“บอร์ดเกม” เกมที่ชวนคิดวิเคราะห์ สร้างการจดจำและประสบการณ์แก่ผู้เล่น ในรูปแบบเกมหรือความรู้ที่นำมาสื่อสารมีความหลากหลายและสามารถเป็นไปได้แทบทุกเนื้อหา ทั้งนี้พาค้นความรู้จากบอร์ดเกม ชวนถอดรหัสประวัติศาสตร์ผ่าน เกมกระดานสโมสร บอร์ดเกมเพื่อการทำความรู้จักเรื่องราวของสังคมพลวัตเมื่อ 100 ปีก่อน หนึ่งในกิจกรรมจากนิทรรศการและกิจกรรมในงาน ฐานรากก่อนกาลอภิวัฒน์สยาม ALTERATION: Prelude of Siamese Reform ณ มิวเซียมสยาม

ฐานรากก่อนกาลอภิวัฒน์สยาม นิทรรศการและกิจกรรมเพื่อสื่อสารประวัติศาสตร์ เผยแพร่พระราชกรณียกิจตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชประวัติ ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ และประวัติศาสตร์สังคมของรัชสมัย ด้วยการสื่อสารประวัติศาสตร์ผ่านสื่อ และวิธีการอันหลากหลายที่มุ่งเน้นกระบวนทัศน์ใหม่ทางประวัติศาสตร์ ตามความสนใจเรียนรู้ของทุกช่วงวัย ซึ่งนำไปสู่ความตระหนักในคุณค่าทั้งทางกายภาพ มรดกวัฒนธรรมของชาติ อีกทั้งเพื่อรฤกในพระมหากรุณาธิคุณและเฉลิมพระเกียรติพระองค์ที่ทรงมีคุโณปการอย่างใหญ่หลวงแก่พสกนิกรทั้งในรัชสมัย และสืบเนื่องมายังพสกนิกรปัจจุบัน

สถาปัตย์ศิวิไลซ์ใน 100 กว่าปี เป็นหนึ่งในบอร์ดเกมที่ออกแบบ นำมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักรู้ ความภาคภูมิใจในสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในรัชกาลที่ 5-7 เกมที่จะพาไปทำความรู้จักตึกเก่ายุคสยามศิวิไลซ์ในร้อยกว่าปีก่อน พร้อมกับบริบทที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ทั้งนี้การนำบอร์ดเกมมาเป็นกิจกรรม นำมาสื่อสารสร้างประสบการณ์เรียนรู้ร่วมกัน ชนน์ชนก พลสิงห์ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ให้มุมมองในประเด็นนี้ว่า นิทรรศการและกิจกรรมฐานรากก่อนกาลอภิวัฒน์สยาม มิวเซียมสยามเราสร้างสรรค์ออกแบบนิทรรศการและกิจกรรมพิเศษสร้างประสบการณ์เรียนรู้ประวัติศาสตร์ สร้างการมีส่วนร่วมโดยย้อนไป ให้เห็นสภาพบ้านเมืองครั้งนั้น การพัฒนาไปของบ้านเมือง หรือประวัติศาสตร์ของช่วงเวลานั้น

นำเสนอเนื้อหาโดยแชร์ประสบการณ์ เปิดโอกาสให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ในมุมต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่ผ่านมาในนิทรรศการที่มิวเซียมสยามจัดทำขึ้นในวาระครบรอบ 100 ปีของอาคารแห่งนี้ แลกเปลี่ยนมุมมองประวัติศาสตร์โดยการออกแบบนิทรรศการและกิจกรรมมีความตั้งใจให้เข้าถึงผู้ชม บอกเล่าประวัติศาสตร์หลายมิติหลายบริบท ทั้งประวัติศาสตร์ในเชิงรสนิยม ความร่วมสมัย ชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ เผยให้เห็นประวัติศาสตร์ของช่วงเวลานั้นเมื่อร้อยปีก่อน

