ซึ่งหลายเหตุที่เกิดขึ้นไม่เพียงเป็น “กรณีพิพาท” แต่ยังกลายเป็น “ดราม่า” ที่ตามมาด้วยเรื่องร้าย…

“ผู้ที่ถูกกระทำ” นั้น “จิตใจบอบช้ำ”…

จนเกิดเหตุเศร้า “เกิดโศกนาฏกรรม”

ทั้งนี้ โฟกัสที่ “เหยียด” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้…ก็มีคำอธิบายผ่าน “มุมจิตวิทยาพฤติกรรม” ผ่านทางบทความ “จิตวิทยาของการเหยียด ทำไมคนเราถึงเหยียดกัน?” ที่เผยแพร่ให้ความรู้ประชาชนทั่วไป และผู้ที่สนใจศึกษาไว้ใน www.istrong.co ซึ่งอธิบายถึง “ลักษณะ” และ “ปัจจัย” ที่เป็นสาเหตุให้มี “พฤติกรรมเหยียดผู้อื่น” โดยได้อธิบายความหมายคำว่า “เหยียด” ไว้ว่า… ในปัจจุบันคำนี้มักถูกใช้ไปในความหมายของการ… “ทำให้คนที่โดนเหยียดถูกด้อยค่า” และ “ทำให้ได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี” ซึ่งการเหยียดตรงกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษได้หลายคำ แต่สำหรับบทความดังกล่าวจะเน้นที่การ “เหยียดแบบเป็นกลุ่ม” ซึ่งตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการเหยียด 2 ประเภท ดังต่อไปนี้คือ…

คำแรก… “Stereotype” ที่หมายถึง การตัดสินคนอื่นแบบเหมารวมเป็นกลุ่ม โดยในบทความได้หยิบยกตัวอย่างจากงานวิจัยของนักจิตวิทยาชื่อว่า Susan Fiske ซึ่งเป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย Princeton ที่ศึกษาเรื่องนี้ร่วมกับ Cydney Dupree นักศึกษาปริญญาโท โดยพบว่า… แพทย์ พยาบาล มักเป็นอาชีพที่คนมักจะตัดสินว่าเป็นอาชีพที่มีความสามารถสูง อบอุ่น จึงเป็นอาชีพที่คนให้ความสำคัญและชื่นชม ขณะที่อาชีพอย่างพนักงานล้างจาน คนเก็บขยะ คนขับแท็กซี่ มักจะถูกจัดอันดับเป็นคนในอาชีพที่มีลักษณะนิสัยไม่เป็นมิตร มีทัศนคติด้านลบ จึงให้ความรู้สึกดูถูก โดยผลวิจัยนี้ฉายภาพให้เห็นพฤติกรรม “เหยียด” ประเภท Stereotype ว่า…ผู้คนมักสรุปว่าอาชีพที่มีรายได้ไม่สูงเป็นอาชีพที่ไม่ได้ใช้ความสามารถมากนัก

คำที่สองคือคำว่า… “Prejudice and discrimination” หมายถึง อคติและการเลือกปฏิบัติ โดยคนต่างกลุ่มอาจจะได้รับการปฏิบัติแตกต่างกันไป เพราะถูกตัดสินด้วยอคติ ซึ่งความคิดและอารมณ์ของบุคคลจะส่งผลต่อพฤติกรรม เช่น หากมีความเชื่อว่าคนกลุ่มหนึ่งไม่ดี ก็มักปฏิบัติกับคนกลุ่มนั้นไม่ดีไปด้วย จนทำให้การเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในสังคม ตัวอย่างเช่น การปฏิเสธ ไม่รับคนกลุ่ม LGBTQ+ เข้าทำงาน เนื่องจากฝ่ายบุคคลมีมุมมองต่อคนกลุ่มนี้ว่า…เป็นกลุ่มคนที่อารมณ์รุนแรง หรือยังมีความเชื่อว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนที่มีความผิดปกติทางจิตใจ เป็นต้น …นี่เป็น 2 คำ เกี่ยวกับการ “เหยียด” แบบกลุ่ม 2 แบบ

