ขอให้คุณผู้อ่าน อ่านบทความนี้ให้จบก่อนนะครับ เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก แล้วนำสัตว์เลี้ยงไปปล่อย… เจ้าของสุนัขโดยเฉพาะลูกสุนัข น่าจะเคยพบเห็นตัวหนอนพยาธิชนิดนี้ได้บ่อย เวลาที่ลูกสุนัขอาเจียนหรือท้องเสีย ตัวเต็มวัยของหนอนพยาธิซึ่งอาศัยอยู่ในลำไส้เล็ก จะปะปนออกมากับสิ่งอาเจียนหรืออุจจาระ หนอนพยาธิชนิดนี้อยู่ในกลุ่มของหนอนพยาธิตัวกลม ลำตัวความหนา ตัวผู้มีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ปลายหางงอ และตัวเมียมีความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ปลายหางตรง

หนอนพยาธิไส้เดือนในสุนัข

หนอนพยาธิเพศเมียสามารถปล่อยไข่พยาธิ ได้ถึงวันละประมาณ 200,000 ฟอง ออกมากับอุจจาระของสุนัข ไข่พยาธิที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือติดอยู่ตามขนของสุนัข จะมีการแบ่งตัวของเซลล์และมีการพัฒนาของตัวอ่อนของพยาธิอยู่ภายใน จนเป็นไข่พยาธิที่เป็นระยะติดต่อ โดยใช้เวลา 2-4 สัปดาห์ ไข่พยาธิมีความทนทานในสิ่งแวดล้อมเนื่องจากเปลือกและผนังของไข่มีความหนา สุนัขสามารถได้รับระยะติดต่อนี้ไปพร้อมกับน้ำและอาหาร หรือมีการปนเปื้อนของระยะตัวอ่อนของหนอนพยาธิในเนื้อสัตว์ ได้แก่ กระต่าย หนู หมู วัว และไก่ และถูกสุนัขกินเข้าไปโดยไม่ผ่านการปรุงสุก ระยะตัวอ่อนของหนอนพยาธิจะพัฒนาไปเป็นหนอนพยาธิตัวเต็มวัยที่ลำไส้เล็ก ตัวอ่อนของหนอนพยาธิบางส่วนจะเข้าสู่เนื้อเยื่อของอวัยวะภายใน และเข้าสู่ระยะพัก สุนัขเพศเมียที่มีตัวอ่อนระยะพักของหนอนพยาธิไส้เดือน เมื่อตั้งท้องจะมีฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่สูงขึ้นในช่วงตั้งท้อง ไปกระตุ้นตัวอ่อนของหนอนพยาธิระยะพัก ให้เดินทางผ่านรกไปยังตัวอ่อนของสุนัขที่อยู่ในมดลูกได้ ดังนั้น เจ้าของสัตว์จะสามารถเห็นลูกสุนัขที่เกิดมาเพียงไม่กี่วัน อาเจียนหรือขับถ่ายหนอนพยาธิตัวเต็มวัยออกมาได้  นอกจากนี้ ตัวอ่อนของหนอนพยาธิระยะพัก สามารถเดินทางไปยังเต้านมของสุนัขที่ตั้งท้องและให้นมลูกได้ ดังนั้น ลูกสุนัขหลังเกิดมาจะสามารถได้รับตัวอ่อนของหนอนพยาธิผ่านทางน้ำนมได้อีกทางหนึ่ง

วงจรชีวิตของหนอนพยาธิไส้เดือนในสุนัข

(ที่มา https://www.cdc.gov/dpdx/toxocariasis/index.html)

การติดหนอนพยาธิไส้เดือนชนิดนี้ในคน ที่พบได้บ่อยเกิดขึ้นโดย เด็กที่มาเล่นในสนามเด็กเล่นหรือสวนสาธารณะได้รับไข่พยาธิระยะติดต่อเข้าไป โดยติดไปกับมือและเล็บ ซึ่งเด็กเล็กมักเล่นและเอานิ้วเข้าปาก หรือการไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบขนมหรืออาหาร ซึ่งสนามเด็กเล่นหรือสวนสาธารณะเป็นพื้นที่ที่มีการทำกิจกรรมร่วมกันของเด็ก และสุนัขที่เจ้าของพามาเดินเล่นและขับถ่ายอุจจาระ บางหมู่บ้านจึงมีการใช้มาตรการติดตั้งป้ายในบริเวณดังกล่าว เพื่อเตือนให้เจ้าของสุนัขพาสุนัขไปขับถ่ายที่บริเวณอื่น และให้มีความรับผิดชอบเก็บอุจจาระของสุนัขไปทิ้งในที่ที่จัดเตรียมไว้

ป้ายห้ามนำสุนัขมาขับถ่ายบริเวณสวนสาธารณะของหมู่บ้าน

การติดหนอนพยาธิในผู้ใหญ่ เกิดจากการปนเปื้อนของไข่พยาธิระยะติดต่อไปกับมือ ไม่ล้างมือหรือล้างมือไม่สะอาด และไปหยิบอาหาร หรือกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ปรุงสุกที่มีตัวอ่อนของหนอนพยาธิอยู่ ถึงแม้ว่าหนอนพยาธิไส้เดือนไม่สามารถพัฒนาเป็นระยะตัวเต็มวัยในคนได้ แต่ตัวอ่อนของหนอนพยาธิสามารถทำอันตรายต่อคนได้ โดยอาการของคนที่ติดหนอนพยาธิไส้เดือน พบได้ทั้งแบบไม่มีอาการ หรือมีอาการที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ของหนอนพยาธิระยะตัวอ่อนไปตามอวัยวะภายในต่าง ๆ ของคน ได้แก่ อาการทางระบบประสาท อาการอักเสบของตาและเส้นประสาท อาการของระบบทางเดินหายใจ และตับอักเสบ

สื่อประชาสัมพันธ์การล้างมือให้สะอาด

(ที่มา: สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)

โดยสรุปโรคหนอนพยาธิไส้เดือน สามารถติดต่อสู่คนแต่ป้องกันได้ ด้วยการกินอาหารที่ปรุงสุก ตัดเล็บให้สั้น ล้างมือให้สะอาด หลังจากสัมผัสสุนัขและทำกิจกรรมที่สนามเด็กเล่นหรือสวนสาธารณะ ซึ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ได้มีการรณรงค์วิธีการล้างมือให้สะอาดผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ มาตลอด ซึ่งเป็นการง่ายที่จะปลูกฝังให้เด็ก ๆ รวมถึงผู้ใหญ่ได้ล้างมือกันอย่างถูกวิธี นอกจากนี้ เจ้าของสุนัขที่เลี้ยงสุนัขไว้ในบ้าน หรือสุนัขชุมชนซึ่งอาศัยอยู่ตามวัด โรงเรียน และสถานที่ต่าง ๆ ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการจัดหายาถ่ายพยาธิมาให้สุนัขเป็นประจำทุก ๆ 3 เดือน และเก็บอุจจาระในพื้นที่สาธารณะที่สุนัขไปขับถ่าย เพื่อเป็นการลดและกำจัดไข่ของหนอนพยาธิไส้เดือนในสิ่งแวดล้อม สุดท้ายนี้ ขอให้ผู้อ่านทุกท่านปลอดภัยจากโรคโควิด-19 และโรคหนอนพยาธิไส้เดือนกันนะครับ วันนี้ลากันไปก่อน สวัสดีครับ.

รองศาสตราจารย์ ดร.นายสัตวแพทย์ศิวะพงษ์ สังข์ประดิษฐ์
ภาควิชาปรีคลินิกและสัตวศาสตร์ประยุกต์
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล