เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่สโมสรตำรวจ นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ได้นำหญิงสาว 3 ราย ประกอบด้วย น.ส.เอ (นามสมมุติ) อายุ 27 ปี น.ส.บี (นามสมมุติ) 29 ปี และ น.ส.ซี (นามสมมุติ) อายุ 28 ปี ซึ่งทั้งหมดเป็นเหยื่อที่ถูกหลอกไปค้าประเวณีที่เมืองล็อกกิ่ง ประเทศเมียนมา หลังได้ดำเนินการประสานทหารไทย ทหารเมียนมา สถานทูตไทย และเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยสามารถช่วยเหลือกลับมาได้ในวันที่ 27 พ.ย.65 เดินทางเข้าพบ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เพื่อขยายผลติดตามขบวนการค้ามนุษย์มาดำเนินคดี

นางปวีณา กล่าวว่า สำหรับการเข้าช่วยเหลือหญิงไทยทั้ง 5 ราย สืบเนื่องจากช่วงเดือน ต.ค.65 พ่อแม่และญาติของเหยื่อได้ร้องทุกข์มาที่ตนว่า ลูกสาวต้องการหางานทำและไปพบข้อความในเฟซบุ๊กชักชวนไปทำงานร้านอาหารที่ประเทศเมียนมา โดยการันตีว่างานสบาย รายได้ดี 30,000-40,000 บาท บุตรสาวจึงหลงเชื่อ ขณะที่บางคนก็ถูกเพื่อนที่เพิ่งรู้จักชักชวน แต่เมื่อเดินทางไปถึงกลับถูกบังคับค้าประเวณี และบังคับให้เสพยาเสพติด โดยพบว่าพิกัดที่ผู้เสียหายอยู่นั้น คือ เมืองล็อกกิ่ง ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษอยู่ติดกับชายแดนจีน

โดยพฤติการณ์ของขบวนการค้ามนุษย์ว่า เมื่อผู้เสียหายเดินทางไปถึงฝั่งเมียนมา และเมื่อไปถึงร้านก็มีเอเจนซี่แจ้งว่าทั้ง 5 คน เป็นหนี้คนละ 90,000 บาท และต้องใช้หนี้ ส่วน น.ส.ซี อายุ 29 ปี รูปไม่ตรงกับตัวจริงจึงถูกขายไปร้านอื่น และถูกแจ้งว่าเป็นหนี้เพิ่ม รวม 250,000 บาท โดยทุกคนจะถูกบังคับค้าประเวณี และบังคับให้เสพยาเสพติด ทั้งยังถูกทำร้ายร่างกาย ให้อดข้าว อดน้ำ หากขัดขืนก็จะถูกนำตัวไปขังในห้องมืดห้องเดี่ยว ไม่มีโอกาสออกมา รวมถึงยังมีชายแต่งตัวคล้ายทหารคอยคุมหน้าห้องตลอดเวลา

ขณะนี้ยังมีผู้เสียหายอีก 2 คน อายุ 17 ปี และอายุ 26 ปี ตำรวจเมียนมาได้เข้าช่วยเหลือ และจากการสอบปากคำพบว่า สองคนนี้เดินทางเข้าเมืองถูกกฎหมาย จึงไม่ต้องดำเนินคดี และได้ทำเรื่องส่งตัวกลับไทย แต่เบื้องต้นทั้งสองคนนี้ยังไม่สามารถกลับประเทศไทยได้เพราะเมืองที่ทั้งสองอยู่คือ เมืองลาเซียว ประเทศเมียนมา อยู่ระหว่างการสู้รบทำให้สนามบินลาเซียวปิดชั่วคราว ต้องรอจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายจึงจะถูกส่งตัวกลับมาที่เมืองไทย อย่างไรก็ตาม มูลนิธิปวีณาจะติดตามการช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดร่วมกับสถานทูตไทยในเมียนมาพร้อมกับทหารและตำรวจไทย

ด้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า ฝากเตือนประชาชนคนไทยถึงเรื่องการชักชวนให้ไปทำงานในต่างแดนนั้นปัจจุบันเข้ามาในออนไลน์เยอะขึ้น แต่วิธีการก็ยังเหมือนเดิม โดยมีการนำพาด้วยคนที่จะพาไปพอไปถึงก็บังคับให้ผู้เสียหายรับสภาพหนี้ ทั้งยังถูกทารุณกรรมทางร่างกายและจิตใจ เรียกได้ว่า ตกนรกทั้งเป็น ตนขอฝากว่าการทำงานทุกประเภท ก่อนตัดสินใจ หากไม่มั่นใจ สามารถสอบถามไปที่กระทรวงแรงงาน หรือกรมการจัดหางาน เพื่อตรวจสอบว่างานดังกล่าวมีจริงหรือไม่

เบื้องต้นขณะนี้กำลังไล่ตรวจสอบถึงขบวนการหลอกชักชวนทำงานในออนไลน์ ซึ่งยอมรับว่ามีจำนวนมากจึงอยากให้ทุกคนช่วยกันสอดส่องดูแลให้คำปรึกษากันและกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีนี้ ตนก็จะเร่งรวบรวมพยานหลักฐานและไล่เส้นทางการเงินเพื่อติดตามจับกุมขบวนการคนไทยเหล่านั้นที่ทำหน้าที่เป็นเอเจนซี่มาดำเนินคดี ทั้งนี้ขอให้ผู้เสียหายทุกคนอุ่นใจได้ ในฐานะที่ตนเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายจะดำเนินการให้เต็มที่.