จากนั้นจึงเลือกวิธีการบอกเล่าไปยังกลุ่มต่าง ๆ โดยในภาพรวมมองทั้งมิวเซียมสยาม และมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชูปถัมภ์ต่างมีนิทรรศการที่พูดถึงประเด็นเหล่านี้อยู่บ้างจึงออกแบบ activity Series เพื่ออธิบายได้หลากหลายเพิ่มขึ้น ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น อย่างเช่น กิจกรรม เดินมองเมือง การเสวนา หรือ เวิร์กช็อป เรียนรู้สถาปัตย์ศิวิไลซ์ก่อนกาลอภิวัฒน์สยาม และสัมผัสประวัติศาสตร์รสนิยมโลกในห้วงกว่า 100 ปีก่อน ด้วยการลงมือทำโดยเรารวบรวมและออกแบบเล่าเรื่องให้มีความเข้าใจ ได้เห็นและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ยิ่งขึ้น

รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรมชนน์ชนกเล่าเพิ่มอีกว่า บอร์ดเกม ก็เช่นกัน ที่ผ่านมามิวเซียมสยามเรานำบอร์ดเกมมาร่วมสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์และพัฒนามาต่อเนื่อง ทั้งในมิติกิจกรรมและสนับสนุนให้กับแวดวงพิพิธภัณฑ์ได้นำมาเป็นเครื่องมือในการทำงาน ซึ่งบอร์ดเกมมีศักยภาพที่ร่วมสร้างความเข้าใจ สร้างประสบการณ์เข้าถึงได้ง่าย ทั้งนี้ในมิติการสื่อสารประวัติศาสตร์ บอร์ดเกมทำให้เข้าใจง่ายขึ้น อย่างเช่น สถานที่ทางประวัติศาสตร์ บอร์ดเกมสามารถสื่อสารชวนผู้เล่นให้เห็นเรื่องราวต่าง ๆ ตีความ วิเคราะห์ ได้เห็นมุมมองที่มีต่อประวัติศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งวิธีการเล่นเรียนรู้เหล่านี้ถือเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง

“นิทรรศการต้มยำกุ้ง ซึ่งพูดถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในช่วงต้มยำกุ้ง เราก็นำบอร์ดเกมมาร่วมอธิบายบอกเล่า เชื้อเชิญผู้มีประสบการณ์ผู้ครํ่าหวอดบอร์ดเกมออกแบบ จัดทำขึ้น บอกเล่าเศรษฐกิจช่วงตอนนั้น ทั้งมีการเสวนาเล็ก ๆ พูดคุยกันในประเด็นนี้ ซึ่งบอร์ดเกมสามารถสร้างประสบการณ์เรียนรู้ สิ่งนี้เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของบอร์ดเกมที่นำมาสื่อสาร สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์”

 บอร์ดเกมครั้งนี้มี บอร์ดเกม “ดุสิตธานี-ท้องถิ่นวิวัฒน์” และ “ดุสิตธานี-รัฐเนรมิต” โดยมูลนิธิสถาบันการศึกษาในรัชกาลที่ 6 และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ จัดทำเพื่อสื่อการเรียนรู้ทำให้เข้าถึงประวัติศาสตร์ จัดการเรียนรู้สนุกสนาน เข้าใจเหตุผลอย่างถ่องแท้ อีกส่วนหนึ่งเป็น บอร์ดเกมที่เราจัดทำขึ้นเพิ่มเติม เป็นบอร์ดเกมที่เลือกนำประเด็นมาบอกเล่า เพื่อให้รับรู้บริบทสังคมในช่วงนั้น อย่างเช่น มรดกทางวัฒนธรรมที่ยังหลงเหลืออยู่

