เมื่อวันที่ 19 พ.ย. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.นิพนธ์ บุญเกิด รรท.ผบก.สอท.2 สั่งการให้ พ.ต.อ.ศาตรา สุขานุศาสตร์ ผกก.1 บก.สอท.2 พ.ต.ท.เอกรินทร์ สนนาค สว.กก.1 บก.สอท.2 นำกำลังพร้อมหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรี เจ้าจับกุมตัวกลุ่มผู้ต้องหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 6 คน ในความผิดฐาน “ร่วมกันลักทรัพย์, ร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ, ร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกัน, ร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกัน, ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ, ร่วมกันโดยทุจริตหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และร่วมกันฟอกเงิน”

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้เสียหาย อายุ 68 ปี ซึ่งเป็นภรรยาของนายแพทย์ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์มือถือ จากแก๊งมิจฉาชีพแสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารกรุงไทย แจ้งกับผู้เสียหายว่าทางรัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือผู้ที่ใช้แอปพลิเคชันถุงเงิน ที่ต้องเสียภาษีเป็นจำนวนมาก โดยจะมีการแจกเงินจำนวน 5,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน โดยสอบถามว่าจะสะดวกรับผ่านทางช่องทางใด ระหว่างไปติดต่อที่ธนาคารกรุงไทยด้วยตัวเองหรือจะรับผ่านแอปพลิเคชัน ผู้เสียหายได้เลือกรับผ่านแอปพลิเคชัน

โดยเริ่มต้นจากเพิ่มเพื่อนกับผู้ใช้ไลน์ชื่อ “Krungthai Bank” จากหมายเลขโทรศัพท์มือถือ จากนั้นมีการพูดคุย มีการสอบถาม ยืนยันชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ของผู้เสียหาย และมีการแนะนำให้ทำธุรกรรมผ่านทางลิงก์เว็บไซต์ โดยมีการสนทนาผ่านโทรศัพท์มือถือไปพร้อมกัน ซึ่งทางมิจฉาชีพให้ผู้เสียหายเข้าใช้งานเว็บไซต์ดังกล่าว ปรากฏหน้าเว็บเพจมีลักษณะคล้ายแอปพลิเคชันถุงเงิน จากนั้นให้ผู้เสียหายกรอกข้อมูล ชื่อ นามสกุล เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด อีเมล สแกนใบหน้ายืนยันตัวตน และกดรับรหัส OTP เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จ มิจฉาชีพแจ้งว่าข้อมูลของผู้เสียหายไม่ผ่านจะต้องทำการเปลี่ยนธนาคารจากธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ และให้กรอกข้อมูลชื่อนามสกุล เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด อีเมล สแกนใบหน้ายืนยันตัวตน และกดรับรหัส OTP อีกครั้ง

หลังการกรอกข้อมูลเสร็จเรียบร้อยมิจฉาชีพออกอุบายว่าข้อมูลของผู้เสียหายไม่ผ่านอีก จะต้องทำการเปลี่ยนธนาคารจากธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นธนาคารกรุงเทพ และให้กรอกข้อมูลชื่อนามสกุล เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด อีเมล สแกนใบหน้ายืนยันตัวตน และกดรับรหัส OTP อีกเป็นครั้งที่สาม โดยมิจฉาชีพแจ้งว่าข้อมูลของผู้เสียหายไม่ผ่านอีก แต่ครั้งนี้ผู้เสียหายเริ่มเอะใจรู้ตัวว่าถูกหลอก จึงบอกว่าไม่ขอรับเงินจำนวน 5,000 บาทแล้ว

ระหว่างนั้นโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายมีอาการค้าง ใช้งานไม่ได้ และไม่ปรากฏการแจ้งเตือนใดๆ ทางผู้เสียหายจึงรีบกดวางสายและเข้าตรวจสอบข้อมูลในโทรศัพท์ พบว่ามีการออกจากระบบและมีข้อความจากธนาคารกรุงไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ว่ามีการยืนยันตัวตนเข้าสู่ระบบผ่านอุปกรณ์เครื่องอื่น และมีเงินถูกโอนออกจากบัญชีของผู้เสียหาย โดยที่ไม่ได้ทำธุรกรรมการโอนเงินเป็นจำนวน 4 ครั้ง ภายในเวลา 30 นาที จนหมดเกลี้ยงบัญชี รวมเป็นเงินกว่า 1.5 ล้านบาท ก่อนแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ ให้ดำเนินคดีกับคนร้าย

ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน กก.1 บก.สอท.2 ได้แกะรอยเส้นทางการเงิน พบความเขื่อมโยงและผู้ที่เกี่ยวข้องในขบวนการของเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลุ่มนี้ทั้งหมด 15 คน จึงรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลออกหมายจับไปแล้ว 12 คน อยู่ระหว่างขออนุมัติหมายจับเพิ่มอีก 3 คน ติดตามจับกุมได้แล้ว 6 คน โดยมีชาวจีนที่เตรียมออกหมายจับเป็นตัวการสำคัญระดับสั่งการและผู้ต้องหาชาวกัมพูชา ทำหน้าที่คอยกดเงินออกจากตู้เอทีเอ็ม ที่ออกหมายจับไปแล้วอยู่ระหว่างติดตามตัว

จากการสอบสวนกลุ่มผู้ต้องให้การรับสารภาพว่า ได้รับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร เมื่อช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ก่อนนำมาขายให้กับผู้รับซื้อในราคาบัญชีละ 300-1,000 บาท โดยไม่รู้ว่าผู้รับซื้อจะนำไปใช้ในขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ก่อนควบคุมตัวนำส่งพนักงานสอบสวน บก.สอท.2 ดำเนินคดีต่อไป.