เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” เป็นภาพวาฬบรูด้า ซึ่งระบุว่าเป็นภาพที่ถ่ายได้เมื่อ 2-3 วันก่อน ขณะกำลังหมุดลงไปในทะเล มองเห็นได้เพียงหางของวาฬบรูด้า โดยมีฉากหลังเป็นตึกสูงของกรุงเทพฯ พร้อมข้อความระบุว่า “ผมเชื่อว่าเพื่อนธรณ์คงเคยเห็นภาพ คลิปบอกเล่าเรื่องราวดีๆ ในต่างประเทศ สนามกีฬาใหม่ที่สิงคโปร์ รถไฟความเร็วสูงสุดที่เซี่ยงไฮ้ ตึกใหม่ในนิวยอร์ก ฯลฯ ผมชื่นชมและอยากให้เกิดสิ่งดีๆ ในบ้านเราเช่นกัน แต่ผมเชื่อว่าเมืองไทยก็มีดี วันนี้จึงอยากเล่าเรื่อง #วาฬชูหางที่ข้างกรุงเทพมหานคร ก่อนอื่น ภาพที่เห็นคือหางของวาฬบรูด้า เป็นภาพใหม่เอี่ยมเพิ่งถ่ายเมื่อ 2-3 วันก่อน ไม่ใช่ของรียูส แบ๊กกราวด์ฉากหลังคือตึกสูงของกรุงเทพฯ มีเสาสะพานภูมิพลสูงเด่น ภาพนี้บรรยายถึงของดีเมืองไทยได้ครบจบในรูปเดียว

เพราะไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก โตเกียว สิงคโปร์ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ หรือเมืองอื่นใดๆ ที่เขียนอยู่ข้างขวดน้ำหอม คุณไม่มีทางเห็นภาพเช่นนี้ วาฬที่ชูหางก่อนดำดิ่ง อยู่ติดเมืองใหญ่คนรวมกันเกือบสิบล้าน จะไปหาดูได้ที่ไหน? วาฬและตึกสูงหลายสิบชั้นอยู่ในภาพเดียวกัน ทอดตาทั่ว 7 ทวีป คงมีให้เห็นน้อยยิ่งนัก และภาพเช่นนี้ไม่ได้เกิดหนเดียว แต่เกิดมาแล้วหลายสิบหนในรอบ 10 ปีเศษ ตั้งแต่คนไทยเริ่มออกดูวาฬบรูด้า ทุกสิงหา/กันยา มีบางเวลาที่วาฬใหญ่น้อยจะชวนกันมาหากินที่ปากร่องเจ้าพระยา ห่างจากสีลมสาธรพระรามสามไม่เท่าไหร่ สำคัญกว่านั้นคือมีเงินพันล้านอาจสร้างอะไรได้หลายอย่าง มีหมื่นล้านอาจทำของใหญ่โตกว่านั้นได้ แต่มีหมื่นล้าน ไม่สามารถจ้างวาฬมาชูหางที่ข้างเมืองหลวง ต่อให้แสนล้านก็ยังไม่พอ

วาฬไม่ใช่เพียงแค่อยากมา แต่บรูด้าอยู่ในอ่าวไทยรูปตัวก. มาเนิ่นนานหลายร้อยปีหรือกว่านั้น วาฬอำแพงที่ขุดพบแถวสมุทรสาคร มีอายุ 3,380 ปี เป็นหลักฐานชัดเจนว่านานขนาดไหน? ความรู้ใหม่ๆ ของนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า วาฬแต่ละถิ่นอาศัย มีพฤติกรรมเฉพาะถิ่น ทวดสอนยาย ยายสอนแม่ แม่สอนลูก ลูกสอนหลาน จึงไม่มีทางและไม่มีวันที่ประเทศอื่นใดจู่ๆ จะหาทางทำให้วาฬมาชูหางอยู่ติดเมืองหลวงของตน แม้อยากมากแค่ไหน แม้จะเป็นภาพลักษณ์สุดยอดเท่าไร ไม่มีวันคือไม่มีวัน ประเทศที่โชคดีโคตรๆ เช่นนี้ จึงควรหาทุกวิธีในการรักษาไว้ และประเทศไทยทำได้ครับ

งานวิจัยสมบูรณ์สุดขีด ชนิดผู้เชี่ยวชาญด้านนี้บอกกับผมว่า เป็นที่สุดของโลก วาฬทุกตัวมีชื่อ เพิ่งเกิดได้ไม่นานก็มีแล้ว ยังรู้ชื่อแม่ชื่อยาย รู้แทบทุกเรื่อง เพราะเครือข่ายนักวิจัยและนักดูวาฬไทย กอดกันแน่นมาก เรายังมีอาสาสมัครที่ทุ่มเทสุดๆ การอนุรักษ์ วาฬบรูด้า ในอ่าวไทยตอนในมีเกิน 50 ตัว แม้จะมีตายแต่ก็มีเกิด จำนวนทรงคงอยู่ได้เรื่อยๆ จะเรียกว่าเพิ่มนิดๆ ด้วยซ้ำ ยังไม่เห็นแนวโน้มใดๆ ว่าวาฬบรูด้าจะหมดไปในอนาคตอันใกล้ เป็นมรดกที่ยังเชื่อมั่นว่าส่งต่อลูกต่อหลานของพวกเราได้ เรายังผลักดันจนวาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวน มีกฎหมายพิทักษ์คุ้มครองสูงสุด

ล่าสุดวันนี้ คณะกรรมการสงวนคุ้มครองสัตว์ป่าฯ เพิ่งประชุมกัน ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลสัตว์ทะเลหายากโดยเฉพาะ แน่นอนว่าเรายังมีปัญหาอื่นๆ เช่น ขยะทะเล การรบกวนจากการสัญจรทางน้ำ ฯลฯ แต่ไม่มีใครตั้งใจทำร้ายวาฬ ไม่ตั้งใจทำร้ายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจากจุดนั้น กติกาใดๆ ก็พอพูดคุยตกลงกันได้ แต่เรายังต้องไปต่อ เพื่อให้ความดูแลรักษาเหล่าวาฬแห่งอ่าวไทยตอนใน โดยเฉพาะในยุคที่โลกร้อน ทะเลวิปริต และมลพิษเริ่มสะสมมากขึ้น เรายังวางใจใดๆ ไม่ได้ เมื่อเรามาดีแล้ว เราต้องมุ่งหน้าต่อไป มิฉะนั้นทุกอย่างที่สร้างสมอาจสูญเปล่า ในความคิดเห็นของผม หากเกิดมาเป็นวาฬบรูด้าในอ่าวไทย ผมคิดว่ายังโชคดี มีความสุขตามอัตภาพ ว่างๆ ก็ว่ายน้ำเข้ามากระดิกหางดิ๊กๆ ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ให้คนเมืองกรุงได้ยิ้มบ้าง น้อนนนนนนนน… Jirayu Ekkul ผู้หลงรักวาฬและนำเรื่องราวดีๆ มาฝากกันอยู่เสมอครับ”

ที่มาเฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat”