เมื่อวันที่ 9 ก.ย.นายกรณ์ จาติกวนิช อดีตรมว.คลัง ได้โพสต์ข้อความระบุว่า โลกหลังโควิด การ Disrupt ครั้งใหญ่ ไทยเราจะเอาตัวรอดได้อย่างไร?

ผมร่วมงานของเครือหนังสือพิมพ์ Financial Times ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ รอบนี้พาลูกชายติดไปเป็นเพื่อน งานเขาจัด 8 เวทีคู่ขนาน เราเลือกเข้าร่วมตามประเด็นที่เราสนใจ

แน่นอนธีมหลักคือเรื่อง “โลกหลังโควิด และความเปลี่ยนแปลงในขั้วอำนาจหลักของโลก” (โดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐอเมริกาและ NATO ได้ถอนตัวจากอัฟกานิสถาน) หลายคนเอาประสบการณ์ของตนมาใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ เช่นอดีตนายกรัฐมนตรี John Major และ Dame Sarah Gilbert (ผู้ค้นคว้าวัคซีน Oxford Astra Zeneca)

ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดมีผลต่อประเทศไทยทุกเรื่อง และเป็นคำถามว่ารัฐมนตรีหรือ ส.ส.ของเราติดตามหรือใส่ใจมากพอหรือไม่ ทุกเรื่องทุกประเด็นกลายเป็นประเด็นการแบ่งข้างทางการเมือง ทุกปัญหาจึงเป็นเรื่องความขัดแย้ง หาทางออกได้ยาก

ซึ่งหากใครคิดว่าโลกจะเป็นอย่างไร เราก็อยู่ของเราได้ คงต้องคิดใหม่ครับ ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาเรามีบทเรียนมากมายจาก Financial Crisis : Hamburger Crisis ปี2008, Covid, Climate Crisis หรือการแข่งขันระหว่างขั้วนาจจีน/สหรัฐอเมริกา

ทุกเรื่องทุกเหตุการณ์ส่งผลตรงกับเราทั้งๆที่เรา ‘อยู่ของเราดีๆ’ ไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับใครมากมาย แต่สุดท้ายก็ไม่แคล้วต้องรับผลของปัญหามาเป็นภาระของเราที่ต้องแก้ไข

วันนี้ประเทศไทยเราแทบไม่อยู่ในสายตาต่างชาติ หากเทียบกับ 20-30 ปีที่แล้วในยุค ‘โชติช่วงชัชวาลย์’ ระดับความสนใจต่อประเทศเรามีน้อยลงมาก เสน่ห์เราหาย เราเหมือนหนุ่มสาวที่พึ่งพารูปร่างหน้าตาจนลืมที่จะพัฒนาตัวเอง วันดีคืนดีเราพบว่ามีคนอื่นเขาสดกว่าเรามาดึงดูดความสนใจไป

แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือเพื่อนวัยเดียวกันก็ไปไกลแล้ว เพราะเขาเพิ่มทักษะและเสริมความรู้มาตลอด ในขณะที่เราต้องแต่งหน้าเสริมสวยมากขึ้นเรื่อยๆ เขาเลิกพึ่งพาหน้าตามานานแล้ว

ซึ่งก็อีก หากใครบอกว่า ‘ใครไม่สนก็ช่างเค้า’ ก็คงไม่ได้อีก เพราะวันนี้เราต้องพึ่งทั้งการลงทุน ทั้งนักท่องเที่ยว และทั้งการส่งออกสินค้านานาชนิดไปต่างประเทศ และทั้งหมดนี้กลับกลายเป็นเงินเข้ากระเป๋าพี่น้องชาวไทยของเราทั้งหมด เราเลยยิ่งต้องใส่ใจ

ที่สำคัญ โควิดทำให้เราเห็นว่า ‘รัฐบาล’ มีความสำคัญกับชีวิตเราแค่ไหน รัฐบาลมีอำนาจและบทบาทเหนือชีวิตเราในระดับที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน สั่งให้เราห้ามออกจากบ้านได้เป็นเดือนๆ จัดยา จัดวัคซีนให้กับเรา ดูแลให้เรามีเงินใช้ มีข้าวกิน (ช้าบ้าง ไม่พอบ้าง) ออกคำสั่งปิด-เปิดประเทศ ปิด-เปิดร้านค้าร้านอาหาร และสร้างภาระหนี้มหาศาลให้เราและลูกหลานเรา

และอำนาจนี้เสมือน ‘ดาบ’ อำนาจรัฐที่เมื่อดึงออกจากฝักแล้วคงไม่ใส่กลับง่ายๆ เราจึงยิ่งจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่รอบรู้ มีความสามารถ มีความเป็นมืออาชีพ พร้อมฟังและตัดสินใจด้วยหลักศีลธรรมและความเป็นธรรม

รัฐบาลที่มีบทบาท และอำนาจมากยิ่งต้องมีความโปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อประชาชน และรัฐบาลจะเป็นเช่นนี้ได้ต้องเป็นรัฐบาลโดยประชาชน และเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง นี่คือบทเรียนที่สำคัญที่สุดของเราจากโควิดครับ