โดยมีต้นเหตุจากหลาย ๆ ปัจจัย ทั้งการ ไม่เคารพกฎจราจร ทั้งความ ประมาท หรือจากการ ขาดความรับผิดชอบ รวมถึงจาก ปัญหากายภาพถนนและทางเดินเท้า ซึ่งแต่ละปีมีจำนวนอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต ไม่ใช่น้อย ๆ และเคยมีข้อมูลโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุไว้ว่า…ไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยปีละมากกว่า 1.7 หมื่นคน!!!

ที่สำคัญในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดนี้

ผู้ที่ “มีโอกาสเสียชีวิตเมื่อมีอุบัติเหตุ”

“คนเดินเท้า” คือ “กลุ่มเสี่ยงมากสุด!!”

ทั้งนี้ กรณี “ภัยคนเดินเท้า” ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ ก็เป็น “ภัยใกล้ตัวคนไทยมาก” โดยใน รายงานสุขภาพคนไทย ปี 2566 ของทาง สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ก็มีบทวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวนี้ในรายงาน ซึ่งสะท้อนปัญหาและเสนอแนวทางแก้ปัญหาไว้ภายใต้ชื่อหัวข้อ “ความปลอดภัยบนทางม้าลายและคนเดินเท้า : แนวทางการปรับปรุง” ที่แสดงให้เห็น “ปัญหาที่หลากหลาย” และสะท้อน “ปัญหาสวัสดิภาพคนเดินเท้า”

“กลุ่มคนเดินเท้า โดยเฉพาะกลุ่มคนข้ามถนน เป็นกลุ่มเปราะบาง เพราะเป็นกลุ่มผู้ใช้ถนนในลำดับล่าง ๆ ที่มักจะถูกละเลย” …เป็นข้อมูล “น่าตกใจ” ที่ในรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2566 ได้มีการสะท้อนไว้ ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึง “ระดับปัญหาด้านความปลอดภัย” ที่กลุ่ม “คนเดินเท้า-คนเดินถนน” ของเมืองไทย “ต้องประสบ” กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ในรายงานดังกล่าวได้อ้างอิงผลสำรวจหัวข้อ “พฤติกรรมการหยุดรถบริเวณทางข้ามในเขตกรุงเทพฯ” โดย มููลนิธิไทยโรดส์ ที่ได้สำรวจพฤติกรรมผู้ขับขี่รถ 14,353 คัน บริเวณ 12 จุดทางข้ามทางม้าลาย ที่ไม่ได้อยู่ใกล้ทางแยกและสัญญาณไฟจราจร ซึ่งพบว่า… มีผู้ขับขี่แค่ร้อยละ 11 ที่จะหยุดรถเมื่อมีคนยืนรอข้ามถนนบริเวณทางข้ามและเมื่อลงลึกเกี่ยวกับประเภทรถก็ยิ่งน่าตกใจ เมื่อผลสำรวจพบว่า… ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์มีสัดส่วนการหยุดรถเมื่อมีคนรอข้ามถนนน้อยที่สุด คือมีแค่ร้อยละ 8 ที่จะหยุดรถให้คนที่รอข้ามถนน…ส่วนอีก ร้อยละ 92 ตัดสินใจเลือกไม่หยุดรถ!!

“ผลสำรวจนี้สะท้อนชัดเจนว่า… ถึงแม้กฎหมายจราจรของไทยจะมีบทลงโทษที่รุนแรงมากขึ้น แต่แนวโน้มของอุบัติเหตุการเดินเท้าและการข้ามถนนกลับไม่ลดลง ดังนั้นการมีข้อกฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการลดอุบัติเหตุ เพราะไม่สามารถทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้” …เป็น “มุมวิเคราะห์” ในรายงานฉบับนี้

“เปลี่ยนพฤติกรรมผู้ขับขี่รถ” ไม่ง่าย

แม้ “มีกฎหมาย…ก็อาจไม่เพียงพอ”

จากกรณีปัญหาดังกล่าว ผู้จัดทำรายงานนี้ได้ “เสนอแนวทางแก้ปัญหา” ไว้ โดยได้มีการเสนอแนะให้นำ “ทฤษฎีเนยแข็ง (Swiss Cheese Model)” ของ ศ.เจมส์ เรียสัน (James Reason) มาใช้ เพื่อให้ มองปัญหาในเชิงระบบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจใน “รากปัญหา” ของ “อุบัติเหตุการข้ามถนน” ซึ่งอุบัติเหตุนี้ไม่ได้เกิดจากแค่ความประมาท หรือโชคชะตา แต่เป็น “การบกพร่องเชิงระบบที่เชื่อมต่อกัน” จนกระทบจากระดับนโยบายไปสู่ความบกพร่องของมนุษย์ ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องโยงให้ถึงรากปัญหา เพื่อให้เกิดการจัดระบบความปลอดภัยที่เชื่อมโยงทุกฝ่าย โดยมี เป้าหมายสำคัญ คือ…

ลดข้อผิดพลาดของมนุษย์ให้มากที่สุด

ขณะที่ ข้อเสนอเพื่อสร้างความปลอดภัยบนทางม้าลายและคนเดินเท้า นั้น ในรายงานนี้ได้ระบุไว้ว่า… มนุษย์ผิดพลาดได้เสมอ จึงต้องมีระบบที่ป้องกันความผิดพลาดในทุกระดับขั้นเพื่อปิดช่องว่างความเสี่ยง โดยผลการศึกษา ทำให้พบ “3 แนวทางที่สำคัญ” ที่ควรนำมาพิจารณา ก่อนที่จะมีการออกแบบระบบความปลอดภัยให้คนเดินเท้า ดังต่อไปนี้…

1.การจัดการเชิงกายภาพ เพื่อให้เกิดมาตรฐานทางเดินเท้าและทางข้ามที่ปลอดภัย โดยต้องมีการตรวจสอบทางข้ามทุกแห่งเพื่อ ปรับสภาพให้เกิดความปลอดภัย และจุดที่มีอุบัติเหตุบ่อยครั้งก็ต้องเอาจริงเอาจังในการจำกัดความเร็ว

2.การบังคับใช้กฎหมาย ที่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยนอกจากจะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตรวจจับผู้กระทำผิด เช่น ผ่านระบบกล้อง CCTV หรือใช้ระบบ AI ตรวจจับผู้กระทำผิดแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องบังคับใช้กฎหมายแบบเข้มข้น โดยเฉพาะกรณีที่ชนคนบาดเจ็บและเสียชีวิต เพื่อให้เกิดความเกรงกลัวต่อบทลงโทษ

3.การสร้างกระแสสังคม ต้องทำควบคู่ไปพร้อมกับการจัดการเชิงกายภาพและการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้สังคมเกาะติดปัญหา สร้างแรงสะท้อนไปยังระดับนโยบาย เพราะ รากปัญหาสำคัญคือประชาชนยังไม่ตื่นตัวในการเรียกร้องสิทธิความปลอดภัยการเดินเท้าและทางข้ามมากนัก เนื่องจากยังขาดช่องทางเสนอแนะความคิดเห็น ดังนั้นจึงต้องทำให้ประชาชนเข้าใจในปัญหา เพื่อสะท้อนปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมระยะยาว

นี่เป็น “ข้อเสนอ” ที่มีการเสนอแนะไว้

และ “เดินถนนให้ปลอดภัย” ก็น่าคิด

“จะต้องยังไง??” ตอนต่อไปมาดูกัน…