เมื่อวันที่ 2 เม.ย.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีปิดโครงการพัฒนาทักษะนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านดนตรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พร้อมทั้งรับชมการแสดงผลงานทางด้านดนตรีของนักเรียนในรูปแบบคอนเสิร์ต ทั้งดนตรีไทย ดนตรีสากล และดนตรีร่วมสมัย และมอบเกียรติบัตรสำหรับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยมี ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.ดร.ณัฐชยา นัจจนาวากุล หัวหน้าสาขาดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก อาจารย์วิศนี วงศ์วิรุฬห์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเครื่องสายสากลและดนตรีเชมเบอร์ รวมถึงนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมในพิธีปิด ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
.
โครงการพัฒนาทักษะนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านดนตรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนที่มีพรสวรรค์ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างโอกาสให้ผู้มีความสามารถพิเศษได้เรียนตามความสนใจและความถนัด ได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะทางดนตรี ตามมาตรฐานวิชาชีพดนตรีและมาตรฐานสากล สามารถประกวดแข่งขันในเวทีระดับชาติและนานาชาติ และนำความรู้ไปใช้ในการศึกษาต่อและสร้างเครือข่ายร่วมพัฒนากับหน่วยงานทางการศึกษา ที่จะเป็นการส่งต่อนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษให้ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น และมีโอกาสประกอบอาชีพในอนาคตที่สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนในศตวรรษที่ 21 อีกทั้งเปิดโอกาสให้นักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านดนตรี ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพจากผู้เชี่ยวชาญ และสามารถแสดงศักยภาพด้านศิลปวัฒนธรรม รวมถึงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติให้ดำรงอยู่ และสามารถเผยแพร่สู่ประชาคมโลกต่อไป โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้คัดเลือกนักเรียนจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ. จำนวน 80 คน เพื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ซึ่งสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยความเรียบร้อย ได้รับความสนใจจากนักเรียนและการสนับสนุนจากผู้ปกครองเป็นอย่างดี
.
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า สิ่งที่ได้เห็นจากการแสดงของนักเรียนในวันนี้ ทำให้เกิดความประทับใจอย่างมาก เด็กๆที่เข้าร่วมโครงการนี้ได้รับโอกาสมากมายจากวิทยากรและคณาจารย์ชั้นเลิศของประเทศ จากระยะเวลา 5 วันที่เด็กได้เข้าค่ายและฝึกฝนทักษะต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่นี่ ทำให้ได้แสดงศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่และมีความสุข ซึ่งภาพความประทับใจเหล่านี้ไม่ควรจบแค่ในห้องประชุมเท่านั้น เราน่าจะประชาสัมพันธ์ในสิ่งที่เราได้เห็นและเกิดความประทับใจไปยังสาธารณชนภายนอกให้รับรู้โดยทั่วกันด้วย โดยเฉพาะโรงเรียนและคุณครูทั่วประเทศจะต้องได้รับรู้ว่าเด็กๆ ของพวกเรามีศักยภาพมากแค่ไหน เด็กทุกคนมีความเป็นตัวเอง ได้เรียนอย่างสนุก เล่นอย่างมีความสุขในสิ่งที่ตัวเองถนัดและสนใจ ซึ่งนอกจากได้แลกเปลี่ยนในเรื่องเครื่องดนตรีแล้วยังได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกันอีกด้วย คุณครูเองก็มีความภาคภูมิใจที่ได้เห็นนักเรียนมารวมกันเป็นเครือข่ายของนักดนตรี นอกจากนี้ ยังมีเด็กๆ อีกมากมายที่สนใจเกี่ยวกับดนตรี ซึ่งจากการใช้แบบสำรวจแววความสามารถพิเศษด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ นักเรียนจำนวน 3,494,835 คน มีความถนัดด้านดนตรี 813,163 คน

ซึ่งจะมีแผนที่จะดำเนินการกับทางมหาวิทยาลัยมหิดลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนได้เรียนตามความถนัดและความสนใจ สอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่สนับสนุนให้การขับเคลื่อนลงสู่นักเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ตามที่ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงศ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้กำชับมาโดยตลอด บัดนี้ได้มีการนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว
.
“สพฐ. ขอแสดงความยินดีกับนักเรียนที่มาเข้าร่วมโครงการและได้รับเกียรติบัตร ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่น ความขยันหมั่นเพียร ในการพัฒนาและฝึกฝนตนเองให้เป็นคนที่ภูมิใจในตนเองในสิ่งที่ถนัดและชอบ รวมถึงแสดงให้เห็นศักยภาพของเยาวชนไทย ที่ไม่ได้โดดเด่นเพียงด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังมีทักษะด้านดนตรีที่น่าชื่นชม ขอให้พัฒนาต่อยอดทักษะนี้ต่อไปอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อพัฒนาสังคมอย่างสร้างสรรค์ และสิ่งสำคัญคือเด็กๆ ได้รู้หน้าที่ รู้จักความรับผิดชอบของตนเอง ทำให้มั่นใจว่าเด็กๆ เหล่านี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตได้อย่างแน่นอน และเป็นเสาหลักที่จะสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคม สร้างความเป็นไทย เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่สื่อความเป็นไทยจากเครื่องดนตรีไทยที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมไทย และมีการแสดงเครื่องดนตรีสากลที่มาผสมผสานกันอย่างลงตัวในลักษณะร่วมสมัย สิ่งเหล่านี้แสดงถึง Soft Power ด้วยตัวของเด็กเอง สุดท้ายนี้ ขอชื่นชมและขอบคุณคณะครูทุกท่าน รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันสร้างห้องเรียนดนตรี ตั้งแต่เริ่มเขียนหลักสูตรจนเห็นผลการต่อยอดเชิงประจักษ์ในวันนี้ ที่เล็งเห็นประโยชน์ที่นักเรียนจะได้รับและสนับสนุนให้นักเรียนเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ และหวังว่าโครงการดีๆ เช่นนี้จะได้รับการต่อยอดขยายผลอย่างกว้างขวางในทุกพื้นที่ต่อไป เพื่อความสุขของนักเรียนที่มีความถนัดด้านดนตรีต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว