ซึ่ง “ภัยนี้” ที่ว่านั้น…หมายถึง “ภัยก่อการร้าย” ที่คนไทยอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ทางนักวิชาการผู้สันทัดกรณีด้านสถานการณ์ความมั่นคงท่านนี้ระบุว่าถึงตอนนี้นี่ “ยังเป็นภัยใกล้ตัวในสังคมเมือง” โดยที่…

ภัยใกล้ตัวภัยนี้ “ในไทยก็มองข้ามไม่ได้!!”

ประเทศไทย-ประชาชนคนไทย “ก็ต้องระวัง!!”

วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลมาสะท้อนต่อ…

ทั้งนี้ กับ “เหตุการณ์ร้ายแรง” ลักษณะนี้แม้ไม่ได้เกิดในไทย แม้เกิดในต่างประเทศ แต่เมื่อมีข่าวมาถึงไทยก็ทำให้คนไทยหวาด ๆ เช่นกัน โดยเฉพาะถ้าเกิดในประเทศเพื่อนบ้าน-เกิดใกล้ ๆ ชายแดนไทย อย่างเช่นการเกิดเหตุ ระเบิด “คาร์บอมบ์” ในเมียนมา บริเวณใกล้ด่านชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเมื่อเกิดเหตุก็ทำให้พื้นที่ในฝั่งไทยเงียบเหงาลงทันตา

อย่างไรก็ตาม โฟกัสกันที่กรณี “ภัยก่อการร้ายกับไทย” กรณีนี้ ศ.ดร.สุรชาติ ได้มีการย้ำเตือนคนไทยผ่านรายการของ สถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งก็นับว่าน่าพิจารณา โดยนักวิชาการท่านนี้ระบุไว้เนื้อหาโดยสังเขปมีว่า… แม้ปัจจุบันโรคระบาดและเศรษฐกิจจะเป็นปัญหาที่ตรึงความสนใจของผู้คนจำนวนมาก เพราะเป็นปัญหาที่กระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างหนัก แต่… ก็อย่าได้ละเลย “ภัยก่อการร้าย” เด็ดขาด!! เพราะยังเป็นภัยใกล้ตัวในสังคมเมืองซึ่งข้อมูล การจัดอันดับดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลก ปี 2565 (2022 Global Terrorism Index) นั้น… อันดับของประเทศไทยในด้านนี้อยู่ที่อันดับ 22 จาก 163 ประเทศทั่วโลก ซึ่งสูงขึ้น 3 อันดับจากปี 2564 และแสดงให้เห็นว่า ไทยยังคงเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายในระดับค่อนข้างสูงอยู่พอสมควร!!  จึงทำให้คนไทยยังคงต้องระมัดระวังตัวจากภัยนี้

ศ.ดร.สุรชาติ ย้ำเรื่องนี้ไว้ พร้อมกับได้อธิบายถึง “ความแตกต่าง” ระหว่าง “การก่อการร้าย” กับ “อาชญากรรม” ไว้ว่า… ในแต่ละสังคมได้ให้นิยามและความหมายของการก่อการร้ายแตกต่างกัน และไม่อาจหานิยามที่เป็นสากลกับเรื่องนี้ได้ แต่ สิ่งที่พอจะชี้ได้ว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเข้าข่ายก่อการร้าย ไม่ใช่อาชญากรรม คือดูจาก “แรงจูงใจในการก่อเหตุ”

“หากแรงจูงใจเป็นเรื่องส่วนตัว แม้จะรุนแรงก็ยังไม่นับเป็นการก่อการร้าย เช่น กรณีเด็กนักเรียนกราดยิงเพื่อนและครูในโรงเรียน แม้จะรุนแรงก็อาจจะไม่ใช่ก่อการร้าย แต่หากพบว่านักเรียนคนนั้นติดตามเว็บไซต์ของขบวนการก่อการร้าย แล้วลุกขึ้นมากราดยิง อันนี้ก็อาจเข้าข่ายก่อการร้าย” …นักวิชาการท่านนี้แจกแจงการจำแนกไว้

