสถานีบริการ 5 ลำ, เรือประมง 3 ลำ, บริษัทน้ำมัน 4 แห่ง, บ้านพักเจ้าของเรือประมง 6 จุด และอู่ต่อเรือ 1 แห่ง ทำการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า จากการรวบรวมพยานหลักฐาน พนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง พบว่า บริษัทค้าน้ำมันที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้จำหน่ายน้ำมันเขียว มีทั้งหมด 7 บริษัท โดยพบว่ามี 5 บริษัท ที่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงน้ำมันเขียว ประกอบด้วย 1) บริษัทมนตรีทวีสิน 2004 จำกัด, 2) บริษัทไทยแหลมทองค้าน้ำมันประมงจำกัด, 3 ) หจก.ปัตตานีรวมโชค, 4) บริษัทดับเบิ้ลดีปิโตรเลียม จำกัด และ 5) บริษัทเอสซี ไลอ้อน จำกัด โดยบริษัทเหล่านี้มีเรือสถานีบริการน้ำมันของตัวเองเพื่อจำหน่ายให้แก่ชาวประมงตามนโยบายของรัฐบาล แต่ปรากฏว่ามีเรือประมงที่ไม่มีสิทธิเติมน้ำมันเขียวตามประกาศกรมศุลกากรที่ 61/2561 เรื่องการอนุญาตให้ผู้ประกอบการนำน้ำมันดีเซลออกไปจำหน่ายในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร จึงเชื่อได้ว่าบริษัทเหล่านี้ร่วมในกระบวนการฉ้อโกงน้ำมันเขียว

“จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า แต่ละปีประเทศไทยต้องสูญเสียงบประมาณจากการเข้าไปชดเชยน้ำมันเขียวให้กับชาวประมงปีละกว่า 700 ล้านบาท หรือเฉลี่ยตกเดือนละ 60 ล้านบาท จากการใช้น้ำมันเฉลี่ยวันละ 2 แสนลิตร ซึ่งเป็นการฉ้อโกงน้ำมันเขียวจากการใช้ภาษีของประชาชน โดยเส้นทางกระบวนการเหล่านี้ได้นำน้ำมันเขียวที่มีราคาส่วนต่างจากการชดเชยลิตรละ 6 บาท เข้ามาขายบนฝั่งให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ใช้เครื่องกลหนัก ผลประโยชน์ยังตกอยู่กับคนไทย แต่สิ่งที่น่าเสียใจมากไปกว่านั้น มีการนำน้ำมันเขียวซึ่งรัฐบาลต้องจ่ายส่วนต่างลิตรละ 6 บาทนี้ นำไปขายให้กับเรือประมงของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำการประมงในน่านน้ำไทย เป็นการเอาทั้งทรัพยากรของเราไปแล้วยังได้ผลประโยชน์จากการซื้อน้ำมันที่ถูกกว่าราคาตลาด เป็นการกระทำของกระบวนการฉ้อโกงน้ำมันเขียวที่ถือว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศชาติ ซึ่งการปฎิบัติการกวาดล้างขบวนการฉ้อโกงชาติ จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องและไม่มีการละเว้นอย่างเด็ดขาด” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าว