แล้ว ทำไมคนเราถึงเหยียดกัน?… ในบทความดังกล่าวอธิบายไว้ว่า…จาก ทฤษฎีอัตลักษณ์ทางสังคม (Social Identity Theory) ได้กล่าวถึง การสร้างความเป็นคนใน (In-group) และความเป็นคนนอก (Out-group) ขึ้นมา โดยเกิดจากธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองอย่างรวดเร็วของคนเรา ที่มักเกิดความรู้สึกเห็นใจ ชอบ รู้สึกเป็นพวกเดียวกันกับคนที่เป็นคนใน เช่น การแข่งวอลเลย์บอลไทย vs ตุรกี จะมีโอกาสน้อยหรือไม่มีโอกาสเลยที่คนไทยจะเชียร์ทีมตุรกี …ซึ่งความรู้สึกแบบคนใน-คนนอกนี้มักนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ และเป็น “จุดเริ่ม” การ “บูลลี่” หรือ “กลั่นแกล้ง (Bullying)” รวมถึงการเหยียดเชื้อชาติ (Racist)

“เพราะคนเรามีแนวโน้มจะแสดงออกในทางบวกกับสิ่งที่เรามองเป็น In-Group มากกว่าสิ่งที่มองเป็น Out-group นั่นเอง ซึ่งปัจจัยทางด้านสังคมวัฒนธรรมมีส่วนเกี่ยวข้องมาก โดยหากสังคมวัฒนธรรมนั้น ๆ ไม่มีบรรทัดฐานทางสังคมอย่างชาติเรายิ่งใหญ่ที่สุด คนในสังคมก็จะไม่มีมุมมองต่อคนชาติอื่นว่าด้อยกว่า หรือยิ่งใหญ่น้อยกว่า” …เป็นคำอธิบาย “สาเหตุ ที่ก็อาจจะเป็นจุดตั้งต้นพฤติกรรม “เหยียด” ในระดับกลุ่มคน ระดับตัวบุคคล จากการ “มองตัวเองว่าดีกว่า-เหนือกว่า”

ทั้งนี้ การเหยียดนำไปสู่ปัญหาอะไรบ้าง?… ในบทความดังกล่าวระบุถึงปัญหาจากพฤติกรรมนี้ไว้ว่า… นำไปสู่ปัญหาสุขภาพ โดยได้มีการยกตัวอย่างจากประเทศที่มีการจัดแบ่งคนไว้เป็นกลุ่ม ๆ โดยที่ มีการให้คุณค่าคนแต่ละกลุ่มลดหลั่นกัน ตั้งแต่ยกย่องให้คุณค่าสูง ไปจนถึงถูกมองว่าไม่มีคุณค่าเลย ส่งผลให้กลุ่มคนที่ถูก “เหยียด” หรือถูกให้คุณค่าต่ำที่สุด ก็จะไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่ดีได้ เพราะเมื่อเกิดเจ็บป่วยก็จะไม่มีสถานพยาบาลไหนให้การรักษา เป็นต้น

นำไปสู่การเลือกปฏิบัติมากขึ้น ยกตัวอย่าง ชาติที่มีการวางสถานะผู้หญิงต่ำกว่าผู้ชาย จะมีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น เช่น ไม่รับผู้หญิงเข้าทำงาน ผู้หญิงไม่สามารถขึ้นตำแหน่งบริหารได้ และยิ่งมีการ “เหยียด” มากเท่าไหร่ การเลือกปฏิบัติก็ยิ่งเกิดขึ้นหลายมิติ ที่สำคัญยังอาจ นำไปสู่การคุกคามด้านต่าง ๆ ด้วย เช่น การคุกคามทางเพศในพื้นที่ที่มีการลดคุณค่าผู้หญิง

แล้ว ทำอย่างไรจะลดการเหยียดได้?… ในบทความเดิมมี “คำแนะนำ” ไว้ว่า… ปลูกฝังให้คนในสังคมมี empathy เพื่อฝึกคิดและรู้สึกในมุมของคนที่แตกต่างจากตนเอง แม้ไม่เคยอยู่จุดนั้น ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน โดยลองจินตนาการว่าถ้าถูกเลือกปฏิบัติ ถูกคุกคามรังแก จะรู้สึกอย่างไร, จัดกิจกรรมให้คนที่แตกต่างกันได้แลกเปลี่ยนมุมมอง เพื่อช่วยลดอคติ ความคิดแบบเหมารวม ให้หายไป, รณรงค์ให้สังคมตระหนักรู้ในตนเอง อาทิ สร้างสื่อหรือกระแสที่ชวนให้คนในสังคมฝึกสังเกตความคิดตนเอง มีสติก่อนคิด พูด หรือทำอะไรออกไป และ ผลักดันร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นี่ก็อีกคำแนะนำ…

“เหยียด-ด้อยค่า-บูลลี่” นี่ “ไทยก็แรง”

“ยิ่งมีโซเชียลฯ” ก็ “ยิ่งฮิตทำกันเกร่อ”

“เรื่องร้าย” นี้… “ไทยก็ต้องเร่งแก้!!”.