โดยมีทั้ง อุปสมบท-บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ และ บรรพชา-บวชเป็นสามเณร ซึ่งเป็นประเพณีที่มีความหมาย ที่ยึดปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ สะท้อนคติความเชื่อที่อิง พระพุทธศาสนา ถือเป็นการ สืบทอดพระพุทธศาสนา เชื่อว่าเป็นการ ตอบแทนพระคุณบิดามารดา เชื่อว่า “บุญ” จากการบวชจะช่วยให้บิดามารดาผู้ที่บวชได้ “เกาะผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์” และก็ยังเชื่อว่า…

“บวช” เป็น “ชีวิตขั้นสองต่อจากเกิด”

ชายชาวพุทธ” นั้น “ควรบวชสักครั้ง”

อนึ่ง การบวชนั้น…ไม่ว่าจะ “บวชพระ” หรือ “บวชเณร” ไม่ว่าจะ “บวชเดี่ยว” หรือ “บวชหมู่” ไม่ว่าจะ “บวชเอาพรรษา” หรือ บวชระยะสั้น ๆ” หรือ “บวชพระ-บวชเณรภาคฤดูร้อน” สำหรับชาวพุทธแล้วไม่ว่าจะแบบไหนก็ถือเป็นเรื่องต้องสาธุ เป็นเรื่องดีที่น่าอนุโมทนาบุญ อย่างไรก็ดี ในยุคปัจจุบันที่ วงการผ้าเหลืองมีเรื่องฉาวครึกโครมมากอย่างต่อเนื่อง เมื่อตัดสินใจจัดพิธีบวช เมื่อตัดสินใจจะบวช “การปฏิบัติต่าง ๆ การประพฤติกรณีต่าง ๆ อย่างถูกต้องเหมาะสม” ก็ยิ่งถือเป็นเรื่องที่ “ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก” ควรบวชด้วยความตั้งใจจริง และควรเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับการบวช…

เช่นนี้ “อานิสงส์จากการบวชจึงจะมี”

“บุญจึงจะเกิด” และ “ไม่เสี่ยงได้บาป”

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอสะท้อนต่อข้อมูลเกี่ยวกับการ “บวชพระ” ซึ่งชาวพุทธยึดถือปฏิบัติกันทุกภาคในไทย เพียงแต่อาจแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดตามแต่ท้องถิ่น แต่โดยทั่วไปก่อนบวชมักต้องมีการไปอยู่ที่วัดเพื่อ ฝึกท่องคำขานนาค ซึ่งหลังมีพิธีโกนผมแล้วจะเรียกผู้จะบวชว่า “นาค” หรือ “พ่อนาค” ซึ่งจะรับศีล อาราธนาพระปริตร พระสงฆ์พรมน้ำมนต์และสระผมนาค ทั้งนี้ ผู้ที่โกนผมให้อาจเป็นพระสงฆ์ พ่อแม่ ญาติก็จะโกนด้วยเล็กน้อย จากนั้นก็อาบน้ำนุ่งขาวห่มขาว

ก่อนเข้าบวชก็จะมีการ แห่นาครอบโบสถ์ 3 รอบ เป็นการบูชาพุทธศาสนา เมื่อแห่ครบ 3 รอบแล้วนาคจะจุดธูปเทียน บูชาพัทธสีมา มีการกรวดน้ำ จากนั้นญาติจะช่วยกันอุ้มนาคเข้าโบสถ์ โดยพ่อแม่นาคจะส่งไตรครองให้นาค เพื่อถวายพระอุปัชฌาย์ ซึ่งนาคจะต้องกล่าวคำขอบรรพชา รับศีล 10 ก่อน พระอุปัชฌาย์ก็จะคล้องบาตรสะพาย พระคู่สวดจะประกาศว่าผู้ที่ชื่อนั้น ๆ ได้มาขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ แล้วตั้งคำถามเป็นข้อ ๆ เรียกว่า “ขานนาค” เมื่อขานนาคเสร็จนาคก็ขออุปสมบทต่อคณะสงฆ์ คณะสงฆ์กล่าวอนุศาสน์ หรือข้อควรและไม่ควรปฏิบัติขณะที่บวช เมื่อจบ พระบวชใหม่ก็ถวายของบูชาพระคุณแก่คณะสงฆ์ จากนั้นรับของถวาย เครื่องไทยธรรม จากญาติ ๆ และก็จะมีการกรวดน้ำอุทิศกุศล …นี่เป็นขั้นตอนพิธีโดยสังเขป

