ในยุค “มหาวิกฤติโควิด -19” การแพร่ระบาดยาวนานกว่าเกือบ 2 ปี แทบทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก ต่างระส่ำระสายได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย หลายอุตสาหกรรมต่างเร่งปรับตัว พลิกสารพัดกลยุทธ์ เพื่อนำองค์กรฝ่าวิกฤติ ซึ่งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. หนึ่งในองค์กรชั้นนำระดับโลก ที่มีมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านบาท  ทำให้หลายคนอยากรู้ถึงแนวทางการปรับตัว เพื่อให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน และ ยังทำหน้าที่ ช่วยเหลือประเทศชาติ ทั้งเรื่องของการทุ่มงบประมาณการลงทุนเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย และยังช่วยลดภาระของประชาชนในด้านต่างๆ ให้ก้าวผ่านทุกวิกฤติอีกด้วย

“คุณอรวดี โพธิสาโร” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร ปตท. ถือเป็นหนึ่งในแม่ทัพคนสำคัญที่นำพา “ปตท.” ฝ่าวิกฤติไปได้อย่างยั่งยืน โดยวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งนี้ คุณอรวดี ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ ปตท. ไม่เคยเจอ ยิ่งเวลานี้มีการกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย แพร่ออกไปเป็นวงกว้างและยาวนานมากขึ้น จากระลอก 1 ถึงระลอกที่ 3 ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานในประเทศไทยชะลอตัว

ทั้งนี้ ในภาพรวมการใช้พลังงานในประเทศไทยในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม–เมษายน) ของปี 64 แทบไม่เติบโตเมื่อเทียบกับปี 63 แต่ลดลงถึง 5% เมื่อเทียบกับปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโควิด-19 การพัฒนาวัคซีนสำเร็จและเริ่มฉีดวัคซีนในหลายประเทศที่นำมาสู่การผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ในสหรัฐ ที่เป็นผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ หรือประมาณ 20% ของการใช้น้ำมันของโลก ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐ เฉลี่ย 5 เดือนแรก (มกราคม–พฤษภาคม) ปรับเพิ่มสูงถึง 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 63

ขณะที่โอเปค ยังคงปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันอยู่เมื่อเทียบกับช่วงปกติ ทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปี 64 สูงขึ้นมากกว่า 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ครึ่งแรกของปี 63 ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยตกต่ำไปอยู่ระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น ส่งผลให้ผลประกอบการของกลุ่ม ปตท. ในปีนี้ได้อานิสงส์จากระดับราคาน้ำมันที่ฟื้นตัว และการบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ ผลประกอบการของ ปตท. จึงปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการระบาดของโควิด-19 ในระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว

สำหรับกลยุทธ์สำคัญ ที่ ปตท. นำมาบริหารจัดการ พร้อมเร่งปรับองค์กรเพื่อให้ก้าวข้ามวิกฤติในระยะสั้นรวมถึงพลิกมาเป็นโอกาสการเติบโตในยุค New Normal โดยใช้แนวทาง 4R  ซึ่งเป็นการมองกลยุทธ์การดำเนินการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้น คือ Resilience เป็นการสร้างความยืดหยุ่นพร้อมดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สร้างความปลอดภัยให้พนักงาน ประเมินสุขภาพองค์กร ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จัดความสำคัญของโครงการลงทุน ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ และรักษาสภาพคล่อง เป็นการบริหารการใช้เงินอย่างระมัดระวัง คือ ต้อง “ลด ละ เลื่อน” ดูว่าสิ่งใดต้อง “ลด” คือทำน้อยลง สิ่งใดไม่ต้องทำเลยคือ “ละ” และอะไรที่ต้องทำแต่ “เลื่อน” ออกไปก่อนได้

กลยุทธ์ต่อมา Restart เตรียมความพร้อมในการนำผู้มีส่วนได้เสียทางธุรกิจ เช่น พนักงาน ลูกค้า และคู่ค้า กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุดและรักษาความสามารถทางการแข่งขัน โดยกลยุทธ์ Restart ได้มีการจัดตั้ง PTT Group Vital Center ขึ้นมา ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 โดยมุ่งเน้นภารกิจในการดูแลพนักงาน รักษาความต่อเนื่องของ Supply Chain การดูแลลูกค้า และเสริมสร้างสภาพคล่อง

ส่วนการกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานในระยะยาว คือ Reimagination เป็นการเตรียมออกแบบธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดเป็น Next Normal ทั้งธุรกิจเดิมและ New S-Curve ได้แก่ Reimagine Upstream ปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ LNG ตลอดทั้ง Value Chain ในส่วนต่อมา Reinforce Downstream จัดโครงสร้างที่ดึงพลังร่วมของกลุ่ม ปตท. และ Reignite New S-Curve at Scale คือ การเร่งพัฒนาและขยายธุรกิจรูปแบบใหม่ (New S-Curve) ได้แก่ ธุรกิจพลังงานใหม่, Life science, Mobility & Lifestyle, High Value Business (Specialty Materials), Logistics & Infrastructure, AI Robotics & Digitalization เพื่อทดแทนสัดส่วนการเติบโตในธุรกิจห่วงโซ่อุปทานไฮโดรคาร์บอน 

กลยุทธ์ R ตัวสุดท้าย นั่นคือ การ Reform เป็นการพิจารณาปรับเปลี่ยนโดยจัดโครงสร้างองค์กรหรือรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต เช่น New Energy, Battery & Hydrogen Fuel Cell หรือแม้กระทั่งธุรกิจ Life Science ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพและมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สำหรับแผนกลยุทธ์การลงทุนของ ปตท. ในครึ่งปีหลัง (กรกฎาคม-ธันวาคม 2564) ปตท. ยังคงเดินหน้าการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เช่น ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เส้นที่ 5 การสร้าง LNG Terminal แห่งที่ 2 รวมถึงโรงแยกก๊าซธรรมชาติ แห่งที่ 7 ขณะเดียวกัน ปตท. ยังคงมุ่งมั่นแสวงหาโอกาสในการลงทุนธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกลุ่มพลังงานใหม่ หรือ EV Value Chain และการลงทุนใน Life Science ผ่าน บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งมาจากคำว่า Innovation บวก Bio-Science เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม New S-Curve โดยจะเน้น 4 กลุ่มสินค้าเป้าหมาย คือ 1.ยา เน้นที่ยาชีววัตถุ  2.อาหารอนาคต 3.อุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ และ 4.ระบบการวินิจฉัยโรค ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังระบบการวินิจฉัยโรคต่างๆ

ทั้งนี้ ในอนาคตนับต่อจากนี้ไป จะเข้าสู่ยุคธุรกิจเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีและพลังงาน ผู้คนเริ่มเปลี่ยน Lifestyle และวิถีชีวิต โดยหันไปใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น ปตท. จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการเร่งพัฒนาและขยายธุรกิจรูปแบบใหม่ หรือ Reignite New Business at Scale ไว้แล้ว โดยจะแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ทดแทน ธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานไฮโดรคาร์บอน ซึ่งการลงทุนในกลุ่ม New Energy ถือเป็นธุรกิจที่ ปตท. ให้ความสำคัญในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจพลังงานหมุนเวียน Energy Storage and Platform และธุรกิจ EV  รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ของพลังงานรูปแบบใหม่อย่างเช่น ไฮโดรเจน

นอกจากนี้ ปตท. ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญและเร่งศึกษาโอกาสในธุรกิจกลุ่ม AI, Robotics และ Digitalization เช่นกัน โดยในกลุ่ม ปตท. ได้เริ่มปรับตัวและมีการลงทุนในธุรกิจกลุ่มนี้ เช่น การจัดตั้ง PTT Raise ที่ร่วมมือกับบริษัท มิตซุย แอนด์ คัมปนี (ไทยแลนด์) จำกัด ที่จะนำเสนอ Industrial Solution การจัดตั้งบริษัท เมฆาเทคโนโลยี จำกัด หรือ Mekha เพื่อมุ่งลงทุนในธุรกิจ Public Cloud รวมถึง บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่ให้บริการหุ่นยนต์ซ่อมบำรุงท่อใต้น้ำและโดรน

“หากในอนาคตเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ หรือเจอโรคระบาดอื่นๆ ปตท. จะยังคงเดินหน้าแนวทาง 4R เพื่อรักษาความต่อเนื่องทางธุรกิจและรับมือกับความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก โดย ปตท. จะมีการคาดการณ์แนวโน้มของธุรกิจโลกอยู่เสมอ พร้อมปรับตัวให้ทันท่วงที เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนำพาคนไทยก้าวผ่านวิกฤติไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” คุณอรวดี กล่าวปิดท้าย