อย่างเช่น เกมสี ศรี สวัสดิรักษา สี ที่เป็นศรี (ศิริ = ดี) โดยชวนรู้จักคติการใส่ผ้าสีประจำวันที่มีที่มาจากสวัสดิรักษา บทประพันธ์ที่สุนทรภู่ใช้ถวายการสอนสมเด็จเจ้าฟ้าอาภรณ์พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 2 โดยกล่าวถึงสีของเสื้อผ้าที่จะทรงในโอกาสออกไปรบทัพจับศึก สืบมากลายเป็นสีเครื่องแต่งกายประจำวันในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่นิยมจนเป็นความเชื่อการแต่งกายสีมงคลประจำวัน ให้บังเกิด เดช ศรี มนตรี และหลีกเลี่ยงกาลกิณี พร้อมทำความรู้จักรสนิยมสีการแต่งกายในแต่ละยุคสมัย

กุ๊กช๊อป ตำรับอาหารเหนือกาลเวลา เกมบอกเล่าวัฒนธรรมร้านอาหารไฮบริด จีน ฝรั่ง บนแผ่นดินสยาม ที่นิยมสืบเนื่องกันมาจนปัจจุบัน โดยคำว่า “กุ๊กช๊อป” สะกดตามต้นฉบับปรากฏครั้งแรกในพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2458 เรื่อง “โคลนติดล้อ” ในบทที่ 4 หมายถึง การกินอาหารนอกบ้าน หรือร้านอาหารข้างนอก โดยเกมชวนเรียนรู้เมนูอาหาร เมนูไหนที่ครองใจสืบทอดตำรับการรับประทานมาได้นานเป็น 100 กว่าปี ทั้งมีเรื่องราวความรู้ สถาปัตยกรรม ที่นำมาออกแบบเป็นบอร์ดเกม นำเสนอในแง่มุมการดูแลรักษา การอนุรักษ์ นำประวัติศาสตร์ในช่วง 100 ปีกลับมาบอกเล่า เป็นต้น

นอกจากการเล่นบอร์ดเกม ยังชวนนักประวัติศาสตร์ร่วมพูดคุยเพิ่มอรรถรสการเล่น เรียนรู้ แชร์สร้างความรู้ความเข้าใจ พร้อมฉายภาพประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้นให้ชัดยิ่งขึ้น และนอกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ สังคมภายนอกประเทศก็นำมาพูดคุย นำมาบอกเล่าบนกระดาน วิเคราะห์ประวัติศาสตร์ร่วมกัน

แน่นอนว่า ในมุมมองของการเล่นแม้จะไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่บอร์ดเกมทำให้เห็นถึงโครงสร้าง เห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยส่วนตัวมองว่า บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือหนึ่ง ในการเล่าประวัติศาสตร์ ทำให้มีความเข้าใจ เป็นสิ่งที่จะชวนคุยหรือทำให้เห็นมุมมองความคิดเห็นของแต่ละบุคคล ซึ่งการเล่นบอร์ดเกมเป็นพื้นที่หนึ่งที่ทำให้คนทุกคนมีส่วนร่วม ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ทั้งแชร์มุมมองในเรื่องต่าง ๆ ถอดรหัสประวัติศาสตร์ออกมาให้เห็นร่วมกันได้

รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม ชนน์ชนก ให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า บอร์ดเกมสามารถส่งต่อความรู้ในเรื่องต่าง ๆ เป็นพื้นที่ที่ทำให้เข้าถึง ใกล้ชิดและเข้าใจในเนื้อหานั้น ๆ ทั้งนี้ด้วยการออกแบบบอร์ดเกม มีกลไกในบางเกม บอร์ดเกมมีศักยภาพในการสื่อสาร เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ และแม้แต่ละบุคคลอาจมีประสบการณ์บอร์ดเกมที่ต่างกัน แต่ในมุมมองในเรื่องประวัติศาสตร์ไม่อยากให้เกิดการยัดเยียด แต่อยากให้มีประสบการณ์ที่ทำให้เกิดการจดจำ ซึ่งบอร์ดเกมเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างการจดจำทั้งเนื้อหาและประสบการณ์จากการเล่นเรียนรู้ไปพร้อมกัน.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