เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความประจำศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วย น.ส.เจนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนนิสิตและนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย รวม 7 คน ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม และ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด( ผบ.ทสส.) เป็นจำเลย ขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งยกเลิก มาตรา 9 พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558, ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 47 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ฉบับที่ 15 และขอให้ศาลเปิดไต่สวนเพื่อคุ้มครองชั่วคราว

ทั้งนี้​ สืบเนื่องจากวันที่ 27 ก.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 47 กำหนดให้การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ย่อมกระทําได้ โดยให้นําหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กําหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กำหนดมาตรการขึ้นเป็นการเฉพาะ “เพื่อคุ้มครองประชาชน รวมทั้งอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุม”

นายนรเศรษฐ์ กล่าวว่า วันนี้ตัวแทนประธานนักศึกษาจากหลายๆแห่ง ได้ร่วมกันเป็นโจทย์ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อขอให้เพิกถอน ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 47 และประกาศของ ผบ.ทสส ฉบับที่ 15 เนื้อหาที่ยื่นฟ้องวันนี้คือเนื่องจากเนื้อหาของทั้ง 2 ฉบับนี้ ระบุถึงในสถานการณ์ฉุกเฉินให้นำ พ.ร.บ.การชุมนุมมาบังคับใช้โดยอนุโลม หมายความว่าเปรียบเสมือนเป็นการลักไก่เพิ่มโทษให้การชุมนุมสาธารณะให้มีโทษที่หนักขึ้นเดิมตาม พ.ร.บ.ชุมนุม ถ้าเราไปชุมนุมสาธารณะและมีการแจ้งการชุมนุมโดยไม่ชอบ โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่ถ้าตามข้อกำหนดและประกาศฉบับดังกล่าว จะถูกจำคุก 2 ปีปรับไม่เกิน 40,000 บาท ทั้งที่กลไกการร้องขอให้เลิกการชุมนุมต้องผ่านศาลเท่านั้น คือ ต้องมาร้องต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดสั่งให้เลิกการชุมนุม

แต่ประกาศและข้อกำหนดฉบับดังกล่าวกับระบุให้ ผบ.ทสส. สามารถออกแบบแผนต่าง ๆ ในการสั่งให้เลิกการชุมนุมได้โดยไม่ต้องผ่านกลไกของศาล ดังนั้นจึงเป็น 2 ประเด็นหลักที่วันนี้เรามายื่นฟ้อง และจะขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราว สั่งไม่ให้บังคับใช้ ข้อกำหนดฉบับนี้ เพราะช่วงวันที่ 23-24 ส.ค. ที่จะถึงนี้ อาจจะมีการชุมนุมสาธารณะเพื่อติดตามกรณีที่ นายกฯ จะครบ 8 ปีตามรัฐธรรมนูญ หากมีการปล่อยให้ใช้ข้อกำหนดฉบับดังกล่าว ก็อาจจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยหลัก ก็ควรเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติหรือของสภา พ.ร.บ.การชุมนุมฯ กำหนดอัตราโทษที่ต่ำ แต่คราวนี่มีการออกกฎหมายลำดับรอง เป็นแค่ตัวประกาศของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ไปเพิ่มโทษของกฎหมายตามพระราชบัญญัติ เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้และไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างยิ่ง

เมื่อถามว่าตั้งข้อสังเกตอย่างไรกับการออกกฎข้อกำหนดของ ผบ.ทสส.ในครั้งนี้ นายนรเศรษฐ์ กล่าวว่า ตนมองว่าไม่รู้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ ที่มีการออกประกาศในลักษณะนี้มาในช่วงที่กำลังมีการจับตาว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำลังดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี และจะออกจากตำแหน่งหรือไม่ รวมถึงกำลังจะมีการชุมนุม วันนี้เราจึงมีข้อมูลมายื่นต่อศาล เพื่อขอให้ไต่สวนด้วยว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมกำลังสำหรับการควบคุมการชุมนุมและอุปกรณ์ควบคุมการชุมนุมไว้แล้ว ซึ่งเราจะนำมาแสดงต่อศาลในวันนี้ด้วย

น.ส.เจนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทนนักศึกษา กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ และข้อกำหนดดังกล่าวมีความไม่เป็นธรรม ต่อตัวพวกเราเองและประชาชน เพราะเป็นการลักไก่เพิ่มโทษอย่างที่ทางทนายพูด แล้วอ้างว่าการที่ใช้ประกาศรวมทั้งข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค แต่พวกเราก็ตั้งข้อสังเกตว่า จะใช้เพื่อควบคุมโรคหรือควบคุมสิ่งใดกันแน่ หรือจะใช้ควบคุมการชุมนุมที่เป็นสิทธิเสรีภาพของพวกเราประชาชนทั่วไปหรือไม่ นี่จึงเป็นสิ่งที่พวกเราต้องมายื่นฟ้องเพื่อที่จะขอเพิกถอนข้อกำหนดในครั้งนี้.