โดยที่ขั้นตอนต่อมาก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นพิจารณา จำนวน 27 คน ซึ่งมีกำหนดเวลาแปรญัตติภายใน 7 วัน ตามข้อบังคับ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่ากฎหมายนี้จะยังไม่เสร็จสิ้นขั้นตอน 100% แต่ก็…

จุดประกายความหวัง LGBTQ+ ไทย

แสดงถึงความก้าวหน้ากฎหมายไทย

นี่เป็น “หมุดหมายใหม่ของไทย” ด้วย

เกี่ยวกับ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” นั้น ก็ได้เกิดเป็นกระแสที่สังคมไทยให้ความสนใจติดตามกันอย่างคึกคัก จนถึงขั้นดันให้ #สมรสเท่าเทียม ติดอันดับประเด็นฮิตในโซเชียลติดต่อกันต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังหลายคนทราบผลสรุปจากที่ประชุมวุฒิสภาเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งหลายคนมองเป็น “นิมิตหมายที่ดี” ของ “กลุ่ม LGBTQ+ ไทย” หลังจากมีการรณรงค์และผลักดันเรื่องนี้มายาวนาน… อย่างไรก็ตาม แต่ก่อนจะถึงวันที่มีกฎหมายฉบับนี้คลอดออกมา 100% กับผู้ที่ไม่ได้ติดตามลงลึกข่าวสารกฎหมายนี้ ก็อาจยังไม่เคลียร์ว่า… กฎหมายนี้คืออะไร? กฎหมายนี้มีประโยชน์อย่างไร?

ทั้งนี้ กับ “มุมวิเคราะห์-เสียงสะท้อน” เกี่ยวกับ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” รวมถึง “คำตอบของคำถาม” ที่ว่า…กฎหมายฉบับนี้เมื่อมีแล้วจะมีประโยชน์อย่างไร? และ… จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง? นั้น… ก็มีแง่มุม-ข้อมูลที่สะท้อนจากทาง จิตติมา ภาณุเตชะ นายก สมาคมเพศวิถีศึกษา ที่ระบุผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… ในฐานะที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้มาอย่างยาวนานต่อเนื่องส่วนตัวมองเป็นเรื่องดี ที่สำคัญจะเป็นหมุดหมายสำคัญของสังคมไทยยุคใหม่ ที่เปิดกว้างยอมรับสิทธิผู้มีความหลากหลาย…และช่วยให้ “มีหลักประกันชีวิต” ทำให้สามารถ “สร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ได้”

“เนื่องจากการที่ไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้น จะเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงการที่สังคมไทยเปิดใจยอมรับการสร้างครอบครัวของคนเพศเดียวกัน ในฐานะคู่สมรส หรือคนที่อยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยา ซึ่งการที่สังคมยอมรับกฎหมายนี้ มันก็เกี่ยวโยงไปถึงเรื่องของสิทธิและกฎหมายอื่น ๆ ด้วย” …นายกสมาคมเพศวิถีศึกษาระบุ

และแหล่งข่าวคนเดิมนี้ก็ยังได้ระบุไว้อีกว่า… “สิทธิ” ที่พูดถึงนี้ เป็นเรื่องที่ชาว LGBTQ+ ได้เรียกร้องมานาน เพราะแม้สังคมจะลดอคติในการอยู่กินร่วมหอกันของคนเพศเดียวกัน หรือคู่รักที่มีความหลากหลาย แต่ เมื่อจำเป็นจะต้อง “ใช้สิทธิ” ก็มักจะ “เกิดปัญหาและอุปสรรค” เพราะ “กฎหมายไม่ได้มีการรับรองสถานะ” ทำให้ “ขาดโอกาส” ทั้งที่ควรจะได้รับ อาทิ สิทธิเบิกจ่ายการรักษาพยาบาล หรือสิทธิการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของคู่ครองตนเอง เป็นต้น ดังนั้นถ้าหาก กฎหมายสมรสเท่าเทียม เกิดขึ้นจริง ๆ ก็จะทำให้ “คนเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้” ซึ่งสิ่งที่จะ
ตามมาคือ…

