เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาในคดีที่ น.ส.วธิษณา เดือนดาว อายุ 55 ปี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท โรงพยาบาลสัตว์แห่งหนึ่ง พร้อมด้วยสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาล 2 ราย เป็นจำเลยที่ 1-3 ต่อศาลแพ่งแผนกคดีผู้บริโภค ฐานละเมิดในทางการที่จ้าง, สิทธิที่จะได้รับข่าวสารที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับบริการในฐานะผู้บริโภค, ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โดยเรียกค่าสินไหมทดแทน 1,000,000 บาท โดยศาลแพ่งประทับรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาเป็นคดีหมายเลขดำ ผบ.3656/2562

สรุปคำร้องยื่นฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 62 น.ส.ธิษณา ได้นำสุนัขชื่อ เจอร์นี่ หรือเจ๋อ มาเลี้ยงตั้งแต่ 3 เดือน ดูแลเป็นอย่างดี และมีการตรวจสุขภาพทุกเดือน จนอายุ 11 ปีครึ่ง ล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย. และตรวจพบเจอชิ้นเนื้อในปอด ขนาดกว่า 3 ซม. ได้มีการปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยแพทย์ได้ให้คำแนะนำ และโน้มน้าวให้นำสุนัขมารักษา โดยวิธีการผ่าตัดส่องกล้อง เสนอราคา 35,000 บาท และมีการบอกค่าใช้จ่ายใหม่ เนื่องจากผ่าตัดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการส่องกล้อง ราคาประมาณ 80,000-100,000 บาท จึงตัดสินใจให้สุนัขเข้าผ่าตัดเพื่อทำการรักษาในครั้งนี้ และจ่ายเงิน 100,000 บาท แต่เมื่อถึงเวลาผ่าตัด ปรากฏว่าเป็นแพทย์อีกคนหนึ่งที่ผ่าตัด ที่ไม่มีความชำนาญในการผ่าตัดแบบส่องกล้อง เมื่อเข้าผ่าตัดได้ไม่นาน สุนัขก็เสียชีวิตเนื่องจากขณะผ่าตัด โดยการนำกล้องสอดเข้าไปในลำตัว ถูกเส้นเลือดใหญ่ และยังไม่ถึงปอดจุดที่พบชิ้นเนื้อ ซึ่งหลังสุนัขเสียชีวิตผ่านไป 1 อาทิตย์ ไม่สามารถนอนหลับได้ ต้องใช้ยานอนหลับตลอด เพราะช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางโรงพยาบาลได้ชี้แจงว่า การผ่าตัดปอดส่องกล้อง มีวิธีการที่ซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูง เพราะต้องผ่านเส้นเลือดและอวัยวะที่สำคัญ แต่ก่อนหน้านี้กลับแจ้งว่า การผ่าตัดรักษาด้วยวิธีนี้ ไม่มีความอันตราย ไม่เสียเลือด และมีแผลขนาดเล็ก ซึ่งหากรู้ว่าซับซ้อน ก็จะไม่ทำการรักษาโดยเด็ดขาด

โดยศาลแพ่ง แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษาว่า สัตวแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดกระทำโดยประมาท และโรงพยาบาลสัตว์ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ทำการผ่าตัดต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เนื่องจากโรงพยาบาลฯ ได้รับประโยชน์จากค่ารักษาพยาบาลและเป็นสถานที่ผ่าตัด และโจทก์เชื่อมั่นในโรงพยาบาลฯ จึงนำสุนัขมาผ่าตัด โรงพยาบาลสัตว์จึงต้องร่วมรับผิดด้วย

พิพากษาให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหาย โดยราคาสูงสุดของสุนัขพันธุ์นี้ คือ 70,000 บาท และค่าเสียหายทางจิตใจให้เฉพาะที่โจทก์ไปหาหมอจริง จากการที่โศกเศร้าจากสุนัขตาย จนต้องไปพบแพทย์ จากมีใบเสร็จค่ารักษาประมาณ 7,000 บาท และค่าทนายความจำนวน 30,000 บาท.