ขณะที่อีกหนึ่งหัวข้อที่ต้องนำมาพิจารณาก็คือ “วัตถุประสงค์ในการก่อเหตุ” ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำให้เห็น “ข้อแตกต่าง” ของ “ผู้ก่อการร้าย” กับ “อาชญากร” โดยหัวข้อนี้ทาง ศ.ดร.สุรชาติ ขยายความไว้ว่า… อาชญากรรมเป็นความรุนแรงที่ไม่มีเป้าหมายทางการเมือง แต่มีเป้าประสงค์ที่ทรัพย์สินหรือตัวบุคคล ขณะที่ การก่อการร้ายเป็นเหตุรุนแรงที่มีเป้าหมายทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือเป็นการก่อเหตุโดยสมาชิกของขบวนการก่อการร้าย เช่น เหตุวินาศกรรม 11 กันยายน หรือเหตุที่กลุ่มโบโกฮารามลักพาตัวเด็กหญิงในประเทศไนจีเรียจำนวนกว่า 300 คน เป็นต้น

พร้อมกันนี้ ก็ยังได้มีการอธิบายเพิ่มเติมไว้อีกว่า… ในอดีต…ผู้ก่อการร้ายมักจะอยู่ในขบวนการหรือเป็นสมาชิกแนวร่วมของขบวนการก่อการร้าย แต่ในโลกยุคปัจจุบันนี้ รูปแบบที่พบเยอะขึ้นก็คือ…หลาย ๆ กรณีผู้ก่อเหตุเป็นผู้ ปฏิบัติการเพียงลำพังคนเดียว (lone actor) ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในขบวนการอย่างเต็มรูปแบบ แต่ติดตามข้อมูลของขบวนการ และได้รับอิทธิพลทางความคิดจากขบวนการ แล้วลุกขึ้นมา ลงมือกระทำการด้วยตัวเอง ตามความเชื่อที่ได้รับการปลูกฝังทางความคิด ซึ่งระยะหลัง ๆ หลาย ๆ เหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก ก็พบว่า… มักจะเป็นผู้ก่อการร้ายในรูปแบบนี้…

หรือที่หลายคนจะคุ้น ๆ หูกับคำว่า “โลน วูล์ฟ”

ทั้งนี้ กับ “แนวทางป้องกันตัวเพื่อให้รอดจากภัยก่อการร้าย” นั้น กับเรื่องนี้ทาง ศ.ดร.สุรชาติ ระบุไว้ว่า… การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมืองนั้น การระมัดระวังตัวเป็นเรื่องยาก แต่ก็พอมีแนวทางที่จะพาตัวเองให้รอดจากภัยก่อการร้ายได้ นั่นก็คือ หมั่นสังเกตความผิดปกติรอบตัว โดยเฉพาะ เมื่อเห็นสิ่งที่ผิดแปลก ผิดที่ผิดทาง ห้ามแตะต้องเด็ดขาด!!

นอกจากนั้น ประชาชนคนไทยทุกคน ควรมีความรู้เรื่องการรับมือกับการก่อการร้าย เช่น เมื่อมีการวางระเบิด หรือถูกขู่วางระเบิด ก็ควรรู้ว่าควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และก็ ควรต้องมีการฝึกฝนเกี่ยวกับการอพยพในยามที่เกิดเหตุฉุกเฉิน รวมถึง ควรรู้จักวิธีปฏิบัติตัวขณะเกิดเหตุก่อการร้าย เช่น การใช้โทรศัพท์ขณะมีเหตุวางระเบิด เป็นต้น และนอกจากนี้ ภาครัฐควรตระหนักถึงภัยนี้โดยเร่งลงทุนด้านความมั่นคงเพื่อรับมือ “ภัยก่อการร้ายสมัยใหม่” ไว้ด้วย

“ปัจจุบัน สังคมเมืองมีความเปราะบางในตัวเองสูงขึ้น ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่ทำให้ผู้ก่อเหตุใช้เป็นเงื่อนไขในการก่อการร้ายได้ การวางระบบป้องกันการก่อการร้ายในเขตพื้นที่เมืองจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ” …ทาง ศ.ดร.สุรชาติ ชี้ไว้

แม้จะไม่อยากเชื่อ…แต่ “ก็ควรต้องสำเหนียกกันไว้”

ภัยก่อการร้าย”…ที่อาจจะ “คิดว่าไกลตัวคนไทย”

อาจอุบัติขึ้นในไทย”…โดยที่ “ไม่ได้คาดคิด!!!”.