เมื่อวันที่ 20 มี.ค. นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” ในหัวข้อ “บทเรียนจากโควิด-19 จากทั่วโลก” แบ่งเป็นข้อๆ ดังนี้

  1. โควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา และไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่
  2. โควิด-19 ไม่กระจอก
  3. การระบาดของโควิด-19 หากประมาท จะเอาไม่อยู่
  4. ต่อให้มีทรัพยากรเท่าใด ก็ไม่มีทางพอ หากควบคุมการระบาดไม่ได้
  5. “กระจอก เพียงพอ เอาอยู่” คงเป็นจริงก็เพียงคำคุณศัพท์ที่ใส่ไว้ในพจนานุกรม แต่ไม่เป็นจริงเวลาเกิดการระบาดหนัก
  6. การประเมินผลว่าต่อสู้และรับมือการระบาดได้ดีหรือไม่ ต้องดูทั้งจำนวนการติดเชื้อ จำนวนการป่วย และจำนวนการตาย รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวอย่าง Long COVID ด้วย
  7. ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้นั้น เกิดจากนโยบาย/มาตรการ (strategy) ความสามารถในการบริหารจัดการเพื่อดำเนินนโยบายหรือมาตรการ (capability) และทัศนคติในการต่อสู้ (Attitude)
  8. หายนะและความสูญเสีย มักเกิดจากปัจจัยข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนนโยบาย/มาตรการที่ผิดพลาด ไม่ได้ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเพื่อกำหนดนโยบาย/มาตรการ, การขาดความสามารถในการบริหารจัดการ, และ/หรือทัศนคติในการต่อสู้ที่ประเมินความสามารถของไวรัสต่ำกว่าความเป็นจริง หรือกิเลส ความเชื่อ ความงมงาย ประโยชน์ทับซ้อน/แอบแฝง จากระดับบุคคล หรือกลุ่มบุคคล หรือเครือข่าย
  9. “จะไม่เกิดวิกฤติหนักหนาสาหัส จะไม่สูญเสียมากมาย หากวงการเมืองสุจริต วงกำหนดนโยบายซื่อสัตย์ และวงวิชาการมีจริยธรรม”
  10. เวลาหายนะหรือความสูญเสียเกิดขึ้นแล้ว ความขลาดเขลาของกลุ่มผู้กระทำมักทำให้สังคมหาตัวคนมารับผิดชอบไม่ได้ การโบ้ย หรือทำเงียบไปมักปรากฏในหมู่คนขลาด เรื่องบาปกรรมมักไม่อยู่ในหัวสมองและจิตใจของคนบาป เพราะเปิดเผยรายละเอียดแล้วจะแก้ตัวได้ยาก
  11. อะไรที่แปลกๆ ผิดปกติวิสัย หรือขัดต่อหลักองค์ความรู้ที่พิสูจน์ได้ รวมไปถึงปัญหาขาดแคลนทรัพยากรต่างๆ และปรากฏการณ์แซงคิวด้วยรหัสลับ มักมีแนวโน้มสูงเรื่องประโยชน์ทับซ้อน กลไกการตรวจสอบการดำเนินการ และถ่วงดุลการตัดสินใจในแต่ละระดับจึงมีความสำคัญยิ่ง
  12. วิกฤติมักเป็นสถานการณ์ที่พิสูจน์คนได้เป็นอย่างดี ว่าเป็นคนประเภทใด ไว้ใจได้ไหม ซื่อสัตย์หรือคดโกง ใช้ความรู้หรือใช้กิเลสนำชีวิต
  13. การใช้องค์ความรู้มาสร้างนโยบายหรือ Evidence-based policy formulation นั้นจะประสบความยากลำบาก หรือเป็นไปไม่ได้ หากกลไกการสร้างและขับเคลื่อนนโยบายบิดเบี้ยว ดังนั้นจึงสะท้อนถึงความจำเป็นที่แต่ละประเทศจะต้องมีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลการตัดสินใจ
  14. ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ยังคงใช้ได้เสมอ ขอเพียงมีความรู้ที่ถูกต้อง ใช้ประกอบการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติ ทั้งสำหรับตนเอง ครอบครัว หรือแต่ละชุมชนในพื้นที่ การช่วยเหลือแบ่งปันแก่กันและกันอย่างถูกต้องเหมาะสมจะประคับประคองทุกคนให้ปลอดภัยไปด้วยกันได้
  15. ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดคือ การทำให้ทุกคนในสังคมมีความรู้เท่าทันสถานการณ์ รับทราบข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องและทันสมัย เพื่อที่จะดูแลและจัดการตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้อย่างเหมาะสม (Health literate society)