“สิทธิประโยชน์” คู่สมรสเพศเดียวกัน

ต้อง “ได้รับเหมือนคู่สมรสชาย-หญิง”

ทาง จิตติมา นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา ได้มีการขยายความเรื่องนี้ผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ต่อไปว่า… เมื่อกฎหมายดังกล่าวนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะทำให้คนเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้ สิทธิสวัสดิการที่พึงจะได้ ก็จะได้โดยอัตโนมัติ เช่นเดียวกับการจดทะเบียนสมรสของชาย-หญิง และยังช่วย “เรียกความมั่นใจ” จากชาว LGBTQ+ ทั่วโลก ที่จะ “เชื่อมั่นเมืองไทย” เพราะการมีกฎหมายนี้สะท้อนว่าไทยเป็นสังคมที่มีความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ

อย่างไรก็ตาม แต่ ก่อนจะมี “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ออกมามีผลบังคับใช้ จริง ๆ นั้น จิตติมา ชี้ว่า… ก็ยังคง มี “ช่องว่าง” ที่ไทยจะ “ต้องจัดการ” ก่อน อาทิ การรับบุตรมาเลี้ยง ซึ่งยังมีการโต้แย้งกันอยู่ โดยภาคประชาสังคมไม่อยากให้ใช้คำว่าพ่อแม่ อยากให้ใช้ว่า “บุพการี” มากกว่า เพราะสมมุติถ้าหากเป็นคู่สมรสแบบหญิงรักหญิง หรือชายรักชาย ที่ต้องการรับเด็กมาเลี้ยง แล้วควรระบุว่าใครเป็นพ่อหรือแม่?? แต่ถ้าใช้คำว่าบุพการีก็จะได้ไม่ต้องสวมหมวกว่าเป็นพ่อหรือเป็นแม่ และที่สำคัญ ส่วนใหญ่ก็รู้สึกไม่สะดวกสบาย หรือไม่สะดวกใจ ที่จะต้องรับสถานภาพ หรือต้องบอกคนอื่น ๆ ว่า…เป็นพ่อหรือไม่??

“เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายนี้ ถือว่าเป็นความก้าวหน้ามาก เพราะจะช่วยทำให้ LGBTQ+ เข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ได้ รวมถึงจะช่วยลดในเรื่องของอคติ ทำให้สามารถเข้าถึงสิทธิการสร้างครอบครัวได้สมบูรณ์แบบมากขึ้น เช่น การรับบุตรมาเลี้ยง การเปลี่ยนคำนำหน้านามคนข้ามเพศ เป็นต้น”…ทางนายก สมาคมเพศวิถีศึกษา ระบุ

พร้อมย้ำด้วยว่า… แม้ยกนี้ชาว LGBTQ+ จะได้เฮกัน เมื่อสังคมส่วนใหญ่ก็ยอมรับแล้ว แต่ความเป็นจริงก็ต้องไม่ลืมว่า… “ก็ยังมีบางส่วนที่มีอคติกับเรื่องนี้อยู่มากเช่นกัน” ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องก็ต้องทำงานกันต่อไป เพื่อจะให้อคติเหล่านี้หมดไป โดยเฉพาะการสื่อสารกับสังคม เพราะจะทำให้เกิดการยอมรับอย่างแท้จริง …เป็นอีกสิ่งที่ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา ระบุ…

เพื่อฝากสังคมไทยช่วยกัน “ปลดล็อก”

ขจัด “อคติที่มีต่อคู่รักเพศเดียวกัน”

โดย “เข้าใจ-ยอมรับอย่างแท้จริง”

เพราะ “ถึงมีกฎหมายก็ยังไม่พอ”.