นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวเสาหลักนำทางยางพาราที่มีการสอดไส้ไม้ไผ่ โดยได้ติดตั้งบนทางหลวงที่ จ.น่าน นั้น ทล.ขอชี้แจงว่า ในปีงบประมาณปี 63-64 ทล.และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้นำยางพารามาใช้ในอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยตามนโยบายรัฐบาล ที่ส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ โดยใช้เสาหลักนําทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) เพื่อสนับสนุนการใช้ยางพารา

โดยบูรณาการความร่วมมือทำข้อตกลง (MOU) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.63 เพื่อช่วยยกระดับราคายางพารา เพิ่มรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางพาราและระบายผลผลิตยางพาราอย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ลดความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากคุณสมบัติของวัสดุยางพารามีความยืดหยุ่น

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า ต่อมากระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 เพื่อให้หน่วยงานสามารถจัดซื้อตรงกับกลุ่มเกษตรกรได้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดย ทล.ได้ดำเนินการจัดซื้อกับร้านค้าสหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรองโดยตรง

หลักนำทางยางธรรมชาติที่ผลิต ได้ทำการออกแบบตามมาตรฐานตามข้อกำหนด โดยคณะกรรมการร่วมหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้ทาง และประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกรชาวสวนยาง ในภาวะที่ราคายางตกต่ำช่วงปีที่ผ่านมา โดยแขวงทางหลวง เป็นผู้ดำเนินการซื้อโดยตรงจากสหกรณ์ชาวสวนยาง และนำมาติดตั้ง เมื่อเดือน ก.ค.64 ในสายทางที่มีอุปกรณ์นำทาง (เสาหลักนำทาง, Guide Post) ไม่ครบถ้วน หรือทดแทนของเดิมที่ชำรุดเสียหาย เพื่อนำทางแก่ผู้ใช้ทางในเวลากลางคืน หรือในขณะที่มีทัศนวิสัยไม่ดี รวมถึงลดความรุนแรงและความสูญเสียจากยานพาหนะที่เสียหลักไปชนเสาหลักนำทาง โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ (จยย.) ที่เสียหลักจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดการเสียชีวิต

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ด้วยคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาผลิตหลักนำทางยางธรรมชาตินั้น ตามแบบด้านในให้เป็นเสาหลักกลวง มีความยืดหยุ่น ดังนั้นในการติดตั้งบนทางหลวง จึงได้มีการประยุกต์ใส่แกนลงในเสา เช่น ไม้ไผ่ ไม้ยูคา เพื่อเพิ่มความสะดวกในการติดตั้ง และสามารถติดตั้งได้รวดเร็วขึ้น สำหรับการคิดราคากลางในการจัดซื้อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของของทางราชการ ซึ่งราคาเสาหลักนำทาง จะแปรผันตามราคายางพารา

“การดำเนินการติดตั้งเสาหลักนำทางยางพาราบนทางหลวง เป็นไปตามหลักวิศวกรรมงานทาง เพื่อความปลอดภัยกับผู้ใช้ทาง และเป็นการช่วยเหลือเกษตรชาวสวนยาง ในช่วงที่ราคายางตกต่ำ และขอยืนยันว่า เป็นการดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทุกประการ” นายสราวุธ กล่าว

หากประชาชนมีข้อสงสัย ต้องการสอบถามข้อมูล หรือต้องการขอความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง หมวดทางหลวงในพื้นที่ และสายด่วนกรมทางหลวง 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชม.)