เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศภายในวัดถ้ำเอราวัณ ต.วังทอง อ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งไม่ห่างไกลจากทางหลวงแผ่นดินสาย 210 ช่วงอุดร-เลย (ช่วง ต.วังทอง) อ.นาวัง ไม่ถึง 3 กม. จากปากทางถึงวัดถ้ำเอราวัณ โดยวันนี้มีนักท่องเที่ยวและลูกหลานชาวหนองบัวลำภู พาสมาชิกในครอบครัวมาเที่ยวชมและขึ้นไปเที่ยววัดถ้ำเอราวัณในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อสืบสานประเพณีขึ้นเขาไหว้พระ วัดถ้ำเอราวัณ ที่มีบันไดถึงปากถ้ำ 611 ขั้น

ถ้ำเอราวัณ หรือชาวบ้านเรียก เขาถ้ำช้าง ตามวรรณคดี ถ้ำเอราวัณเป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่อยู่บนภูเขาสูง ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงามวิจิตรพิสดาร ถ้ำนี้ ถ้ามองภายในถ้ำขึ้นข้างบนจะทะลุฟ้าคล้ายหอดูดาวและสามารถมองดูทิวทัศน์ที่สวยงามตามธรรมชาติ ถ้ำแห่งนี้เป็นสถานที่เกิดตำนานนิทานพื้นบ้าน เรื่อง “นางผมหอม” ที่มีการเล่าสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง ตามประวัติตำนานความเป็นมายาวนานหลายพันปี

ภายในถ้ำเอราวัณเป็นห้องโถงกว้างขวางเกือบเท่าสนามฟุตบอล และเป็นสถานที่ที่มาแห่งตำนานนิทานพื้นบ้านเรื่อง “นางผมหอม” ในโถงถ้ำจะเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อย หินก้อนใหญ่รูปคล้ายช้างหมอบ ชาวบ้านเรียกกันว่า หินพญาช้าง มีตำนานเล่าขานกันว่า พญาช้างตรอมใจและสาปตัวเองให้กลายเป็นหิน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อถ้ำ ใกล้กันจะมีหินนางผมหอม ลูกพญาช้างเอราวัณ นางตามหามาพบพญาช้างกลายเป็นหิน นางรู้เข้าจึงรู้สึกเสียใจ และมากลั้นใจตายตามพญาช้างในถ้ำนี้ด้วย

โดยสิ่งที่นักท่องเที่ยวและคอหวยพลาดไม่ได้กับการไปไหว้ขอพรแม่ย่านางผมหอม ซึ่งได้จำลองรูปปั้นไว้โคนต้นไทรใหญ่ ก่อนไปสักการะพระพุทธชัยศรีมหามุนีตรีโลกนาถ บริเวณปากถ้ำเอราวัณ จะบูชานำดอกไม้ธูปเทียน น้ำหวานและเครื่องสักการะบนบานกับแม่ย่านางผมหอม ภายหลังพราหมณ์พิธีได้ประกอบพิธีบวงสรวงสักการะก่อนหน้านี้

ขณะที่นักเสี่ยงโชค และคอหวยตาดีเหลือบไปเห็นเลข 933 บนธูปเสี่ยงทาย ต่างนำโทรศัพท์มือถือบันทึกภาพไว้และส่งต่อกันเป็นทอดๆ โดยมีนักท่องเที่ยวพูดในทำทองเดียวกันว่า ในปีหนึ่งแม่ย่านางผมหอมจะให้โชคลูกหลานปีละครั้งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หลังได้ตัวเลขต่างไปหาซื้อลอตเตอรรี่กับคนขายที่มาจำหน่าย หวังจะได้รับโชคปีใหม่ไทย

สำหรับนิทานพื้นบ้านเรื่องนี้มีการเล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณเล่าแบบมุขปาฐะ หรือปากต่อปาก ต่อมาบันทึกได้กลายเป็นวรรณกรรม หนังสือผูกใบลานเขียนเป็นตัวหนังสือไทน้อย ใช้อ่านในงันเฮือนดีที่นำมาบันทึกได้จากนายจารุบุตร เรืองสุวรรณ ปัจจุบันมีการนำมาเรียบเรียงขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ตีพิมพ์เป็นเอกสาร เป็นหนังสือตำนานนิทานพื้นบ้าน นับเป็นวรรณกรรมที่มีสถานที่เกิดอยู่ที่ถ้ำเอราวัณ อำเภอนาวัง ที่มีหินงอกหินย้อยสวยงามและเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดหนองบัวลำภู ในทุกเทศกาลจวบจนถึงทุกวันนี้.