หากพิจารณาลึก ๆ “การบวช” นั้นมุมหนึ่งก็ถือเป็นภูมิปัญญา เป็นกุศโลบายชาวพุทธ ที่นำประโยชน์หลายประการมาสู่ตัวของผู้บวช ครอบครัว และสังคม ซึ่งชายวัยรุ่นช่วงวัย 20 ปีนั้นถือเป็น “วัยคึกคะนอง” มักเลือดร้อน แต่ หากได้บวชอยู่ในร่มเงาศาสนา ครองผ้ากาสาวพัตร์ ก็พอจะช่วยกันภัยต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะภัยที่เกิดจากการทะเลาะวิวาท-ขาดสติ

และกล่าวสำหรับ “ประโยชน์จากการบวชเป็นพระภิกษุ” นั้น…ทาง พระศรีญาณโสภณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ก็ได้เคยให้ความรู้ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ โดยสังเขปมีว่า… “การบวช” คือการตัดขาดจากสังคมโลกแห่งฆราวาสวิสัย และ เป็นการฝึกหัด ขัดเกลาจิตใจ ตลอดจนปรับเปลี่ยนนิสัยหรือพฤติกรรมที่เคยชิน-ที่ไม่ดี จากสภาวะของเพศที่เปลี่ยนไปจากชายธรรมดา…เป็น “สมณเพศ” ที่บ่งบอกถึงความสูงส่งของเพศ เข้าสู่พระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวพุทธไทยเชื่อว่า ลูกชายได้บวช พ่อแม่ก็จะได้เกาะผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ จึงถือเป็นการทดแทนบุญคุณพ่อแม่เป็นส่วนหนึ่งที่ ช่วยให้จิตใจพ่อแม่ปลาบปลื้มมีความสุข ซึ่งพ่อแม่ก็หวังว่าลูกได้ศึกษาพระธรรมวินัยแล้วจะเป็นคนดี รับผิดชอบชีวิตตนเองได้…

พ่อแม่ “หวังให้ลูกปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ”

ลูก “เป็นดังที่หวังพ่อแม่ก็ยิ่งได้บุญ”

นอกจากนั้น พ่อแม่ที่เคยแต่มัววุ่นวายอยู่กับการทำมาหาเลี้ยงชีพ จนไม่ค่อยได้นึกถึงพระถึงวัด ไม่มีเวลาเข้าวัด การที่ลูกชายบวชก็จะนึกถึงลูก…เท่ากับนึกถึงพระนึกถึงวัดด้วย พ่อแม่ รวมถึงญาติ ๆ ก็จะได้เข้าวัด ได้ทำบุญบ่อยขึ้น เท่ากับว่าลูกได้ช่วยโน้มน้าวจิตใจพ่อแม่เข้าสู่พระศาสนา สู่คำสอนพระพุทธเจ้า สู่ธรรมะ ทำให้พ่อแม่ได้เข้าวัด ได้ใกล้ชิดพระศาสนา เรียกว่าเป็นญาติพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ดังนั้น “ประโยชน์ที่ได้รับจากการบวชมีนานัปการ” …ทาง พระศรีญาณโสภณ ชี้ไว้

แต่ทั้งนี้ ท่านก็ได้ระบุไว้ด้วยว่า “การบวช” นั้น ทั้งผู้บวชผู้เกี่ยวข้อง ต้องไม่ลืมหัวใจสำคัญตามวิถีพุทธ คือ…ทำความดี ละเว้นความชั่ว เพื่อกุศลผลบุญ ควรเลี่ยงการจัดงานบวชแบบสุ่มเสี่ยง “ได้บาปแทนบุญ” มีเรื่องการมึนเมา อึกทึกครึกโครม โดยที่ผ่านมามีหลายงานที่ เลยเถิดเกินความเหมาะสม หรือถึงขั้นเกิดทะเลาะวิวาท เกิดความรุนแรงระหว่างจัดงานบวช …ซึ่งแบบที่ไม่ดีที่พระท่านว่านี่…ก็เคยมีหลาย ๆ งาน หลาย ๆ กรณีที่ “โดนคดีเดือดร้อนกันทั่วหน้า”

“หน้าบวช” เวียนมาถึง..เป็น “หน้าบุญ”

“บวช” ก็อนุโมทนา… “ขอให้ได้บุญจริง”

โดยที่… “มิใช่ว่าได้บาปแทนบุญ!!!”.