สัปดาห์นี้ พาไปทำความรู้จัก…ว่าที่ 2 ท่าอากาศยาน (สนามบิน) น้องใหม่ ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ทั้ง 2 แห่ง จะเป็นที่ไหนกันบ้าง ติดตามรายละเอียดกันเล้ยย!!

กรมท่าอากาศยาน ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท อินทิเกรเทด เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ จำกัด, บริษัท สแปน คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท ไซน์-เทค เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ซูส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์จำกัด ออกแบบผังแม่บททางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และองค์ประกอบอื่นๆ รวมทั้งศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหาร วงเงิน 42.65 ล้านบาท ใช้เวลาออกแบบประมาณ 9 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน ธ.ค.65 เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคม และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป

ท่าอากาศยานมุกดาหาร มีวงเงินก่อสร้างประมาณ 5 พันล้านบาท เบื้องต้นที่ตั้งที่เหมาะสมอยู่บริเวณ ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร พื้นที่ประมาณ 2 พันไร่ อยู่ห่างจาก อ.เมือง จ.มุกดาหาร ประมาณ 20 กิโลเมตร (กม.) มีท่าอากาศยานใกล้เคียง 2 แห่ง ท่าอากาศยานนครพนม และท่าอากาศยานสกลนคร มีระยะห่างจากแต่ละสนามบินประมาณ 120 กม. คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 68 และเปิดบริการได้ประมาณปี 71

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นท่าอากาศยานแห่งใหม่ล่าสุดลำดับที่ 30 ของ ทย. และน่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยว เพราะจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และการขนส่งสินค้าได้อย่างดี แม้ จ.มุกดาหาร จะมีประชากรไม่มาก แต่จะมีผู้โดยสารจากพื้นที่อื่นมาใช้บริการจำนวนมาก โดยเฉพาะจากเมืองสะหวันนะเขต สปป.ลาว ซึ่งมีประชากรเป็นล้านคน เหมือนชาวเมืองเวียงจันทน์ ที่มาขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยานอุดรธานี

เหตุผลที่เลือกก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหาร เนื่องจากมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก อีกทั้งจังหวัดมุกดาหาร เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน มีศักยภาพและโอกาสทางการค้าและลงทุนสูง สามารถเชื่อมต่อไปยังเมืองสะหวันนะเขต สปป.ลาว ได้ ผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหาร ยังระบุด้วยว่า จ.มุกดาหาร สามารถก่อสร้างท่าอากาศยานได้ มีความคุ้มค่า และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

นอกจากนี้ยังช่วยทำให้ประชาชนในพื้นที่ จ.มุกดาหาร ประหยัดเวลาการเดินทาง จากเดิมหากจะเดินทางทางอากาศต้องไปขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ใช้เวลาเดินทางไปขึ้นเครื่อง 2-3ชั่วโมง (ชม.) หรือหากไปใช้บริการท่าอากาศยานสกลนคร หรือท่าอากาศยานนครพนม ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ชม.

นอกจากนี้ ทย. ยังว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท อลานา เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท ทรานส์ เอเชีย คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท แมสทรานสิท โซลูชั่นส์ จำกัด และบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้รับจ้างดำเนินการออกแบบผังแม่บททางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และองค์ประกอบอื่นๆ ตลอดจนศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ วงเงิน 42.69 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินงาน 270 วัน หรือประมาณ 9 เดือน คาดว่าจะออกแบบฯ แล้วเสร็จประมาณปลายปี 65 เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคม และที่ประชุมครม. พิจารณาเห็นชอบต่อไป

ผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬก่อนหน้านี้ จะใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 3,152ล้านบาท ประกอบด้วย อาคารที่พักผู้โดยสารพื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ทางวิ่ง (รันเวย์) ขนาด 45 × 2,500 เมตร รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ 160 ที่นั่งได้ ลานจอดอากาศยาน และอาคารประกอบต่างๆ

พื้นที่มีศักยภาพมากที่สุดที่จะใช้ก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ ได้แก่ พื้นที่ในเขต ต.โป่งเปือย และ ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ประมาณ 2,500 ไร่ อยู่ห่างจากหอนาฬิกา อ.เมืองบึงกาฬ ประมาณ 12 กม. ใช้เวลาเดินทางจากในเมืองไปถึงท่าอากาศยานบึงกาฬประมาณ 15 นาที อีกทั้งพื้นที่ก่อสร้างยังอยู่ในแนวเส้นทางของทางเลี่ยงเมืองที่ตัดสู่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว ได้ โดยขณะนี้กรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างก่อสร้าง

ทย.ให้เหตุผลของการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งนี้ด้วยว่า เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน และปัจจุบันเป็นจังหวัดที่มีระยะทางอยู่ห่างจากจังหวัดอื่นๆ ที่มีสนามบินเกิน 200 กม. ตามเกณฑ์การขอสร้างสนามบินใหม่ด้วย ขณะเดียวกัน จ.บึงกาฬ ยังมีศักยภาพด้านต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ทำให้หลายปีที่ผ่านมาในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติมาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี

เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬได้ในปี 68 เปิดบริการปี 71 ผลศึกษามีการคาดการณ์ว่าในปีแรกของการเปิดบริการ จะมีผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 1.07 แสนคน จากนั้นจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป เมื่อท่าอากาศยานเปิดให้บริการจะทำให้การเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ จ.บึงกาฬ มีความสะดวก และรวดเร็วมากขึ้น โดยปกติหากเดินทางทางรถยนต์จะใช้เวลาประมาณ 11-12 ชม. ขณะที่เดินทางทางเครื่องบินจะใช้เวลาประมาณ 1 ชม.กว่า.

อดใจรอ…2 สนามบินน้องใหม่ ลำดับที่ 30 และ 31 ต่อจากน้องสุดท้องในปัจจุบัน “สนามบินเบตง” ลำดับที่ 29 หากเปิดบริการได้ตามแผนในปี 71 พร้อมกัน รองรับอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวไทยที่จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง

————————————
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง